Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

5 สาเหตุสำคัญที่ (อาจ) ทำให้เด็กเป็นคนทำการบ้านไม่เสร็จซักที

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 29 ต.ค. 61
18,837 Views

  Favorite

กว่าจะก้าวขาก็ลาโรง...แหม่ ถึงแม้จะเป็นสำนวนที่ดูโบราณไปสักหน่อย แต่ก็น่าจะใช้อธิบายภาพของความล่าช้า ยืดยาด อืดอาด ในการทำการบ้านหรืองานแต่ละชิ้น ๆ ของเด็ก ๆ หลายบ้านได้ไม่น้อยเลยใช่ไหมล่ะคะ

 

หากว่าลูกบ้านไหนที่ไม่ใช่เด็กเฉื่อยเป็นนิสัยในทุก ๆ กิจกรรม หรือแสดงความล่าช้าเฉพาะช่วงเวลาเรียนหรือทำการบ้าน ครูพิมคิดว่า เราน่าจะลองมาเช็คสาเหตุสำคัญเหล่านี้กันดูก่อนดีกว่าค่ะ ว่าความเฉื่อยชาของลูกนี้เกิดขึ้นจากอะไร ก่อนที่จะตำหนิหรือว่ากล่าวกันไปจนพาลหมดกำลังใจกันไปทั้งสองฝ่าย เพราะเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สำหรับเด็กเล็ก ๆ นั้น การต้องทำ “การบ้าน” หรืองานวิชาการนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย และสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้นี่แหละ ที่อาจทำให้เด็ก ๆ หลายคนท้อแท้จนกลายสภาพกลายเป็นความขี้เกียจได้ค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

1. มีอุปสรรคขัดขวาง

มีเหตุการณ์หรืออุปสรรคอะไรก่อนหน้า ที่ทำให้เด็กไม่สามารถโฟกัส หรือทำการบ้านให้เสร็จตามเวลาที่เหมาะสมได้ เช่น เพิ่งไปทำกิจกรรมโลดโผนมาหรือออกแรงจนเหนื่อยหรือง่วง เด็กมีปัญหาด้านอารมณ์จากการทะเลาะเบาะแว้งกับใครมาหรือเปล่า หรือมีอาการเจ็บป่วยไม่สบายใด ๆ หรือไม่

2. สภาพแวดล้อมในการทำการบ้านของเด็กไม่เหมาะสม

เรื่องนี้อาจจะเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนมองข้ามไปค่ะ แต่อันที่จริงแล้ว แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา หากว่าต้องถูกบังคับให้ทำงานที่ยากหรือน่าเบื่อหน่าย ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ร้อน แคบ อึดอัด มีเสียงดัง มีกลิ่นเหม็น และอื่น ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกเฉื่อยชาเกินกว่าจะทำงาน (ที่อาจจะไม่อยากทำอยู่แล้ว) ให้สำเร็จได้ยากค่ะ

3. เด็กรู้สึกท้อ

พฤติกรรมเฉื่อยชานี้ เป็นพฤติกรรมปกติของเด็กหรือไม่ ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูอาจจะต้องลองสำรวจประวัติการเรียนของเด็กแต่ละคนก่อนค่ะ เพื่อที่จะได้ทราบว่า สาเหตุของความเฉื่อยชานั้นเกิดขึ้นจากอะไร เพราะเป็นไปได้ว่า บทเรียนที่ยากขึ้นในแต่ละระดับชั้น อาจจะเป็นจุดที่ทำให้เด็กรู้สึกท้อแท้ได้

4. เด็กมีความต้องการพิเศษ หรือข้อจำกัดอื่น ๆ

ลูกอาจมีความต้องการพิเศษบางอย่าง ที่ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานนั้น ๆ ให้สำเร็จ เพราะหลาย ๆ ครั้ง งานที่เรามองว่าง่าย การบ้านที่เราอาจจะเห็นว่า ไม่เห็นจะมีอะไรซับซ้อน อาจจะมีบางจุดที่แม้จะเล็กน้อย แต่ก็ส่งผลต่อการทำชิ้นงานให้สำเร็จได้นะคะ เช่น เด็กบางคนมีปัญหาด้านกล้ามเนื้อมือ ทำให้ทุกครั้งที่ต้องจับดินสอขีดเขียน ไม่ต่างอะไรจากการถูกลงโทษ เพราะแม้ว่าสมองจะแล่น แต่เมื่อมือมันเมื่อย ก็ยากที่เด็กจะอยากทำงานนั้นค่ะ

5. มาจากบทเรียน หรือชิ้นงานที่ได้รับ

ต้องลองสำรวจดูว่าพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นกับลูกเราเพียงคนเดียวหรือไม่ หรือเกิดขึ้นกับเด็กหลาย ๆ คนที่ต้องทำงาน/การบ้านแบบเดียวกัน ข้อนี้อาจจะต้องอาศัยข้อมูลจากเครือข่ายพ่อแม่ด้วยกันเองสักเล็กน้อยค่ะ เพราะบางครั้ง ลูกที่ดูเหมือนจะขี้เกียจของเรานั้น ก็อาจจะเป็นลูกที่ขี้เกียจเหมือน ๆ กันเด็กบ้านอื่น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว อาจจะต้องมาดูกันที่ลักษณะของบทเรียน การบ้าน หรือชิ้นงานที่เด็ก ๆ ได้รับกันอีกทีค่ะ

 

หลังจากที่เราสำรวจ 5 สาเหตุนี้เรียบร้อยแล้ว ครูพิมคิดว่า เราน่าจะคัดกรอง “เด็กเฉื่อย” ในนิยามของคุณพ่อคุณแม่ออกไปได้ไม่ยากเลยใช่ไหมล่ะคะ คงเหลือแต่เด็กที่ต้องการความเข้าใจและช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการของพวกเขา และนี่ล่ะค่ะ คือหน้าที่ของการเป็น “ผู้ปกครอง” ในแบบฉบับที่เด็ก ๆ ต้องการ

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow