Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ (Interspecies Interactions)

Posted By Amki Green | 29 พ.ย. 61
570,699 Views

  Favorite

ในธรรมชาติมีสิ่งมีชีวิตอยู่หลากหลายชนิด ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันได้อย่างสมดุล โดยมีความสัมพันธ์กันในลักษณะต่าง ๆ เกิดเป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ

 

ระบบนิเวศ (Ecosystem) คือ พื้นที่บริเวณหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มสิ่งมีชีวิต (Community) มากกว่าหนึ่งชนิดและสิ่งแวดล้อม (Environment) ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยกลุ่มสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้สามารถแบ่งความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศได้เป็น 6 รูปแบบ คือ

 

1. ภาวะพึ่งพาอาศัย (Mutualism +,+)

เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดที่อยู่ร่วมกันเป็นระยะเวลานานจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน เช่น

- ไมคอร์ไรซา (Mycorrhiza) เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างรากับรากพืช โดยพืชจะทำหน้าที่สังเคราะห์ด้วยแสงและสร้างอาหารให้ราเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต นอกจากนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่รา ส่วนรานั้นจะมีโครงสร้างที่เป็นเส้นใย เรียกว่า ไฮฟา (Hyphae) ทำหน้าที่คอยหาแร่ธาตุอาหารจากดินที่ใช้ในการเจริญเติบโตของพืช นอกจากนี้รายังให้ความชื้นแก่รากพืชอีกด้วย
- โปรโตซัว (Trichonympha sp.) ในลำไส้ปลวก ภายในโปรโตซัวจะมีแบคทีเรียที่สามารถสร้างเอนไซม์เซลลูเลส (Cellulase) ที่สามารถย่อยไม้ให้ปลวก ส่วนปลวกจะให้ที่อยู่อาศัยและอาหาร ซึ่งก็คือ เซลลูโลส แก่โปรโตซัว
- ไลเคนส์ (Lichens) เป็นสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด คือ ราและสาหร่าย ที่มาอาศัยอยู่ด้วยกัน โดยที่ราจะให้ความชื้นแก่สาหร่าย ส่วนสาหร่ายสามารถสังเคราะห์ด้วยแสงและสร้างอาหารให้แก่ราได้

 

2. ภาวะได้ประโยชน์ร่วมกัน (Protocooperation +,+)

เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ที่อยู่ร่วมกันโดยที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่สามารถแยกออกจากกัน เช่น

- นกเอี้ยงกับควาย นกเอี้ยงจะกินปรสิต เช่น เห็บ ไร ที่อยู่บนตัวควาย ซึ่งควายจะได้ประโยชน์เนื่องจากปรสิตที่ก่อความรำคาญถูกกำจัด ขณะเดียวกันนกเอี้ยงก็จะได้รับอาหารจากการกินเห็บ ไร ที่อยู่บนตัวควาย
- มดดำกับเพลี้ย มดนำจะนำไข่ของเพลี้ยไปไว้ในรังบนต้นไม้ เพื่อให้ความอบอุ่นและฟักออกมาเป็นตัว เมื่อถึงเวลาออกหาอาหาร มดดำจะนำเพลี้ยไปด้วย เพื่อให้เพลี้ยใช้ปากเจาะและดูดน้ำหวานจากต้นไม้แล้วปล่อยให้น้ำหวานไหลออกมา ซึ่งทำให้มดดำได้อาหารจากเพลี้ยอีกทอดหนึ่ง
- แมลงกับดอกไม้ แมลงจะได้กินน้ำหวานจากดอกไม้เป็นอาหาร ส่วนดอกไม้จะได้แมลงช่วยในการผสมเกสร

 

3. ภาวะอิงอาศัยหรือภาวะเกื้อกูล (Commensalism +,0)

เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดที่อยู่ร่วมกัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์ ส่วนอีกฝ่ายไม่ได้และไม่เสียประโยชน์ใด ๆ เช่น

- ปลาฉลามกับเหาฉลาม เหาฉลามจะคอยยึดเกาะกับปลาฉลามเพื่อจะได้รับเศษอาหารที่ปลาฉลามกินไม่หมด แต่ก็ไม่ได้ส่งผลเสียตัวปลาฉลาม
- นกกับต้นไม้ใหญ่ นกจะฃทำรังบนต้นไม้ใหญ่ ทำให้ได้ที่อยู่อาศัย ส่วนต้นไม้นั้นไม่เสียประโยชน์
- พืชอิงอาศัย (Epiphyte) เช่น กระเช้าสีดา เฟิร์น จะเกาะอยู่บนต้นไม้เพื่อใช้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย โดยที่ต้นไม้ไม่ได้ประโยชน์ แต่ก็ไม่เสียประโยชน์ใด ๆ

 

4. ภาวะปรสิต (Parasitism +,-)

เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดที่อยู่ร่วมกัน โดยที่จะมีฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์จากการเป็นผู้ถูกอาศัย เรียกว่า  โฮสต์ (Host) และจะมีอีกฝ่ายหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการไปอาศัยอยู่กับโฮสต์ เรียกฝ่ายที่ได้ประโยชน์ว่า ปรสิต (Parasite) ปรสิตแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
4.1 ปรสิตภายใน (Endoparasite) เช่น แบคทีเรีย พยาธิต่าง ๆ
4.2 ปรสิตภายนอก (Ectoparasite) เช่น ปลิง เห็บ หมัด ยุง


4.3 ปรสิตในเซลล์ (Intracellular parasite) เช่น ไวรัส

 

ตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตในภาวะปรสิต ได้แก่
- พยาธิที่อยู่ในร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ พยาธิจะคอยแย่งสารอาหารจากอาหารที่มนุษย์หรือสัตว์รับประทานเข้าไป ทำให้มนุษย์หรือสัตว์นั้นได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน เกิดภาวะขาดสารอาหารตามมา
- กาฝากกับต้นมะม่วง รากของกาฝากจะชอนไชไปจนถึงท่อน้ำและท่ออาหารของต้นมะม่วง จากนั้นกาฝากจะดูดน้ำและอาหารจากต้นมะม่วงที่มันไปอาศัยอยู่ ส่งผลให้น้ำและอาหารไม่เพียงพอสำหรับใช้ในการเจริญเติบโตของต้นมะม่วง

 

5. ภาวะล่าเหยื่อ (Predation +,-)

เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดที่อยู่ร่วมกัน โดยฝ่ายที่เป็นผู้ล่า (Predator) จะเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์ ส่วนผู้ถูกล่าหรือเหยื่อ (Prey) จะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ เช่น สัตว์กินพืช สัตว์กินสัตว์ หรือพืชกินแมลง ซึ่งความสัมพันธ์จะช่วยทำให้ระบบนิเวศมีความสมดุลเกิดขึ้น กล่าวคือ ถ้าในระบบมีจำนวนผู้ล่าเพิ่มขึ้น จำนวนเหยื่อก็จะลดลงเนื่องจากถูกล่าไปหมด และเมื่อจำนวนเหยื่อน้อยลง ประชากรผู้ล่าก็จะเริ่มน้อยลงตามไปด้วย เนื่องจากขาดอาหาร ส่งผลให้เหยื่อกลับมาเพิ่มจำนวนมากขึ้น และวนเป็นวงจรอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ

 

6. ภาวะแก่งแย่ง (Competition -,- )

เนื่องจากทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเดียวกันในการดำเนินชีวิต จึงทำให้ภาวะแก่งแย่งเป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ที่อยู่ร่วมกันโดยต้องแก่งแย่งแข่งขันเพื่อให้ได้แหล่งทรัพยากรนั้นมาเป็นของตน ซึ่งส่งผลเสียแก่ทั้งสองฝ่าย สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

6.1 การแก่งแย่งแข่งขันระหว่างสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน (Intraspecies competition) เช่น ฝูงหมาป่าแย่งอาหารกัน สิงโตต่อสู้กันเพื่อครอบครองอาณาเขต
6.2 การแก่งแย่งแข่งขันระหว่างสิ่งมีชีวิตคนละชนิด (Interspecific competition) เช่น เสือและสิงโตต่อสู้กันเพื่อแย่งอาหาร

 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศมากขึ้น ผู้เขียนหวังว่าทุกคนจะช่วยกันรักษาสมดุลของระบบนิเวศ เพื่อทำให้โลกใบนี้มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์คงอยู่สืบไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow