Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กล้ามเนื้อมัดใหญ่ สำคัญอย่างไรต่อการเรียนรู้ของลูก

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 30 ต.ค. 61
28,060 Views

  Favorite

ทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor Skills) คือ กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว แขน ขา รวมไปถึงความสัมพันธ์กันของอวัยวะต่าง ๆ ทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่จะช่วยให้เด็ก ๆ รู้จักการทรงตัว สร้างสมดุลให้กับร่างกายได้ มีความแข็งแรง มีความทะมัดทะแมง ความไวในการเปลี่ยนท่าทาง และมีทักษะที่ดีในการเล่นกีฬา

 

กล้ามเนื้อมัดใหญ่นั้น เปรียบเสมือนรากฐานสำคัญของระบบการเรียนรู้ทั้งหมด เพราะหากพื้นฐานทางร่างกายไม่แข็งแรง ก็ยากที่ระบบการเรียนรู้ของร่างกายในส่วนต่าง ๆ จะทำงานได้เต็มที่  โดยเฉพาะในช่วงระยะแรกเกิดจนถึง 1 ขวบ เป็นช่วงที่ร่างกายกำลังได้รับการพัฒนา (Critical period) ในทุก ๆ ด้าน โดยมีการเสริมสร้างทักษะในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นขั้นบันได หากทักษะทางด้านใดด้านหนึ่ง ถูกพัฒนาข้ามขั้นตอนหรือพัฒนาได้อย่างไม่สมบูรณ์  อาจจะทำให้การพัฒนาโครงสร้างทักษะของร่างกายทางด้านอื่นทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ และอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทักษะในระดับที่สูงขึ้นไปอีกด้วย

 

ภาพ : Shutterstock

 

กล้ามเนื้อมัดใหญ่ในช่วงวัยต่าง ๆ

ในช่วงวัย 1- 3 ขวบ

เป็นช่วงที่พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่กำลังเริ่มต้น พ่อแม่สามารถส่งเสริมโดยการให้ลูกรักเดินด้วยตัวเองเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อที่ใช้ในการทรงตัว ส่งเสริมให้ลูกเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ของแขนและขา เช่น การฝึกให้ลูกได้ปีนป่าย เดินเอง ล้มเอง ก็เป็นทักษะหนึ่งที่ลูกจะได้เรียนรู้ และใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างระมัดระวังในครั้งต่อไป

ในช่วงวัย 3-6 ขวบ

จะมีกำลังและทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อซับซ้อนมากขึ้น การใช้และบังคับกล้ามเนื้อต่าง ๆ จะดีขึ้นมาก เด็กจึงชอบการเคลื่อนไหวมากกว่าที่จะอยู่เฉย หรือแม้แต่การออกไปเล่นกีฬา เช่น การฝึกโยนรับลูกบอล และในส่วนของการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ การให้อิสระลูกรักในการวิ่งเล่นในสวนสาธารณะ การเล่นดินเล่นทราย การเล่นเครื่องเล่นในสวนสาธารณะ ล้วนเป็นกิจกรรมที่สร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการสร้างพื้นฐานทักษะด้านอารมณ์และสังคมได้อีกด้วย

 

จะเห็นได้ว่าพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มีผลอย่างมากต่อพัฒนาการการเรียนรู้ในด้านอื่น ๆ ของลูก และแน่นอนว่า หากลูกขาดการพัฒนาทักษะดังกล่าวในช่วงวัยที่พวกเขาต้องการนั้น จะทำให้พัฒนาการของพวกเขาล่าช้ากว่าวัย เช่น ถ้าเด็กวัย 6 ขวบ แต่ยังเดินแล้วหกล้มง่าย มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ของร่างกาย เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว อาจทำให้เป็นอุปสรรคในการทำกิจกรรมเรียนรู้และการเล่นกีฬาร่วมกับเพื่อน จนส่งผลให้พฤติกรรมการเรียนรู้ถดถอย และเบื่อหน่ายการเรียนในที่สุด

 

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่คงตระหนักถึงความสำคัญของการฝึกพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้กับลูกรักแล้วใช่ไหมคะ หมั่นสร้างความแข็งแรงให้กับพัฒนาการของพวกเขาในวันนี้ หยิบยื่นกิจกรรมฝึกทักษะแสนสนุกแทนมือถือหรือแท๊บเล็ต เพื่อพัฒนาการที่ดีและสมวัยให้กับลูกรักกันนะคะ

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow