ช่วงก่อนสอบถือเป็นช่วงที่เราต้องตักตวงความรู้จากการอ่านให้ได้มากที่สุด ซึ่งการอ่านในแต่ละสถานที่และเวลาที่ต่างกันล้วนมีผลกับความจำ มาดูข้อดีของการอ่านหนังสือแต่ละแบบเพื่อจะได้นำไปปรับใช้ให้การอ่านของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ่านเช้า
• ช่วง 05.00-10.00 น. เป็นเวลาที่เหมาะกับการอ่านหนังสือตอนเช้า
• สมองปลอดโปร่งและตื่นตัว พร้อมเรียนรู้และจดจำ
• แสงจากธรรมชาติในช่วงเช้าจะช่วยให้ร่างกายอยู่ในโหมดตื่นตัว ดีต่อสายตา และมีสมาธิ
อ่านดึก
• ช่วง 20.00-23.00 น. เป็นเวลาที่เหมาะกับการอ่านหนังสือตอนดึก
• ช่วงเวลาก่อนนอน เป็นช่วงนาทีทองที่สมองจะปลอดโปร่ง และจดจำได้ดี
• มีสิ่งเร้ากวนสมาธิน้อยกว่า จึงมีแนวโน้มจะโฟกัสได้ดี
อ่านฉายเดี่ยว
• การอ่านคนเดียวจะทำให้อ่านได้เร็วกว่า
• ยิ่งอยู่กับตัวเองมากเท่าไหร่ ยิ่งมีสมาธิมาก เพราะสิ่งเร้ารบกวนน้อย
• ลืมยากเพราะศึกษาหาคำตอบเอง กลายเป็นความรู้ในระยะยาว
• กลับไปอ่านทวนได้ทุกเมื่อ ศึกษาเพิ่มเติมในจุดที่ตัวเองอ่อนได้เลยทันที
อ่านกับเพื่อน
• มีแรงกระตุ้นซึ่งกันและกัน ปลุกไฟแห่งความขยันให้ลุกโชนได้
• มีบรรยากาศที่สนุกสนาน ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อเหมือนเคย
• หากจำผิด เพื่อนสามารถทักท้วงและให้คำตอบที่ถูกต้องได้ทันที
• มีคนช่วยคิดหาคำตอบ สามารถผลัดกันถามตอบเรื่องที่เรียนได้
• ประหยัดเวลาในการอ่านมาก
อ่านที่บ้าน
• บรรยากาศที่เป็นส่วนตัว กลิ่นที่เคยชินจะทำให้เราโฟกัสได้ดีเยี่ยม
• สามารถตัดสิ่งรบกวนต่าง ๆ ออกไปได้ด้วยตัวเอง เช่น โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
• จัดโต๊ะเก้าอี้ให้เหมาะกับตัวเองได้ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองต่อมรับรู้และความจำช่วยให้ตื่นตัวและไม่ง่วง
• เหมาะกับการอ่านยาว ๆ วิชาที่ต้องทำความเข้าใจมาก
อ่านที่คาเฟ่
• สถานที่ใหม่ ๆ จะทำให้มีสมาธิอยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเพียงอย่างเดียวจริง ๆ
• คาเฟ่มีเสียงรบกวนที่น่าฟัง ซึ่งร่างกายเราจะเปลี่ยนเสียงรบกวนให้เป็นตัวช่วยสร้างสมาธิ
• เหมาะกับการอ่านแบบ short note และการอ่านในวิชาที่เหลือเวลาเตรียมตัวน้อย
One night miracle มีจริงไหมหนอ ?
การอ่านหนังสือให้จบภายใน 1 คืนก่อนสอบ หรือที่เราเรียกว่า ‘one night miracle’ จะทำให้เราจำได้แค่ช่วงสั้น ๆ เท่านั้น |
ระหว่างนั่งสอบนั้น สิ่งที่เราจะเจอตรงหน้าคือข้อสอบ ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบอัตนัยหรือปรนัย เอาเป็นว่าถึงจะอ่านมาเท่ากัน แต่คะแนนของคนที่รู้เทคนิคในการทำข้อสอบก็จะสูงกว่าอยู่ดี
ข้อสอบอัตนัย
• เขียนสิ่งที่เราจำได้ลงไปก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้คำถามในข้อสอบทำให้เราสับสน
• แบ่งเวลาทำข้อสอบ เช่น มีคำถาม 6 ข้อ กับเวลาทำ 3 ชั่วโมง ก็ต้องหารเวลาทำให้แต่ละข้อเท่า ๆ กัน
• ทำข้อที่ง่ายก่อน ให้เลือกทำข้อที่ทำได้หรือแม่นก่อน เพื่อจะได้มีเวลาเหลือสำหรับข้อที่คิดว่ายาก
• ตอบในสิ่งที่ผู้ออกข้อสอบต้องการ อ่านคำสั่งให้ดี เช่น ให้เปรียบเทียบ ให้อธิบายความหมาย หรือให้วิจารณ์ เป็นต้น
ข้อสอบปรนัย
• กำจัดคำตอบที่ผิดอย่างเห็นได้ชัดออกไปก่อน เพื่อให้เหลือตัวเลือกน้อยลง
• คำตอบที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน มักจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง แต่เป็นคำตอบที่ตรงข้ามกันหรือขัดแย้งกัน
• คำตอบที่กินความหมายกว้างมักถูกต้อง มากกว่าคำตอบที่เฉพาะเจาะจง เขียนกว้าง ๆ เข้าไว้
เพิ่มคะแนนด้วยกลยุทธ์เหล่านี้ - เขียนให้เรียบร้อย เพื่อสร้างความน่าอ่าน เพราะการมองกระดาษคำตอบแว๊บแรกส่งผลต่อการให้คะแนนของผู้ตรวจได้ - ขีดเส้นเน้นข้อความ ใช้ปากกาสีน้ำเงินหรือสีดำเขียนข้อความ และใช้ปากกาสีสดเน้นข้อความหรือคำตอบที่สำคัญให้เด่นขึ้น - ใช้แผนภาพประกอบการเขียน หรือตารางประกอบ เพราะจะสามารถทำให้ผู้ตรวจเข้าใจความคิดของเรามากขึ้น - ตอบทุกคำถามแม้จะรู้น้อย เพราะผู้ตรวจจะพยายามมองหาจุดที่สามารถให้คะแนนเราได้เสมอ |
ใครที่สอบผ่านก็อย่าหยุดตั้งใจ ส่วนใครที่สอบผ่านแบบฉิวเฉียด หรือสอบตกจนมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เราอยากให้ลองมาทบทวนตัวเองดูหน่อยว่าตัวคุณเป็นแบบนี้ใช่หรือไม่
คนที่สอบผ่านฉิวเฉียด
• อ่านแต่ชีทสรุปของคนอื่น ไม่อ่านด้วยตัวเอง จึงทำได้แค่เท่าที่เพื่อนสรุปมาให้
• ฝึกทำโจทย์ไม่มากพอ เมื่อโจทย์พลิกแพลงก็จะทำไม่ได้
• ไม่รู้ภาพรวมของเนื้อหา จำแค่บางส่วน ไม่รู้ว่าหัวข้อนี้มีหัวข้อย่อยเป็นอะไร
• มีตารางอ่านหนังสือแต่ไม่มีวินัยมากพอที่จะทำตามที่ตั้งไว้ มี passion แต่ยังขาดวินัย
• อย่าคิดว่าโชคช่วย เพราะถ้ามีวินัยมากกว่านี้ก็จะทำให้ภูมิใจในตัวเองมากขึ้น
คนที่สอบตก
• สอบตกไม่ได้แปลว่าไม่เก่ง แค่ยังพยายามไม่มากพอ
• อ่านเนื้อหาผ่าน ๆ ไม่ทำแบบฝึกหัด เพราะบางวิชาอ่านอย่างเดียวไม่พอ ต้องฝึกทำโจทย์ด้วย
• ไม่ทบทวนตัวเอง ไม่เคยถามตัวเองว่าวันนี้เรียนอะไรไปบ้าง เข้าใจอะไร ไม่เข้าใจอะไร จนดินพอกหางหมู
• นึกอยากอ่านอะไรก็อ่าน อยากทำอะไรก็ทำ ไม่มีตารางอ่านหนังสือที่ชัดเจน
• ไม่ขยันอ่านและไม่ขยันไปติวกับเพื่อนเลย
แหล่งข้อมูล
- ฝ่ายวิชาการบิสคิต. ฟัง คิด อ่าน เขียน รวมทุกศาสตร์เพื่อทำให้คุณฉลาด. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บิสคิต, 2553.
- ยุดา รักไทยและปานจิตต์ โกญจนวรรณ. คนเก่งเรียน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บิสคิต, 2557.
- 7 Significant Benefits of Being a Homebody. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2561 จาก https://www.hoppler.com
- STUDYING ALONE. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2561 จาก http://www.flinders.edu.au
- Why Do People Study At Coffee Shops?. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2561 จาก https://www.theodysseyonline.com
- Study Alone vs. Group Study. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2561 จาก https://sites.psu.edu
เรื่อง : วัลญา นิ่มนวลศรี