ในปัจจุบันมีวิธีทางการแพทย์ที่ช่วยให้คู่รักมีลูกได้ง่ายขึ้น 2 วิธี ที่เป็นที่นิยมและค่อนข้างเห็นผลชัดเจน นั่นคือ
1. การทำกิฟต์ (GIFT ; gamete intra – fallopian transfer)
2. การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF : in vitro fertilization)
วันนี้เราจะมาศึกษาไปด้วยกันนะคะว่า แต่ละวิธีมีขั้นตอนอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ในการทำกิฟต์และการทำเด็กหลอดแก้ว จะต้องมีการเก็บไข่และอสุจิออกมาจากร่างกายของพ่อและแม่ก่อน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากสาเหตุส่วนใหญ่ที่พ่อและแม่มีลูกไม่ได้และหันมาใช้วิธีนี้มักมาจากการที่ฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายมีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับท่อนำไข่ เยื่อบุมดลูก หรืออสุจิไม่แข็งแรง ดังนั้น แพทย์จึงจำเป็นต้องนำอสุจิและไข่ออกมาก่อนเพื่อเตรียมพร้อมต่อการกระบวนการปฏิสนธิในขั้นตอนต่อไป
สำหรับวิธีการที่ใช้ในการทำกิฟต์และเด็กหลอดแก้ว จะมีความเหมือนกันในระยะแรก ๆ ของการเก็บไข่และอสุจิ โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. แพทย์จะมีการใช้ยากระตุ้นเพื่อให้เกิดการตกไข่ของฝ่ายหญิง ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้ได้ไข่จำนวนหลาย ๆ ใบ โดยมักจะฉีดยาต่อเนื่องเป็นประจำ ประมาณ 10 – 12 วัน แล้วแต่การตอบสนองของแต่ละคน
2. เมื่อไข่ที่ตกมาสุกเต็มที่แล้ว แพทย์จะทำการเจาะเก็บไข่จากฝ่ายหญิง พร้อมทั้งเก็บอสุจิจากฝ่ายชายในวันเดียวกัน
โดยในการทำกิฟต์นั้น แพทย์จะนำเอาไข่และอสุจิที่เตรียมไว้ใส่กลับเข้าไปในท่อนำไข่ของฝ่ายหญิงผ่านการผ่าตัดเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิภายในร่างกาย (การทำกิฟต์จึงวิธีที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด) ส่วนการทำเด็กหลอดแก้ว แพทย์จะนำไข่และอสุจิที่ได้ไปทำการปฏิสนธิกันในห้องปฏิบัติการ (สาเหตุที่เรียกว่าเด็กหลอดแก้วเพราะการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการในวัสดุที่คล้ายกับหลอดแก้ว) พร้อมกับฉีดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนให้กับฝ่ายหญิงเพื่อเตรียมมดลูกให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ โดยเมื่อตัวอ่อนที่ได้จากการปฏิสนธิมีความแข็งแรงพอแล้ว แพทย์จะฉีดตัวอ่อนกลับเข้าไปในมดลูกเพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปตามขั้นตอนต่อไป
สรุปง่าย ๆ ก็คือ การทำกิฟต์กับการทำเด็กหลอดแก้วมีขั้นตอนในการเก็บไข่และอสุจิที่เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ว่า การทำกิฟต์จะคล้ายเคียงกับวิธีธรรมชาติที่สุดตรงที่มีการนำไข่และอสุจิเข้าไปปฏิสนธิภายในร่างกายของฝ่ายหญิง ส่วนการทำเด็กหลอดแก้วจะเป็นการนำไข่และอสุจิออกมาปฏิสนธิภายนอกร่างกายจนเกิดเป็นตัวอ่อนก่อนแล้วจึงนำไปฝังไว้ในมดลูกของเพศหญิงนั่นเองค่ะ