RIP Current หรือที่เรียกว่ากระแสน้ำรูปเห็ด เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่พบได้บริเวณชายฝั่งทะเล โดยเป็นคลื่นที่ทำให้เสียชีวิตได้ ในสหรัฐอเมริกามีสถิติว่า คนประมาณ 100 คน จมน้ำเสียชีวิตเนื่องมาจากกระแสน้ำนี้ทุก ๆ ปี และเจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือคนกว่าหมื่นคนจากกระแสน้ำรูปเห็ดนี้
RIP Current หรือคลื่นดูด เกิดขึ้นเมื่อคลื่นเคลื่อนตัวจากน้ำลึกสู่น้ำตื้น และมีสิ่งกีดขวางขณะที่เคลื่อนตัวเข้าใกล้บริเวณชายฝั่ง ทำให้คลื่นแตกตัวในลักษณะคล้ายดอกเห็ด กลายเป็นกระแสน้ำที่ไหลวนเป็นวงกลม และเกิดช่องทางน้ำระหว่างกระแสน้ำที่ไหลเป็นวงกลมนั้น ซึ่งบริเวณนี้กระแสน้ำจะพัดออกจากฝั่งด้วยกำลังที่ค่อนข้างแรง ดังนั้น หากลงเล่นน้ำบริเวณกระแสน้ำรูปเห็ดจะทำให้โอกาสถูกคลื่นซัดออกไปในทะเลลึกอย่างรวดเร็ว จนเป็นเหตุทำให้เกิดการสูญเสียดังที่เห็นในข่าว
สิ่งกีดขวางที่ขวางกั้นการเคลื่อนที่ของคลื่นเข้าสู่ชายฝั่ง และเป็นปัจจัยทำให้เกิด RIP Current ได้แก่
1. สิ่งกีดขวางจากธรรมชาติ เช่น ตะกอนทราย ปะการัง โขดหิน โดยตะกอนทรายอาจเกิดจากช่วงที่มีพายุรุนแรงทำให้มีลมพัดตะกอนทรายต่าง ๆ ไหลย้อนลงไปรวมกันอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล และเกิดเป็นสันทรายใต้ท้องน้ำ ซึ่งกีดขวางการไหลกลับสู่ทะเลของกระแสน้ำ ทำให้กระแสน้ำถูกบีบให้ต้องไหลกลับสู่ทะเลด้วยช่องทางแคบ ๆ ที่อยู่ระหว่างสันทราย กระแสน้ำจึงไหลอย่างรวดเร็วและรุนแรง หากกำลังว่ายน้ำอยู่ในบริเวณกระแสน้ำรูปเห็ดนี้ ก็จะถูกกระแสน้ำพาออกสู่น้ำลึกไปอย่างรวดเร็ว
2. สิ่งก่อสร้างที่สร้างยื่นออกมาจากทะเล ทำให้กระแสน้ำไหลกลับสู่ทะเลไม่สะดวก เช่น สะพาน
ปรากฏการณ์กระแสน้ำรูปเห็ดเราสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า จากลักษณะดังนี้
1. สังเกตได้จากคลื่นหมุนวนหรือร่องน้ำบริเวณชายหาด มีลักษณะเป็นรูปเห็ดขนาดใหญ่ โดยมีบริเวณลำต้นยื่นออกจากชายฝั่ง ส่วนบริเวณส่วนหัวเห็ดยื่นออกไปในทะเลลึก ยิ่งเห็ดมีขนาดใหญ่เท่าไร กระแสน้ำที่ไกล
2. สังเกตจากสีของน้ำทะเลที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เนื่องจาก RIP Current เป็นกระแสน้ำที่พัดเอาตะกอนออกนอกชายฝั่ง ดังนั้น กระแสน้ำบริเวณนี้จะมีลักษณะขุ่นกว่าปกติ
3. สังเกตจากการเคลื่อนที่ของตะกอน เศษขยะ สาหร่าย หรือฟองคลื่นที่มีการเคลื่อนที่ไหลย้อนเส้นทางของคลื่น
4. สังเกตจากบริเวณที่คลื่นซัดไม่ปะติดปะต่อกัน มีลักษณะเป็นร่อง แนวคลื่นขาดหาย
1. หากพลัดหลงเข้าไปอยู่ใน RIP Current ให้ตั้งสติและอย่าว่ายทวนกระแสน้ำ
2. ลอยตัวไปตามกระแสน้ำจนอยู่ในบริเวณที่กระแสน้ำมีความรุนแรงน้อยลง แล้วจึงว่ายไปในทิศทางที่ขนานกับชายฝั่งตามทิศทางลม
3. เมื่อพ้นจากบริเวณ RIP Current แล้วจึงว่ายกลับเข้าหาฝั่ง คลื่นรอบนอกจะเป็นตัวช่วยพาเรากลับเข้าฝั่งเอง