ตามท้องตลาดโดยทั่วไป เราจะเห็นได้ว่ามีเครื่องสำอางปลอมที่ไม่ปลอดภัยและไม่ได้มาตรฐานจำหน่ายปะปนอยู่ อันตรายจากเครื่องสำอางสามารถพบได้จากสารเคมีที่เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง อันตรายจากจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนหลังจากการใช้งาน เป็นต้น
จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง วัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง จะพบว่า สารบางชนิดห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง เช่น ยาปฏิชีวนะ คลอรีน สารกัมมันตรังสี ในขณะที่สารบางชนิดก็ห้ามใช้แต่มีข้อยกเว้น เช่น
1. ปรอท เป็นสารห้ามใช้ แต่ยกเว้นเมื่อวัตถุที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขออกตามความในมาตรา 6 เกี่ยวกับชื่อ ปริมาณ และเงื่อนไขของวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง การปนเปื้อนในผลิตภันฑ์สำเร็จรูปได้ไม่เกิน 1 ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก (1 mg/kg) สารปรอท ทำให้ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เมื่อสารปรอทสะสมในร่างกายมากเกินไป ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบและไตอักเสบได้อีกด้วย
2. ไฮโดรควิโนน เป็นสารห้ามใช้ เป็นสารที่มีฤทธิ์ทำให้ผิวหน้าดำ เป็นฝ้า แต่ยกเว้นเมื่อวัตถุที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขออกตามความในมาตรา 6 เกี่ยวกับชื่อ ปริมาณ และเงื่อนไขของวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
เครื่องสำอางอาจมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ตั้งแต่ก่อนวางจำหน่าย จากการผลิตหรือภาชนะที่บรรจุ เป็นต้น โดยเฉพาะเครื่องสำอางประเภทครีม โลชั่น ซึ่งมีน้ำและน้ำมันเป็นองค์ประกอบหลัก เนื่องจากจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนจะเติบโตได้ดี นอกจากนี้จุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนจากเครื่องสำอางยังอาจมาจากเชื้อจุลินทรีย์ภายนอก ที่มาจากมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์ด้วย
สำหรับเครื่องสำอางที่เปิดใช้แล้วจะมีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ที่เกิดจากผู้ใช้เครื่องสำอางนั้น เช่น แปรงแต่งหน้า ฟองน้ำ รวมทั้งเครื่องสำอางที่ผ่านการสัมผัสจากนิ้วมือ หรือสัมผัสส่วนต่าง ๆ เช่น ลิปสติกทาปาก มาสคาร่าปัดขนตา รองพื้น ครีมทาหน้า เมื่อไม่รักษาความสะอาดให้ดีจะทำให้การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ง่ายยิ่งขึ้น
เครื่องสำอางแต่ละชนิดจะมีสัญลักษณ์บอกระยะเวลาว่าหลังจากเปิดแล้วจะสามารถใช้เครื่องสำอางได้ต่อไปอีกนานเท่าใด โดยมีสัญลักษณ์ PAO (Period after opening) ระบุอายุเครื่องสำอางหลังเปิดใช้ครั้งแรก โดยมีตัวเลขหน้าตัวอักษร M เช่น ถ้าเขียนว่า 12M หมายถึง หลังจากเปิดแล้วสามารถใช้เครื่องสำอางนี้ต่อไปได้อีกภายในระยะเวลา 12 เดือน เป็นต้น โดยเมื่อเปิดภาชนะแล้วควรใช้เครื่องสำอางให้หมดภายในระยะเวลาที่กำหนด หากเลยจากระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ไม่นำมาใช้ต่อ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้เครื่องสำอางและการเกิดสารปนเปื้อนในเครื่องสำอาง
เครื่องสำอางแต่ละประเภทมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ครีมบำรุงผิว (Skincare) เช่น Toner Cleanser หลังเปิดใช้แล้ว อยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี
- คอนซีลเลอร์ สามารถใช้ได้นาน 12 เดือน
- แป้งฝุ่นหรือแป้งพัฟ ใช้ได้นานถึง 2 ปี ส่วนแป้งแข็งจะมีอายุราว 1 ปี เนื่องจากน้ำมันที่สะสมตามฟองน้ำจะทำให้แป้งมีอายุการใช้งานที่สั้นลง ดังนั้น ควรทำความสะอาดฟองน้ำอย่างสม่ำเสมอ
- บลัชออน มีอายุการใช้งาน 3 ปี แต่หากผลิตภัณฑ์เริ่มมีสีซีดลง เนื้อแป้งเริ่มแตก ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้งาน
- มาสคาร่า ใช้งานได้ราว 3-4 เดือน หากใช้นานเกินกว่านั้นจะมีลักษณะแข็งแห้ง ทาได้ยาก
- ดินสอเขียนขอบตา มีอายุได้นานถึง 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับการเก็บรักษา
- ลิปสติก มีอายุได้ถึง 1-2 ปี แต่หากมีกลิ่นและสีที่ค่อนข้างแปลกไปจากเดิม ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้งาน
การใช้เครื่องสำอางที่ปลอดภัย ก่อนซื้อเราควรสังเกตว่า ผลิตภัณฑ์นี้มี อย. หรือไม่ และควรตรวจดูว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้มีส่วนผสมที่เราแพ้หรือไม่ เพื่อป้องกันการระคายเคือง นอกจากนั้นเครื่องสำอางมีอายุของมัน ไม่ต้องไปเสียดายหากเครื่องสำอางหมดอายุแล้ว ยอมเสียเงินเป็นพันซื้อเครื่องสำอางใหม่ ดีกว่าเสียเงินเป็นหมื่นเพื่อรักษาหน้าจากการแพ้เครื่องสำอางนะคะ ควรทิ้งดีกว่าเพื่อความปลอดภัยของใบหน้าของเราค่ะ