Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ละครนิเทศ จุฬาฯ ให้มากกว่าที่คิด แชร์ประสบการณ์จากพี่แป๋ม Acting coach

Posted By Plook TCAS | 08 ต.ค. 61
5,031 Views

  Favorite

หลาย ๆ คนคงเคยไปดูหรือได้ยินชื่อเสียงของละครนิเทศกันมาบ้าง ในบทความนี้ “พี่พิงค์” จะพาน้อง ๆ มาทำความรู้จักกับ Acting coach ละครนิเทศ “พี่แป๋ม” นาถธิดา พิทักษ์วรรัตน์ ปี 4 ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง สาขาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพี่แป๋มก็เป็น Acting coach หรือเป็นผู้ที่ดูแลเรื่องของนักแสดงทั้งหมดรวมถึงปูพื้นฐานของการแสดงของละครนิเทศกันค่ะ

 

ละครนิเทศ คืออะไร

ละครนิเทศเป็นละครประจำปี จัดทุกปี ปีละครั้ง ก็จะมีคนทั้งคณะมาช่วยกันทำ ธีมล่าสุดที่ทำไปก็คืออินเดีย ในชื่อ “สะบัดสาหรี่หนีโสด” ค่ะ
 

ภาพ : เพจ ละครนิเทศจุฬาฯ Lakorn Nitade Chula

 

ภาพ : เพจ ละครนิเทศจุฬาฯ Lakorn Nitade Chula


แรงบันดาลใจในการทำละครนิเทศ

เราก็แค่อยากลองทำดู จริง ๆ แล้วเคยเล่นละครอยู่แล้ว พอเราได้เข้าคณะมา มันมีการเปิดให้ออดิชั่นเลยไปลองดูเพราะเราอยากประสบการณ์ใหม่ ๆ ตอนแรกที่เข้ามาปีหนึ่งปีสองเราก็ได้เป็นนักแสดง พอขึ้นปีสามเราก็ไปอยู่ฝ่ายเมคอัพ และพอปีสี่เราก็ได้เป็นแอคติ้งโค้ช ก็ได้ลองทำในหลาย ๆ ตำแหน่งดูเราก็ได้ประสบการณ์มากขึ้นจากการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำละครเนี่ยแหละ

 

ได้อะไรบ้างจากการทำละคร

ได้เพื่อน ได้ความสัมพันธ์ ได้ฝึกทำงาน แต่ยังไงก็ตามต้องบอกก่อนว่าการทำงานในคณะมันไม่เหมือนกับข้างนอกเลย ในคณะนิเทศศาสตร์ของเรามีความเป็นพี่น้องกัน มันคือการที่ทุกคนมาช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างหรืออะไร แต่ทุกคนมาทำด้วยใจ สิ่งที่มันชัดเจนที่สุดคือความรู้สึกว่าเรากับเพื่อน ๆ น้อง ๆ มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันมากขึ้น
 

ภาพ : เพจ ละครนิเทศจุฬาฯ Lakorn Nitade Chula

 

ภาพ : เพจ ละครนิเทศจุฬาฯ Lakorn Nitade Chula


ส่วนที่ยากที่สุดของการทำละคร

เราว่ามันคือการที่เราไม่สามารถได้ทุกอย่างอย่างที่เราอยากได้ แน่นอนว่าด้วยความที่ละครเนี่ยเกิดจากคนหลาย ๆ คน ความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย ไม่งั้นมันก็ไม่สำเร็จถ้าเราขาดแรงจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ว่าการที่มีคนเยอะ ๆ มาทำงานด้วยกันเนี่ยแหละ เรื่องของความคิดต่าง ๆ มันก็หลากหลายมากขึ้น เราก็ต้องพยายามประนีประนอมกับทุก ๆ ฝ่าย ไม่ใช้ความคิดของตัวเองเป็นหลักเลย ยกตัวอย่าง เช่น แม้กระทั่งคนที่เป็นผู้กำกับก็ไม่สามารถตัดสินใจแบบหักดิบไปเลยได้เพราะทุกคนไม่ได้โดนจ้างมา มันเหมือนกับมีความเกรงใจในความคิดของแต่ละคนที่คิดไม่เหมือนกัน

 

สิ่งที่ชอบที่สุดในการทำงาน

สิ่งที่เราชอบที่สุดคือ การที่เราได้ใช้ชีวิตกับกลุ่มคนกลุ่มนึงหรือจะบอกว่ากับคนในคณะทุกคนที่ทำละคร เพราะมันไม่ใช่ทุกโอกาสที่จะได้คุยกันเยอะ ๆ อย่างตอนปีหนึ่งปีสองเราเป็นนักแสดง หลังเลิกเรียน หรือวันเสาร์และอาทิตย์ ก็จะมีนักแสดงทุกคน มีทีมเต้น แบ็คสเตจ ที่ต้องมารวมตัวกันเพื่อซ้อม พวกเราเลยสนิทกันและก็รักกันมาก ๆ

 

ภาพ : เพจ ละครนิเทศจุฬาฯ Lakorn Nitade Chula

 

ภาพ : เพจ ละครนิเทศจุฬาฯ Lakorn Nitade Chula

 

วิธีการทำงาน วิธีการแบ่งเวลา

คือเราทำสองอย่างทั้งเรียนและกิจกรรม ในเมื่อเราเลือกที่จะทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นมาแล้ว มันก็หมายความว่าเราต้องเหนื่อยกว่าคนอื่นเป็นสองเท่าอยู่แล้ว ถ้าจะรักษาเรื่องเรียนไปด้วยเราก็ต้อง “เลือกวิชาเรียน” ในที่นี้หมายถึงว่าวิชาเรียนที่เราลงบางวิชาจะเป็นเลคเชอร์ที่เราสามารถกลับไปอ่านเองได้ เราก็จะเอาเวลานั้นไปทำกิจกรรม แต่ถ้าวิชาไหนสำคัญเราก็ต้องเลือกวิชาที่สำคัญกับเราก่อนกิจกรรม พูดง่าย ๆ ก็คือชั่งน้ำหนักเอาว่า ตอนช่วงเวลานั้นอะไรสำคัญมากกว่ากัน และก็ตัดสินใจเลือกไปเลย เพราะถ้าเราทำอะไรครึ่ง ๆ กลาง ๆ มันอาจจะออกมาไม่ดีทั้งคู่ก็ได้

 

คิดว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้ละครลุล่วงไปได้ด้วยดี

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ใจ” เอาจริงๆแล้วมันต้องมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างเลย ต้องอดทนด้วย อย่างปีแรกที่เราเข้ามา คือไฟของความอยากลอง แต่ปีอื่น ๆ คือต้องรักจริงไม่งั้นก็ไปไม่รอด คือเราต้องให้ทั้งแรงกายแรงใจเยอะมาก ๆ และทุก ๆ คนที่เข้ามาก็ต้องมีใจรักที่จะทำเหมือนกัน ละครถึงจะสำเร็จไปได้ด้วยดี

 

คนที่อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของละครนิเทศฯ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง จำเป็นต้องเป็นเด็กนิเทศฯ อย่างเดียวไหม

จริง ๆ แล้วคือไม่ต้องมีอะไรเลย แต่อาจจะมีอยู่อย่างหนึ่งคือ “กล้าที่จะผิด” เพราะทุกคนเข้ามาในคณะไม่มีใครเข้ามาแบบมืออาชีพ บางคนคิดว่าตัวเองไม่เก่งเลยไม่ทำเพราะว่าแค่กลัว แต่จริง ๆ แล้วใครอยากทำอะไรก็ทำได้เลย จริง ๆ แล้วทุกฝ่ายก็มีการออดิชั่น แต่เกณฑ์ก็ไม่ได้เลือกที่ความสามารถขนาดนั้น แต่ฝ่ายอื่นคืออยากทำก็ทำ ละครนิเทศฯคนที่มาทำก็เป็นนิเทศฯล้วนเลย แต่อย่างการทำฉากก็อาจจะมีคณะอื่นมาช่วยบ้าง แต่หลัก ๆ ก็คือเด็กนิเทศฯทั้งนั้นเลยค่ะ

 

ได้ใช้เนื้อหาที่เรียนมาจากคณะมาทำละครหรือเปล่า

ไม่ได้ใช้โดยตรงแต่ได้นำมาประยุกต์ใช้บ้าง อย่างสมมุติเรียนการเขียนข่าวมันก็คือคนละแบบกับพีอาร์ที่เอามาทำละคร แต่เราก็ต้องฉลาดในการเอามาประยุกต์ใช้ได้
 

ภาพ : เพจ ละครนิเทศจุฬาฯ Lakorn Nitade Chula


หลาย ๆ คนบอกว่าจบนิเทศไปไม่มีงานทำจริงหรือไม่

สุดท้ายแล้วในปัจจุบันนี้ เราว่าทุกอาชีพตกงานอยู่แล้วถ้าหากไม่รู้จักที่จะปรับตัว อย่างเด็กนิเทศฯแบบเก่าที่ยังไม่รู้จักคำว่า “ดิจิตอล” โลกมันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาอยู่แล้วเราก็ต้องตามให้ทัน สุดท้ายมันคือการพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันโลก หรือยกอีกตัวอย่าง ต่อให้เรียนบริหาร และไปทำร้านโชห่วย ไม่พัฒนาเป็นเซเว่นหรือร้านสะดวกซื้อมันก็ไม่มีใครไปซื้อคุณอยู่ดี เพราะฉะนั้นแล้วสุดท้ายจะตกงานหรือไม่ตกงานก็อยู่ที่ตัวเราเองนี่แหละ

 

ส่วนตัวพี่แป๋มแล้วอยากทำอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับละคร เพราะว่าเราชอบละครแล้วมันเป็นสิ่งที่อยู่ด้วยแล้วถึงแม้เหนื่อยแค่ไหนเราก็ไม่ร้องไห้ ถึงเราเหนื่อย เราเครียด แต่เราก็อยากทำต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเรามีใจรักที่จะทำมันจริง ๆ

 

ฝากถึงน้อง ๆ รุ่นใหม่ที่อยากเข้ามาทำละครนิเทศด้วย

อยากทำอะไรก็ทำ อยากลองอะไรก็ลอง อย่าปิดกั้นตัวเอง บางคนชอบเต้นแต่ไม่เคยลองไปออดิชั่นทีมแดนซ์เลย มันก็เหมือนกับปิดกั้นโอกาสตัวเอง จริง ๆ แล้วเราควรที่จะคว้าโอกาสไว้ และในทางกลับกัน ต่อให้บางคนชอบละครและก็ทำแต่ละครไม่ยอมทำอย่างอื่นเลยนอกจากสิ่งที่คิดว่าตัวเองชอบมันก็ถือเป็นการปิดกั้นโอกาสในการลองสิ่งใหม่ ๆ มันต้องลองอะไรใหม่ ๆ บ้างแล้วเราจะได้ค้นพบตัวเองว่าอะไรที่เราทำได้บ้างและทำไม่ได้บ้าง
 

“พี่แป๋ม” นาถธิดา พิทักษ์วรรัตน์ ปี 4 สาขาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


และนี่ก็คือพี่แป๋ม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่นเองค่ะ สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่มีความฝัน ความตั้งใจ พี่พิงค์และพี่แป๋มขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทำตามความฝัน อย่ากลัวที่จะลงมือทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำหรือเริ่มที่จะทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เพราะสุดท้ายแล้วชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยก็เป็นเหมือนกับสนามเด็กเล่นให้น้อง ๆ ได้ลองใช้ชีวิตและทำความรู้จักกับตัวเองมากขึ้นนั่นเองค่ะ

 

เรื่อง พิชญา วัชโรดมประเสริฐ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow