จะว่าไปแล้ว สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือข้าวของเครื่องใช้ ต่างมีลักษณะของวงกลมแฝงอยู่ เช่น พิซซ่า แก้วน้ำ หนังยาง ห่วงยาง และในทางเรขาคณิต ส่วนประกอบของวงกลมก็มีด้วยกันหลายส่วน เช่น รัศมีของวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง จุดศูนย์กลาง ซึ่งล้วนเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของวงกลมทั้งสิ้น แต่เรามักลืมคิดถึงมุมของวงกลม เพราะหากไม่ได้เรียนหรือนำไปใช้ในเชิงที่เกี่ยวข้องกับการทำงานแล้วละก็ มุมของวงกลมจะเป็นสิ่งที่เราเกี่ยวข้องและนึกถึงน้อยมาก ถึงอย่างนั้นที่มาที่ไปของตัวเลข 360 องศาซึ่งเป็นมุมของวงกลมก็มีความน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
วงกลมถูกแบ่งออกเท่า ๆ กันเป็น 360 หน่วย หรือที่เรียกว่า องศา ซึ่งนักคณิตศาสตร์เชื่อว่า ตัวเลขนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 2,400 ปีก่อนคริสตกาล โดยมาจากการที่ชาวบาบิโลนสังเกตลักษณะของวงกลมที่คล้ายกับการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งพวกเขาคำนวณว่าต้องใช้เวลา 360 วัน ดังนั้น พวกเขาจึงแบ่งวงกลมออกเป็น 360 องศา ทำให้ง่ายต่อการดูข้อมูลบนปฏิทินแบบวงกลมของพวกเขาด้วย นี่คือทฤษฎีแรก
ทฤษฎีมุมของวงกลมทฤษฎีต่อมา ยังคงวนเวียนอยู่กับชาวบาบิโลน จากการที่ชาวบาบิโลนมีการใช้ระบบเลขฐาน 60 และมีการใช้คอร์ดที่มีความยาวเท่ากับรัศมีเพื่อวัดขนาดของวงกลม โดยคอร์ดจะทำมุม 60 องศากับจุดศูนย์กลาง เมื่อสร้างรูปสามเเหลี่ยมจากคอร์ดนี้ก็จะได้สามเหลี่ยมด้านเท่าที่มีมุมและด้านเท่ากันทั้งสามด้าน ถ้าลองวาดรูปสามเหลี่ยมในลักษณะเดียวกันให้อยู่ภายในเส้นรอบรูปของวงกลม เราจะได้สามเหลี่ยมทั้งหมด 6 รูป หากคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล สามเหลี่ยมทั้งหกรูปมีมุม 60 องศา ก็จะได้เป็น 60x6 = 360 จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมมุมของวงกลมจึงมีค่าเท่ากับ 360 องศา
สำหรับทฤษฎีสุดท้าย มาจากการที่ 360 เป็นตัวเลขที่มีตัวประกอบมากถึง 24 ตัว ได้แก่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 8, 9, 10, 12, 15, 18, 20, 24, 30, 36, 40, 45, 60, 72, 90, 120, 180, 360 นั่นทำให้มันง่ายต่อการนำไปใช้งานหลาย ๆ อย่าง ตัวอย่างเช่น บนหน้าปัดนาฬิกาที่แบ่งเป็นตัวเลข 1-12 เมื่อนำไปหาร 360 ซึ่งเป็นมุมภายในวงกลมแล้ว ก็จะได้ว่าแต่ละช่องระหว่างตัวเลขมีค่าเท่ากับ 30 องศา (มาจาก 360/12) หมายความว่าใน 1 ชั่วโมง เข็มสั้นจะเดินไปเป็นระยะทาง 30 องศา แต่ถ้ามุมภายในวงกลมไม่ใช่ 360 องศา แต่เป็น 100 องศาล่ะ ? ใน 1 ชั่วโมง เข็มสั้นจะเดินไปเป็นระยะทาง 8.33 องศา ดังนั้น ไม่ต้องพูดถึงนาทีเลยว่า 1 นาที เข็มยาวจะขยับไปกี่องศา จุดทศนิยมมาเต็มแน่นอน
ทั้งหมดนี้คือทฤษฎีที่ว่า ทำไมวงกลมมีมุมเท่ากับ 360 องศา แต่ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีไหน สุดท้ายแล้วตอนนี้เราก็คุ้นเคยกับการที่วงกลมมีมุมภายในเท่ากับ 360 องศาอยู่ดี และมันก็ง่ายสำหรับการคำนวณหลาย ๆ อย่างจริงเสียด้วย ต้องขอบคุณใครก็ตามที่กำหนดตัวเลขนี้ขึ้นมา และนี่คือความชาญฉลาดของคนโบราณจริง ๆ