" วันนี้คุณได้ลงมือทำอะไรแล้วหรือยัง? "
ทุกวันนี้เพื่อน ๆ หลายคนอาจกำลังเจอกับปัญหาโลกแตกที่ว่า โตขึ้นไปแล้วอยากประกอบอาชีพอะไร สิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ตอนนี้ใช่สิ่งที่ตัวเองชอบหรือเปล่า หรือเรียน ๆ ไปก่อนแล้วจะเป็นอะไรค่อยว่ากัน เป็นต้น คำตอบของคำถามเหล่านี้สามารถหาได้จากโครงการทำก่อนฝัน หรือ THE DREAM EXPLORERS
โครงการทำก่อนฝันหรือ THE DREAM EXPLORERS เป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ จาก ทรูปลูกปัญญา ซึ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมได้ลงมือปฎิบัติจริง เห็นจริง เจอจริงกับสายอาชีพต่าง ๆ กว่า 29 อาชีพ เช่น เกมอาร์ติสท์, ผู้ประกาศข่าว - นักข่าว, ผู้ตรวจสอบบัญชี, สถาปนิก เป็นต้น โดยเราได้รับโอกาสให้ฝึกงานกับอาชีพสถาปนิก ซึ่งเราจะนำประสบการณ์ที่ผ่านมา มาแชร์ต่อให้ทุก ๆ คนได้ติดตามกัน...
มาเริ่มรู้จักกันก่อนดีกว่าว่าสถาปนิกคืออะไร สถาปนิก คือ ผู้ออกแบบและวางแผนในการก่อสร้าง โดยสถาปนิกจะต้องมีความรู้และความเข้าใจทางด้านมาตรฐานในการก่อสร้าง ประโยชน์การใช้สอย รวมไปจนถึงวัสดุที่จะนำมาสร้างสิ่งต่าง ๆ เพื่อนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งาน
เราได้รับโอกาสมาฝึกงานกับพี่ ๆ สถาปนิกมืออาชีพ ณ สถาบันแห่งนี้ ในความคิดของเรา สถาบันอาศรมศิลป์เป็นทั้งออฟฟิศของเหล่าสถาปนิกฝีมือขั้นเทพ และสถานศึกษาที่เน้นรูปแบบความเข้าใจผ่านการลงมือปฏิบัติจริงให้แก่นิสิตนักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจ ความพิเศษของอาศรมศิลป์คือ การออกแบบสิ่งต่าง ๆ ให้สอดคล้องไปกับสภาพแวดล้อม ภูมิศาสตร์ ประเพณีและวัฒนธรรม เน้นการส่งผลกระทบต่อธรรมชาติให้น้อยที่สุด และรูปแบบการทำงานที่เน้นช่วยเหลือชุมชนต่าง ๆ เพื่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนที่ดีขึ้น โดยสถาบันอาศรมศิลป์เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร
วันแรก ณ สถาบันอาศรมศิลป์ มีพี่ ๆ สองคนจากสถาบันมารับเราและเพื่อน ๆ ได้แก่ พี่โจ้และพี่นุ๊ก พี่ ๆ พาเราทั้งสามคนเดินชมสถานที่รอบ ๆ พร้อมกับพูดคุย ตั้งคำถาม และให้ความรู้ไปพราง ๆ ก่อนจะพาพวกเราขึ้นไป ณ ห้องประชุมบนอาคาร พี่โจ้ตั้งคำถามง่าย ๆ แต่คำถามนี่มันดันช่างตอบยากซะเหลือเกิน... “ สถาปนิกคืออะไร ” ทำเอาตอนแรก ทั้งตัวเราและเพื่อน ๆ อึ้งกันไปสักพัก และสุดท้ายแล้วพวกเราสามารถสรุปความหมายของสถาปนิกในรูปแบบของ Mindmap
พี่โจ้และพี่นุ๊กให้ข้อมูลกับพวกเราเกี่ยวกับ 6 ส่วนของสถาปนิก ซึ่งประกอบด้วย Design, Design Develop, Landscape, Model, ชุมชน และอนุรักษ์ โดยหลังจากการแนะนำให้รู้จักทั้งหกส่วนเสร็จ พี่ ๆ ทั้งสองก็พาเราทั้งสามคนไปดูงานของแต่ละส่วนทันที หลังจากการได้ลงไปทำความรู้จักกับส่วนต่าง ๆ และเห็นกระบวนการทำงานคร่าว ๆ จากพี่ ๆ ในแต่ละส่วน พวกเราก็ได้รู้ความจริงว่า เราทั้งสามคนจะต้องถูกจับแยกกันไปทำงานแต่ละส่วนที่ไม่ซ้ำกัน โดยพี่ ๆ จะให้พวกเราเลือกในช่วงบ่ายต่อไป
การรับประทานอาหารที่สถาบันอาศรมศิลป์นี้ ถือเป็นเรื่องพิเศษสำหรับเรา เนื่องจากทุก ๆ คนจะต้องพกช้อนส้อมและแก้วน้ำของตัวเองมาด้วย โดยทางอาศรมศิลป์จะเตรียมจานไว้ให้และเลือกตักอาหารเอง (คล้ายๆบุฟเฟต์) หลังจากทานอาหารเสร็จทุกคนจะมีหน้าที่ล้างจานของตนและนำไปเก็บ ทำเอาแวบแรกนึกถึงค่ายลูกเสือเลย555 แต่ที่พิเศษสุดคือ จะมีไวท์บอร์ดตั้งอยู่เพื่อให้ทุก ๆ คนมีส่วนร่วมมาเขียนเมนูที่ตนอยากทานในวันต่อ ๆ ไป
หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ พวกเราทั้งสามพร้อมกับพี่ทั้งสองคนก็กลับมาที่ห้องประชุมตามเดิม เพื่อตกลงว่าใครจะลงไปทำงานที่ส่วนไหน สุดท้ายว่านได้ไปทำงานที่ส่วน Model พี่ดลไปทำที่ส่วนชุมชน และเราได้ไปทำที่ส่วน Design เมื่อเลือกกันได้ความเสร็จสรรพ ทางด้านพี่ ๆ ก็ไม่รอช้า รีบพาพวกเราลงไปพบปะกับพี่ ๆ ของแต่ละส่วนที่ต้องไปฝึกงานทันที
เมื่อเรามาถึงออฟฟิศ Design ก็มีพี่มากล่าวต้อนรับทันที พี่คนนี้คือพี่ปาล์ม หนึ่งในสถาปนิกฝีมือระดับเทพที่ทำงานร่วมกับอาศรมศิลป์ จากนั้นพี่ปาล์มพาเราเดินเปิดตัวกับพี่ ๆ รอบห้อง ถ้าถามว่าเราจำชื่อพี่ ๆ ที่อยู่ในห้องได้หมดไหม ว่ากันตามตรงคือไม่555 ช่วงที่เราไปนั้น เป็นช่วงที่กลุ่มของพี่ปาล์มกำลังวุ่น ๆ เรื่องงานกัน พี่ปาล์มจึงให้เราไปนั่งดูพี่อีกคนที่กำลังทำ Model สามมิติ โดยใช้โปรแกรมในคอม พร้อมให้พี่อธิบายคร่าว ๆ เกี่ยวกับรูปแบบงานกราฟิกที่จะนำเสนอลูกค้า พอเราได้ซึมซับทั้งน้ำและเนื้อไปบางส่วนแล้ว จู่ ๆ พี่ปาล์มก็ชวนเราให้ไปดูน้ำรั่วที่บ้านของพี่ท่านหนึ่ง (พี่ปาล์มเรียกพี่ท่านนี้ว่า “ พี่ ” เราเองเลยเรียกพี่ท่านนี้ว่า “ พี่ ” ตามพี่ปาล์ม) ตอนแรกเราเองก็ยังเหวอ ๆ งง ๆ อยู่ ก็เลยเออออกับพี่ไปก่อนว่าเราจะตามไปด้วย ซึ่งบ้านของพี่ท่านนี้ไม่ได้ห่างจากตัวสถาบันอาศรมศิลป์มาก แต่จุดพีค ณ จุด ๆ นี้คือตอนที่เรารู้ความจริงจากเสียงกระซิบของพี่ปาล์มว่า บ้านที่เราตามพี่ปาล์มมาดูน้ำรั่วนี่ จริง ๆ แล้วเป็นบ้านของท่านทูตท่านหนึ่ง เล่นทำเอาช็อกไปชั่วขณะเลย แหม่...เล่นบอกกันนาทีที่ยืนอยู่ในบ้านท่านซะแล้ว555 แต่การมาครั้งนี้ทางด้านพี่ปาล์มก็ได้อธิบายเกี่ยวกับโครงสร้างอาคาร และใจความสำคัญที่ได้จากคำสอนของพี่ปาล์มคือ ‘ เอกลักษณ์ความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นประเพณี วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดี และสามารถนำมาประยุกต์และต่อยอดในการสร้างสรรค์งานต่าง ๆ ได้ ’
หลังจากจัดการเรื่องปัญหาน้ำรั่วจนสำเร็จ พี่ปาล์มและเราจึงกลับมาที่สถาบันอาศรมศิลป์ ระหว่างที่ยืนอยู่ตรงทางเข้าของสถาบัน พี่ปาล์มพูดกับเราว่า “ เห็นไหม... ว่าการที่ผู้อยู่มีความสุข นั่นก็ทำให้สถาปนิกอย่างพวกเราเองมีความสุขไปด้วย ” ถือเป็นอีกหนึ่งประโยคที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจมาก ๆ จากนั้นพี่ปาล์มและเราก็เดินเข้ามาเพื่อจะกลับไปยังออฟฟิศ แต่ยังเดินมาไม่ถึงครึ่งทางดี จู่ ๆ พี่ปาล์มก็ชวนเราให้ไปนั่งฟังพี่คุยกับซับพลายเออร์เกี่ยวกับการเลือกเนื้อไม้ซะก่อน การนั่งฟังครั้งนี้ถึงแม้เราจะงง ๆ บ้างกับภาษาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและเกี่ยวกับชนิดของไม้ แต่เราก็ได้เห็นกระบวนการทำงานของพี่ว่าก่อนการจะสร้างอะไรก็ตาม ต้องมีความรอบคอบในการเลือกวัสดุเป็นอย่างมาก
หลังจากกลับมานั่งพักที่ออฟฟิศยังไม่ทันจะหายเหนื่อยดี พี่ปาล์มก็บอกให้เราไปฟังการพรีเซ็นต์งาน ของนักศึกษาปี 2 ของทางสถาบันอาศรมศิลป์ พอว่าความกันเสร็จสับ พี่ปาล์มจึงพาเราไปส่งที่ห้องทันที ปรากฏว่าในห้องมีพี่ ๆ นิสิตนักศึกษาทั้งปี 2 และปี 3 อยู่เต็มห้องไปหมด และพอมองไปรอบ ๆ เราเห็นพี่โจ้นั่งรอฟังพรีเซ็นต์อยู่ ทำให้เรารู้ว่าจริง ๆ แล้วพี่โจ้เป็นถึงระดับอาจารย์ที่สอนอยู่ในสถาบัน หลังจากนั่งรอได้สักพัก เพื่อน ๆ ของเราอีกสองคน ว่านและพี่ดล ก็เดินเข้ามาฟังการพรีเซ็นต์งานด้วยเช่นกัน โดยโปรเจคที่พี่นักศึกษาปี 2 พรีเซ็นต์นั้น มีเนื้อหาเกี่ยวกันการพัฒนาพื้นที่แห่งหนึ่งให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งตัวของพี่นักศึกษาเองได้ลงพื้นที่จริง เพื่อศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่ ณ ตรงนั้น แล้วนำมาวางแผนและออกแบบที่พัก จุดนี้ทำให้พวกเราทั้งสามคนได้เห็นกระบวนการทำงานของนักศึกษาของสถาบันอาศรมศิลป์ในการลงมือทำจริง ปฏิบัติงานจริง และแนวทางในการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ
วันนี้พี่ปาล์มพาเราขึ้นไปนั่งฟังการประชุมกับพี่ ๆ สถาปนิกมืออาชีพในช่วงเช้า การประชุมกินเวลาไปค่อนข้างนานพอสมควร แต่จากการประชุมครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นกระบวนการการทำงานของสถาปนิกมืออาชีพ การโคงานระหว่างพี่ ๆ แต่ละส่วน วิธีการคิดและมองปัญหาอย่างรอบด้าน แนวทางการใช้สอยทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น
หลังจากทานอาหารกลางวันเสร็จ คณะพี่ปาล์มเองก็ยังวุ่น ๆ อยู่กับโปรเจคต่าง ๆ พี่คนหนึ่งเลยให้เราลองวาดรูปทัศนียภาพให้พี่ดู พี่คนนี้ชื่อว่าพี่เดี่ยว ซึ่งพี่เดี่ยวคือพี่คนเดียวกับที่แนะนำเราเกี่ยวกับกราฟิกและ Model สามมิติในวันแรก เราเลยลองวาดให้พี่ดู ผลปรากฏว่าช่วงแรกเราทำแบบเกร็ง ๆ พี่เดี่ยวเลยเข้ามาแนะนำและสอนเทคนิคต่าง ๆ กว่าเราจะจับเทคนิคที่พี่สอนมาได้ ก็ล่อเข้าไปตั้งสามแผ่น ตอนที่เรากำลังวาดรูปแผ่นที่สามอยู่ สภาพของเรา ณ จุด ๆ นั้นคือ เปลือกตาพร้อมจะไหลลงมาทุกเมื่อ555 ด้วยทุนเดิมที่เราตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่ง และอาหารกลางวันที่ซัดเข้าไปจนหนังท้องตึง ทันใดนั้นพี่ปาล์มก็เดินเข้ามา พร้อมบอกให้พี่อีกคนหนึ่งที่นั่งใกล้ ๆ กันมอบหมายงานชิ้นแรกให้เรา ซึ่งพี่ที่จะมอบหมายและคอยช่วยเหลือเกี่ยวกับงานชิ้นแรกคือ พี่ปอ พี่ปอจึงเริ่มอธิบายโครงสร้าง Model ของโปรเจคหนึ่ง ทำเอาตื่นเลย555 ซึ่งโจทย์ที่พี่ปอให้เราคือ การหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย ในยุค 1970 เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เกี่ยวกับการออกแบบภายในของตัวอาคาร ดังนั้นเราจึงใช้เวลาช่วงเย็นทั้งหมดกับการหาข้อมูล
ช่วงเช้าวันนี้เรานั่งหาข้อมูลต่อจากเมื่อวาน พร้อมกับเตรียมไฟล์ Powerpoint เพื่อพรีเซนต์ให้พี่ปาล์มและพี่คนอื่น ๆ ฟังในช่วงบ่าย ข้อมูลที่เราต้องหาจะเกี่ยวข้องกับประเทศไทยในยุค 1970 ซึ่งเราหาข้อมูลผ่านจากรูปภาพและบทความต่าง ๆ ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ข้อมูลของเราส่วนใหญ่จะประกอบ ไปด้วย แฟชั่น โทนสี ยานพาหนะ ประวัติของทางบริษัทผู้ว่าจ้าง ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่แถวนั้น รวมไปจนถึงการคิดคอนเซ็ปต์ของสิ่งของที่จะใช้ตกแต่งภายใน
มาต่อกันในช่วงบ่าย มันช่างเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นและระทึกใจที่สุด เพราะเราจะต้องพรีเซนต์ข้อมูลและไอเดียของเราให้แก่พี่ ๆ ที่เป็นสถาปนิกระดับมืออาชีพ เมื่อถึงเวลา พี่ ๆ ทั้งสี่คนประกอบด้วย พี่ปาล์ม พี่เดี่ยว พี่ปอและพี่เห็ดต่างวางงานที่ตนกำลังทำ และหมุนเก้าอี้มาทางเรา แรงกดดันมหาศาลส่งผลให้เราใจเต้นระรัว555 จากนั้นเราจึงเริ่มพรีเซนต์เกี่ยวกับข้อมูลที่เราหามาและคอนเซ็ปต์ในการใช้สิ่งของต่าง ๆ มาตกแต่งภายใน ผลสุดท้าย พี่ ๆ ทั้งสี่ต่างให้ความเห็นแต่ละคน โดยส่วนมากเห็นว่าแนวทางการพรีเซ็นต์ของเรานั้นถือว่าดี แต่เนื้อหากลับผิดประเด็น สิ่งที่พี่ ๆ ต้องการให้เราหาจริง ๆ แล้วคือ Mood & Tone ซึ่งสามารถอธิบายตามความเข้าใจของเราได้ว่า Mood & Tone คือ รายละเอียดที่เราสามารถดึงออกมาจากข้อมูลที่เราหามาได้ เช่น โทนสี รูปทรง หรือลวดลาย เป็นต้น เพราะในยุค 1970 สิ่งของต่างๆล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นของมันเอง และสิ่งที่สำคัญคือการหาข้อมูลต้องหาให้กว้าง ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อมูลภายในประเทศอย่างเดียว เพราะเราอาจจะพลาดข้อมูลดี ๆ จากที่อื่น ๆ อีกก็เป็นได้
หลังจากฟังคำแนะนำจากพี่ ๆ ทั้งสี่เสร็จแล้ว เราจึงเริ่มหาข้อมูลและเตรียมพรีเซ็นต์ชุดใหม่ต่อทันที แต่พอทำไปได้ไม่เท่าไหร่ก็ตกเย็นซะแล้ว เราเลยเก็บของเตรียมตัวจะกลับบ้าน แต่ทว่ามีพี่คนหนึ่งเรียกเราไปถามว่า พอจะมีเวลาอีกสักนิดไหม พี่จะให้เราลองไปคุยกับนิสิตนักศึกษาปี 5 ที่มาฝึกงานกับสถาบันอาศรมศิลป์ แน่นอนว่าเราตอบตกลง จากนั้นพี่คนนี้ก็พาเราไปรู้จักกับพี่ ๆ นักศึกษาห้าคนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พี่ ๆ ต้อนรับเราดีมาก และให้คำแนะนำกับแนวทางการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย เรียกได้ว่าคุยกับพี่เค้าสนุกสุด ๆ พอรู้ตัวอีกทีก็หกโมงเย็นแล้ว วันนั้นกว่าจะกลับถึงบ้านก็เล่นเอาล้ามาก แต่แลกกับความรู้ที่ได้กลับมาเต็มกระเป๋าแล้ว ถือว่าคุ้มสุด ๆ!
เวลาผ่านไป ไวเหมือนโกหก... ช่วงเช้าเรานั่งทำงานต่อจากเมื่อวานคือหาข้อมูลและเตรียม Powerpoint ชุดใหม่เพื่อนำเสนอพี่ ๆ ในช่วงบ่ายตามเคย แต่จุดที่แตกต่างจากเมื่อวันก่อนคือ เรารู้และเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นคืออะไร ทำให้การรวบรวมข้อมูลนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในช่วงบ่ายของวันนี้ พี่ ๆ หลายคนในห้องต่างมีธุระจำเป็นต้องไปนอกสถานที่ ทำให้พี่ ๆ ที่นั่งฟังเราพรีเซ้นต์เมื่อวานเหลือเพียงแค่พี่ปอคนเดียว แต่ก่อนที่เราจะได้พรีเซ็นต์ให้พี่ปอฟัง พี่โจ้ก็มาเรียกเราพร้อมกับเพื่อน ๆ อีกสองคนให้ไปที่ห้องประชุมเสียก่อน พี่โจ้ พี่นุ๊ก และพวกเราสามคนพร้อมหน้าพร้อมตากันที่ห้องประชุมอีกครั้งเช่นเดียวกับวันแรก พวกเราสรุปกันว่าสี่วันที่ผ่านมาเราได้รับอะไรกันบ้างผ่านการแชร์เรื่องราวในช่วงที่ผ่านมา และเขียนจดหมายขอบคุณถึงพี่ ๆ ในส่วนที่คอยดูแลเรา เมื่อจบจากการประชุม เรารีบกลับมาที่ห้องทันทีเพื่อนำจดหมายที่เราเขียนมาให้และพรีเซ็นต์งานของเราต่อ พี่ปอเรียกพี่เกตุมาอีกคนเพื่อช่วยกันฟังและออกความเห็นเกี่ยวกับการพรีเซ็นต์ของเรา ผลสุดท้ายทุกอย่างออกมาดีเกินคาด ข้อมูลที่เราหาแล้วนำมาเสนอให้พี่ ๆ ฟังนั้นตรงกับประเด็นและนั่นทำให้เราเข้าใจความหมายของ Mood & Tone มากขึ้น สุดท้ายเราได้แช๊ะรูปกับพี่ ๆ และกล่าวอำลา...
- ต้องมีทักษะและความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม
- รู้จักกระบวนการทำงานและพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้น
- ต้องกล้าที่จะลองทำ และเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ ๆ
- มีมุมมองกว้างไกล ครอบคลุม และรอบคอบ
- นึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเสมอ
- รู้จักการพูดคุย ติดต่อประสานงาน และนำเสนอ
- นอนดึกเก่ง! (555+)
- สร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้คน
- สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ตนคิดให้ออกมาเป็นจริงได้
- เป็นอาชีพที่สามารถหาความสุขจากการทำเพื่อผู้อื่น
- เป็นอาชีพที่มอบความสุขให้แก่ผู้อื่นเช่นเดียวกัน
- เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีมิติมุมมองเปิดกว้าง
- เวลาในการพักผ่อนน้อย
- ปริมาณงานไม่แน่นอน
- ต้องเผชิญหน้าและคอยแก้ไขปัญหาเป็นระยะ ๆ
ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณโครงการทำก่อนฝัน ทรูปลูกปัญญา สถาบันอาศรมศิลป์ พี่ ๆ สถาปนิก และพี่ ๆ ทีมงานทำก่อนฝันทุกท่าน ที่ได้มอบโอกาสดี ๆ ให้กับเด็ก ม.ปลายอย่างพวกผม ได้มีโอกาสตามหาความฝันและค้นพบตัวของตัวเอง นอกเหนือจากความรู้และประสบการณ์ ผมยังได้มิตรภาพดี ๆ จาก เพื่อน ๆ พี่ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาอะไรมาทดแทนได้ ทั้งนี้ผมจะนำประสบการณ์ดี ๆ เช่นนี้ เป็นก้าวแรกของการทำตามความฝันและเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนให้สังคมนี้พัฒนาต่อไป...
สุดท้ายนี้หากมีข้อผิดพลาดประการใด ต้องขอกล่าวขอโทษมา ณ ที่นี้ด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดี ๆ เช่นนี้จะมีต่อไป หวังว่าทุก ๆ คนจะชอบบทความนี้กันนะครับ ขอบคุณครับ^^
เขียนโดย
นายพงศ์ภรณ์ อิ่มวิทยา (พงศ์) ม.5
โรงเรียนโพธิสารพิทยากร แผนการเรียน วิทย์ - คณิต
ทำก่อนฝัน THE DREAM EXPLORERS รุ่น 3