เมื่อผิวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเราได้รับบาดเจ็บก็จะเกิดแผลหรือร่องรอยทิ้งไว้ หากแผลหรือร่องรอยนั้นเป็นแค่รอยถลอก ไม่ลึกมาก บาดแผลก็จะค่อย ๆ จางหายไปในเวลาไม่นาน แต่ในกรณีที่แผลนั้นเกิดขึ้นบนผิวหนังชั้นลึกลงไปหรือชั้นหนังแท้ (Dermis) โอกาสที่จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "แผลเป็น" ก็มีมากขึ้น
แผลเป็นอาจเกิดจากอุบัติเหตุ การสัมผัสความร้อนสูง การผ่าตัด เป็นสิว หรือแม้แต่การที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็อาจทำให้เกิดแผลเป็นในลักษณะที่เรียกว่า "ผิวแตกลาย" ได้ ซึ่งเมื่อได้รับบาดแผลบนผิวหนัง ร่างกายจะพยายามซ่อมแซมตัวเองเพื่อปิดบาดแผลนั้นโดยเร็วที่สุด
ในการซ่อมแซมบาดแผลของร่างกายลำดับแรก ร่างกายจะสร้างลิ่มเลือดเพื่อช่วยในการแข็งตัวของเลือดและปิดบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บเอาไว้ จากนั้นไฟโบรบลาสต์เซลล์ (Fibroblast Cells) ที่อยู่ในชั้นหนังแท้ (Dermis) จะสร้าง Extracellular Matrix หรือ ECM ซึ่งมีคอลลาเจนเป็นส่วนประกอบออกมา เพื่อเตรียมสร้างเนื้อเยื่อเติมเต็มส่วนที่หายไปจากการบาดเจ็บ แต่บาดแผลลึกจะรบกวนการเรียงตัวของ ECM จากเดิมที่มีการจัดเรียงแบบเส้นใยถักทอสานกันก็จะเปลี่ยนเป็นการจัดเรียงไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งลดความทนทานและยืดหยุ่นของผิวหนังบริเวณนั้นลงไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ร่างกายจะมีการแทนที่คอลลาเจนที่ไร้ระเบียบด้วยเนื้อเยื่อที่เป็นระเบียบขึ้น ดังนั้น รอยแผลเป็นอาจจะลดลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผิวหนังบริเวณนั้นจะเรียบสมบูรณ์เหมือนเดิม
ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลเป็นมากหรือน้อย เช่น
- อายุ ผิวของผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะะมีคอลลาเจนและอิลาสติกน้อยลง ส่งผลให้การซ่อมแซมผิวหนังที่ได้รับบาดแผลช้าลง จึงมีโอกาสที่จะเป็นแผลเป็นมากขึ้น
- สีผิว ผู้ที่มีสีผิวคล้ำหรือผิวขาวมาก ๆ จะมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นมากขึ้น
- บริเวณที่เกิดบาดแผล หากบริเวณที่เกิดบาดแผลเป็นบริเวณที่ต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมนาน เช่น บริเวณเข่าหรือข้อพับต่าง ๆ ที่อาจมีการงอหรือการเสียดสี โอกาสเกิดแผลเป็นก็จะมีมากขึ้นได้
- ฮอร์โมน ระดับฮอร์โมนอาจส่งผลต่อการเกิดรอยแผลเป็นหรือทำให้เกิดร่องรอยที่คล้ำกว่าผิวหนังบริเวณอื่นบนร่างกาย
รอยแผลเป็นบนผิวหนังมีหลายลักษณะ ได้แก่
1. แผลเป็นนูน แบ่งเป็น
1.1 แผลเป็นแบบคีลอยด์ (Keloid Scars) คือ แผลเป็นที่มีลักษณะของการโป่งนูนออกมาบนผิวหนัง และยังขยายพื้นที่ออกไปรอบ ๆ เกินกว่าการบาดเจ็บเดิม เนื่องจากไฟโบรบลาสต์เซลล์มีการสร้างคอลลาเจนเพื่อสร้างเนื้อเยื่อมากเกินไป โดยบริเวณที่เป็นแผลเป็นนี้จะเป็นสีชมพูหรือสีเข้มกว่าผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ซึ่งแผลเป็นลักษณะนี้ยังอาจขัดขวางการเคลื่อนไหวได้ด้วย
1.2 แผลเป็นแบบไฮเปอร์โทรฟิก (Hypertrophic Scars) คือ แผลเป็นที่มีลักษณะของการโป่งนูนออกมาบนผิวหนัง มีสีชมพูหรือสีแดง คล้ายกับแผลเป็นแบบคีลอยด์ แต่จะไม่ขยายวงกว้างออกไปนอกบาดแผล
2. แผลเป็นจากสิว (Acne Scars) แบ่งเป็น
2.1 แผลเป็นแบบหลุมแหลมลึก (Icepick Scars) คือ แผลเป็นที่เกิดจากสิว ซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมลึกลงไปบนผิวหนังของเรา เนื่องจากเมื่อมีการอักเสบของสิว ทำให้คอลลาเจนใต้ผิวหนังยุบตัวลงไปและเกิดเป็นหลุมลึกนั่นเอง
2.2 แผลเป็นแบบหลุมกลมลึก (Rolling Scars) แผลเป็นลักษณะนี้ก็เกิดจากสิวเช่นกัน โดยบริเวณก้นหลุมจะมีลักษณะโค้งกลม ปากหลุมแคบ
2.3 แผลเป็นแบบหลุมเหลี่ยม (Boxcar Scars) แผลเป็นลักษณะนี้ปากหลุมจะกว้าง และก้นหลุมมีลักษณะเหมือนกล่องสี่เหลี่ยม เกิดจากการทำลายเซลล์ไขมันใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดรอยเว้าแหว่งลงไป
3. แผลเป็นแบบหดรั้ง (Contracture Scars) แผลเป็นลักษณะนี้อาจเกิดจากการถูกไฟไหม้และทำลายผิวหนัง ส่งผลให้เกิดแผลเป็นแบบหดรั้ง เนื่องจากผิวหนังจะตึง ซึ่งจะจำกัดความสามารถในการเคลื่อนไหวและหากเกิดการทำลายในระดับลึกก็อาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้ด้วย
4. แผลเป็นจากการยืดของผิวหนัง (Stretch Marks) หรือผิวแตกลาย ผู้หญิงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจจะกังวลกับแผลเป็นลักษณะนี้ เพราะมันจะทิ้งร่องรอยที่เรียกว่า ท้องลาย ขาลาย เอาไว้ เกิดจากการที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ผิวหนังขยายออกตามขนาดของร่างกาย ซึ่งจะเห็นเป็นลายแตกตามต้นขาหรือหน้าท้อง คาดว่ามาจากการที่ผิวหนังถูกยืดออกมาจนเกิดการทำลายเนื้อเยื่อในชั้นหนังแท้ นำไปสู่การเกิดแผลเป็นในที่สุด
วิธีป้องกันและรักษารอยแผลเป็น สามารถทำได้ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการแคะ แกะ เกา บริเวณที่เป็นแผล เราอาจจะรู้สึกหมั่นเขี้ยวอยากแคะ อยากแกะบริเวณที่เป็นแผล แต่ว่าควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้อย่างยิ่งเมื่อแผลเริ่มตกสะเก็ด เพราะมันจะช่วยลดโอกาสเกิดแผลเป็นได้
2. รักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังในบริเวณที่เกิดบาดแผลในช่วงเวลาที่ผิวหนังมีการซ่อมแซมตัวเอง
3. หลังจากผิวหนังซ่อมแซมตัวเองแล้ว ให้ป้องกันบริเวณที่มีบาดแผลนั้นด้วยครีมกันแดด จะช่วยให้บริเวณที่อาจเกิดแผลเป็นมีสีที่จางลง
4. หากเกิดแผลเป็นแล้วสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเพื่อกำจัดรอยแผลเป็นออกไป หรือใช้การฉีดสเตียรอยด์เพื่อลดรอยแผลเป็น หรือการใช้ความเย็นบำบัด นอกจากนี้ยังมีวิธีที่ง่ายและสะดวกกว่า คือ การใช้แผ่นซิลิโคนแปะบนแผลเป็น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังบริเวณที่เป็นแผลเป็น
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ทำความรู้จักกับ 3 รอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว และวิธีรักษาแบบไร้ร่องรอย