อุตสาหกรรมผ้าไหมแบรนด์ดังระดับนานาชาติ ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ก็มีขึ้นมาเฉย แต่กำเนิดจากชุมชนริมคลองแสนแสบใกล้ ๆ บ้านมิสเตอร์ จิม ทอมป์สัน ชาวอเมริกันผู้บุกเบิกตลาดไหมไทยในต่างแดนค่ะ
เช้านี้เราเดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS มาลงสถานี W1 สนามกีฬาแห่งชาติ ลงทางออกที่ 1 แล้วเดินเข้าซอยเกษมสันต์ 2 จะเจอบ้านจิม ทอมป์สัน อยู่ทางซ้ายมือค่ะ แต่เรายังไม่เข้าไปตอนนี้ค่ะ เพราะเราจะไปเยือน "ชุมชนบ้านครัว" ที่เป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญสู่ความสำเร็จของจิม ทอมป์สัน กันก่อนค่ะ ดังนั้นขอให้อดใจเดินเลยไปก่อนจนสุดทางนะคะ จะเจอคลองแสนแสบ เมื่อเลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานข้ามคลองไป ลงสะพานเลี้ยวซ้ายอีกที เดินต่อไปไม่ไกลจะเจอป้ายบอกทางเลี้ยวขวาไปสู่จุดกำเนิดไหมไทยลือชื่อแห่งนี้ค่ะ
ชุมชนบ้านครัว เป็นชุมชาวไทยเชื้อสายจาม ผู้เชี่ยวชาญการทอผ้าไหมอันดับต้น ๆ ชนชาติหนึ่ง ซึ่งอพยพมาเมืองไทยตั้งแต่สมัย ร. 1 โดยมีผ้าทอโบราณที่สำคัญคือ ผ้าเกล็ดเต่า ผ้าหางกระรอก ฯลฯ และเป็นชุมชนที่ทอผ้าไหมส่งให้ราชาไหมไทยจิม ทอมป์สัน นำไปขายจนแพร่หลายโด่งดังไปทั่วโลกกระทั่งทุกวันนี้นั่นเอง และหากโทรนัดล่วงหน้าก็จะได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณลุงนิพนธ์ มนูทัศน์ ทายาทชาวไทยเชื้อสายจามผู้สืบทอดเทคนิกการทอผ้าไหมจากต้นตระกูล ถึงเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชุมชน การทอผ้าไหม ประเภท และคุณภาพของผ้าไหมรูปแบบต่าง ๆ ด้วยค่ะ
คุณป้าช่างทอในปัจจุบันและใบหุ้นกิจการจิม ทอมป์สัน บนผนังบ้าน
ผ้าทอแบบโบราณ
ซ้าย : ผ้าเกล็ดเต่า
ขวา : ผ้าหางกระรอก 4 สี (ผ้าหางกระรอก = ผ้าม่วงหางกระรอกที่ขุนนางในอดีตใช้กัน)
ซ้าย : ผ้าพื้น ผ้าลายผ้าขาวม้า (ลายตาราง ลายสก็อต) ที่ทอขายทั่วไปมาช้านาน
ขวา : ผ้าไหมเหลืองสิรินธร จากไหมรังเหลืองแท้โดยไม่ผ่านการย้อมสี นวัตกรรมภูมิปัญญาชุมชน
ผ้าทอของบ้านคุณลุงถือเป็น 1 ในผลงานศิลปาชีพสำคัญในเขตกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับบาตรพระจากบ้านบาตรที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ส่งเสริม และได้รับการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงินและสีเขียวจากกรมหม่อนไหมด้วยนะคะ
เมื่อข้ามสะพานกลับมาแล้วทางขวามือจะเป็น พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน นักธุรกิจคนสำคัญที่นำความงามของไหมไทยให้ไปไกลสู่สากล ด้วยความหลงใหลในศิลปวัฒนธรมไทยและเอเชีย ประกอบกับการที่เคยเรียนด้านสถาปัตยกรรมมา ทำให้ที่พำนักของเขากลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจอีกแห่ง ซึ่งเราจะได้เห็นการประยุกต์ผสมผสานรูปแบบศิลปวัฒนธรรม และกลิ่นอายของโลกพหุวัฒนธรรม กลิ่นอายของอดีต ปัจจุบัน และเทรนด์ที่จะมุ่งไปสู่อนาคต
ที่นี่ติด Top sights in Bangkok โดยเว็บท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกอย่าง Lonely Planet ด้วยนะคะ ถ่ายภาพได้เฉพาะบริเวณสวนและชั้นล่าง เพราะในเขตที่กั้นไว้ชั้นบนซึ่งเปิดให้ชมเป็นรอบ ๆ นั้น มีของล้ำค่ามากมาย เคยมีกรณีนักท่องเที่ยวพยายามถ่ายภาพแล้วไม่ระวังทำของตกเสียหาย แต่ถึงจะแค่ชั้นล่างและในสวน ก็มีภาพมาอวดมากมายเลยละค่ะ
บริเวณโถงด้านหน้าจะเป็นจุดรับส่งนักท่องเที่ยวฟรีจาก BTS สนามกีฬาฯ และโต๊ะปฐมพยาบาลค่ะ
ถัดเข้ามาจะเป็นโซนสาธิตการสาวไหมและปั่นเส้นไหมให้เป็นไจ
ซื้อตั๋วแล้วระหว่างรอรอบชมก็สามารถเดินเล่นในสวนแบบป่าฝนเขตร้อน ซึ่งจัดได้สวยจนได้รับคำชื่นชมจากชาวต่างชาติมากมายที่มาเยือน
ซ้าย : โอ่งลายครามและไม้แบบพิมพ์ผ้าซึ่งเกือบโดนเอาไปทำเล้าไก่ซะแล้วหากคุณจิมไม่ไปเห็นเข้าก่อน
ขวา : ผ้าไหมปักเลื่อมและอัญมณีศิลปะพม่าอันทรงคุณค่า
ซ้าย : เบญจรงค์ลายอย่างจากไทยแต่ทำในจีน (ตาชั้นเดียวเหมือนชาวจีน) หลักฐานความสัมพันธ์ทางการค้าและการต่างประเทศของสองแผ่นดิน
ขวา : ภาพเขียนในสมุดไทยและผืนผ้าต่าง ๆ
ซ้าย : งานแกะไม้ของไทยในเรือนจัดแสดงซึ่งเคยเป็นเรือนคนใช้มาก่อน
ขวา : ประติมากรรมศิลปะร่วมเขมร
ร้านผลิตภัณฑ์ไหมไทยจิม ทอมป์สัน สุดไฮโซ
ห้องน้ำสะอาดเอี่ยมอ่องและที่แขวนกระเป๋าก็เก๋ไก๋ทีเดียวเชียวค่ะ
เดินมานาน คอก็ชักจะแห้ง เลยแวะคาเฟ่ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกจากจิม ทอมป์สัน ฟาร์มที่โคราช น้ำลูกหม่อน เปรี้ยว ๆ หวาน ๆ ขวดนี้ดื่มแล้วสดชื่นขึ้นมาเลยค่ะ
่คาเฟ่นี้อยู่ชั้นบนของร้านผ้าไหม เปิดเฉพาะฤดูท่องเที่ยวเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์เท่านั้นนะคะ
ออกจากส่วนของพิพิธภัณฑ์ไปเล็กน้อยก็จะเจอป้ายบอกทางไปห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน (นักเขียนชีวประวัติคุณจิม)
ห้องสมุดอาร์ตแห่งนี้เข้าฟรีค่ะ ด้วยเงินอุดหนุนส่วนหนึ่งจากค่าตั๋วพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน นั่นเอง เก้าอี้ปูน+แป้นคีย์บอร์ดทางซ้ายนี้เท่ดีนะคะ
จากชุมชน สู่ธุรกิจระดับโลก แหล่งท่องเที่ยว+แหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมที่โด่งดัง มาจนถึงห้องสมุดศิลป์สาธารณะ จุดเริ่มต้นที่คนคนหนึ่งมองเห็นความไม่ธรรมดาในวิถีชีวิตธรรมดา ๆ ใกล้ ๆ ตัวเขา และเอาไปสานต่อจนประสบความสำเร็จ ส่งต่อมายังคนรุ่นต่อไป และก็ยังไม่ลืมที่จะคืนกำไรให้สังคม อย่างนี้สินะ ตำนานไหมไทยใกล้ห้างใหญ่ใจกลางกรุงฯ อย่าง จิม ทอมป์สัน และชุมชนบ้านครัว จึงไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำของนักท่องเที่ยวไม่ว่าชาวไทยหรือชาวต่างชาติ