ก่อนที่คณะจะเคลื่อนทัพ แม่ ๆ ในชุมชนได้ตระเตรียมข้าวห่อใบตอง ผัดผัก หมูทอด และผงโรยข้าวไว้เป็นเสบียงสำหรับการเดินป่าในครั้งนี้ เราออกเดินตั้งแต่ในหมู่บ้าน ผ่านทุ่งนาอันเขียวขจี แล้วเริ่มเข้าสู่ใต้ร่มเงาของป่าใหญ่ ระหว่างทางผมก็เดินสูดอากาศอันสดชื่น เพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์ที่ช่วยปลอบโยนจิตใจชนิดที่หาไม่ได้ในเมืองกรุง เดินไปได้สักพักท้องฟ้าก็เริ่มวิปริตแปรปรวนขึ้นมา ไม่กี่อึดใจเม็ดฝนเริ่มเทลงมา คณะเดินป่าที่เตรียมสัมภาระมาพร้อมก็รีบสวมเสื้อกันฝน บางคนก็เข้าไปหลบใต้ใบกล้วย พอพวกเราเดินมาถึงจุดหมาย ฝนก็หยุดตกแบบรู้งาน
ระหว่างมื้ออาหารเที่ยงอันเลิศรส พะตีจอนิ ปราชญ์ชุมชนวัย 73 ปี ก็เริ่มเล่าเรื่องการบวชป่า 50 ล้านต้น เมื่อปี 2539 ว่า ปีนั้นมีพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวง ร.9 ซึ่งชุมชนไม่ได้มีสิ่งของที่จะไปถวายให้ในหลวง ร.9 จึงตัดสินใจร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ทำการบวชป่า 50 ล้านต้นเพื่อถวายให้กับในหลวง ร.9 นอกจากการบวชป่าเพื่อถวายให้กับในหลวง ร.9 แล้ว อีกมิติหนึ่งคือเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ เพราะมีข้อห้ามว่าต้นไม้ต้นไหนที่ผ่านการบวชแล้ว ถือว่าห้ามตัด ห้ามทำลาย
สวนคนขี้เกียจของพะตีจอนิ หรือ Lazy Garden เป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยพืชผลกว่า 100 ชนิด เช่น อะโวคาโด กาแฟ สาลี่ ไม้ไผ่ ฯลฯ และยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด อย่างไก่ป่า วัว ควายอีกด้วย ที่สวนแห่งนี้ได้ชื่อว่าขี้เกียจ นั่นก็เพราะเป็นสวนที่ปล่อยให้ธรรมชาติทำหน้าที่ของมัน โดยที่คนจะไม่ไปรบกวนหรือใส่ยาเคมีเร่งการเจริญเติบโต
บรรยากาศในสวนช่างรื่นรมย์ชวนงีบหลับใต้ร่มไม้ยิ่งนัก ส่วนพะตีจอนิก็เต็มไปด้วยพลังที่อยากจะถ่ายทอดความรู้ให้กับเราอย่างกะตือรือร้น ความรู้สึกตอนเดินชมสวนคนขี้เกียจมันคล้ายกับตอนเดินป่ายังไงยังงั้น สิ่งคล้ายคลึงที่ว่าไม่เพียงแต่เป็นร่มเงาและลมเย็น ๆ ที่พัดมาเป็นระยะ แต่รวมถึงการที่เราได้ชิม ชิม ชิม แล้วก็ชิมผลผลิตในสวน ผมจึงเกิดคำถามว่า สวนของพะตีมันอุดมสมบูรณ์เทียบเท่าป่าดิบเขาเชียวหรือ แต่ก็ไม่ได้ถามออกไปเพราะเห็นว่าคำตอบมันอยู่ตรงหน้าอยู่แล้ว
Must Know • คำว่า ‘พะตี’ เป็นภาษาปกาเกอะญอ มีความหมายว่า ‘ลุง’ |
เรื่องและภาพ : ธีรชาติ ชัยประเสริฐ