เมื่อลูกพูดคำว่า “ขอโทษ” ออกไปแล้ว ลูกรับรู้ถึงสิ่งที่ตนเองได้ทำไปหรือไม่ว่าคือความผิด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องหันกลับมาทำความเข้าใจและใส่ใจ ในบางครั้งผลลัพธ์ของการยอมรับในความผิด อาจไม่สำคัญเท่าการสอนให้ลูกรู้ถึงต้นเหตุ หรือสาเหตุของการที่ลูกทำผิดมากกว่า แล้วจะมีวิธีสอนหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ลูกได้อย่างไร เราลองมาหาคำตอบกันค่ะ
เคล็ดลับของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกที่สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วที่สุดก็คือ การที่มีพ่อแม่เป็นต้นแบบ และหมั่นทำเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น ดังนั้น หากพ่อแม่อยากสอนให้ลูกรู้จักการขอโทษ พ่อแม่ก็ควรเรียนรู้ที่จะขอโทษเมื่อตนเองทำผิดด้วย อย่าเขินหรือรู้สึกอายที่จะขอโทษต่อหน้าลูก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเผลอตะคอกใส่ลูกโดยปราศจากเหตุผล อย่าลืมที่จะอธิบายให้ลูกฟังว่า ที่คุณทำนั้น คุณไม่ได้ตั้งใจ แต่เผลอทำไปเพราะตอนนั้นคุณกำลังเครียดและหงุดหงิดอยู่ อธิบายให้ลูกรู้ว่าทุกคนย่อมทำผิดกันได้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความเข้าใจและทำให้ลูกรับรู้ได้ว่า การทำผิดอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน และการขอโทษนั้นไม่ใช่เรื่องที่ร้ายแรง แต่เป็นสิ่งที่ควรทำ
มีพ่อแม่จำนวนมากที่เมื่อเห็นลูกทำผิด หรือทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จะบังคับและตะคอกให้ลูกขอโทษทันที ซึ่งผลลัพธ์ของเหตุการณ์เหล่านี้มักตามมาด้วยการที่ลูกร้องไห้ อาละวาด และทำพฤติกรรมที่แย่ลงไปกว่าเดิม ดังนั้นเคล็ดลับสำคัญเมื่อพ่อแม่อยากให้ลูกขอโทษ ก็คือ การค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ สอนให้ลูกเข้าใจถึงสิ่งที่ตนเองทำ อธิบายว่าทำไมลูกถึงไม่ควรทำสิ่ง ๆ นั้น เมื่อทำแล้วจะเกิดผลเสียกับตัวลูกอย่างไร เมื่อลูกเกิดความเข้าใจ ความรู้สึกสำนึกถึงความผิดนั้น ๆ จะก่อตัวขึ้น และทำให้ลูกอยากที่จะขอโทษด้วยตนเอง สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรจำไว้ก็คือ ลูกไม่ได้อยากเป็นเด็กไม่ดี แต่พฤติกรรมที่ไม่ดีเกิดขึ้นเพราะเขายังขาดประสบการณ์นั่นเอง
ในบางครั้งลูกอาจทำผิดพลาดในเรื่องเดิมบ้าง แต่สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก็คือ ไม่พูดซ้ำเติมถึงความผิดนั้นของลูกอีก เพราะในบางครั้งด้วยความเป็นเด็ก กระบวนการเรียนรู้ หรือการกระบวนการแก้ปัญหาของลูก อาจยังทำงานสอดประสานกันได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นปัญหาในบางเรื่องลูกอาจจะยังแก้ไขปัญหาได้ไม่ดีนัก พ่อแม่จึงควรทำความเข้าใจ และให้กำลังใจลูกในการแก้ปัญหามากกว่าการซ้ำเติม เพราะยิ่งพ่อแม่ซ้ำเติมความผิดของลูกมากเท่าไหร่ ลูกก็จะยิ่งรู้สึกเสียใจและปกป้องตัวเองจากความผิดของเรื่องนั้น ๆ มากขึ้น ซึ่งนอกจากลูกจะไม่รู้สึกผิด หรืออยากขอโทษกับเรื่องนั้น ๆ แล้ว อาจนำไปสู่การโกหก เพื่อปกปิดความผิดนั้นไปเลยก็เป็นได้
สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.