“หัวใจ” เป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อเป็นส่วนใหญ่ พบอยู่ในช่องอกค่อนไปทางด้านซ้ายของคนเรา โดยขนาดของหัวใจนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งเราสามารถคะเนขนาดของหัวใจคร่าว ๆ ได้จากขนาดกำปั้นของเราเอง เนื่องจากขนาดของหัวใจมักจะใหญ่กว่ากำปั้นของเราเพียงเล็กน้อยเท่านั้นค่ะ
สาเหตุที่คนเราอยู่ไม่ได้หากไม่มีหัวใจนั้นเป็นเพราะว่า เราทุกคนจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนเพื่อหล่อเลี้ยงเซลล์ทุกเซลล์ภายในร่างกาย ดังนั้น การที่หัวใจมีหน้าที่สำคัญในการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ก็เท่ากับว่า หัวใจกำลังทำหน้าที่ในส่งออกซิเจนที่อยู่ในเลือด (ซึ่งได้จากการฟอกของปอด) ไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายนั่นเอง
สำหรับโครงสร้างของหัวใจถูกแบ่งออกเป็น 4 ห้อง ได้แก่ ด้านบน 2 ห้อง และด้านล่างอีก 2 ห้อง เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแต่ละห้องจะมีหน้าที่และชื่อเรียกที่แตกต่างกัน ดังนี้
- หัวใจห้องบนขวา (Right atrium) เป็นส่วนที่คอยรับเลือดจากร่างกายส่วนบนและส่วนล่างผ่านหลอดเลือดดำใหญ่ 2 เส้น คือ หลอดเลือดดำบน (superior vena cava) และหลอดเลือดดำล่าง (Inferior vena cava)
- หัวใจห้องล่างขวา (Right ventricle) เป็นส่วนที่ทำหน้าที่รับเลือดต่อจากหัวใจห้องบนขวา และส่งเลือดต่อไปยังปอดเพื่อทำการฟอก โดยผ่านลิ้นหัวใจพัลโมนารี (pulmonary valve) และหลอดเลือดแดงพัลโมนารี (pulmonary arteries)
- หัวใจห้องบนซ้าย (Left atrium) เมื่อเลือดได้รับการฟอกจากปอดแล้ว จะเป็นเลือดที่มีออกซิเจนอยู่สูง ซึ่งเลือดนี้จะเดินทางเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้าย โดยผ่านหลอดเลือดดำพัลโมนารี หรือหลอดเลือดดำจากปอด (pulmonary veins) จากนั้นจึงส่งต่อไปยังหัวใจห้องล่างซ้าย
- หัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricle) ทันทีที่เลือดมาถึงหัวใจส่วนนี้ เลือดจะถูกสูบฉีดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่านลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic valve) และหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (Aorta) ดังนั้น หัวใจส่วนนี้จึงจำเป็นจะต้องมีผนังหัวใจที่หนาและแข็งแรงที่สุด ทั้งยังเป็นห้องหัวใจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดด้วยเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงพอที่จะสูบฉีดเลือดออกไปทั่วร่างกายได้
ในการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนั้นจะทำให้เกิดการบีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยเราจะเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า "การเต้นของหัวใจ" ซึ่งการบีบและคลายตัวดังกล่าวยังส่งผลต่อระดับแรงดันของหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดไปทั่วร่างกายด้วย แรงดันที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า "ความดันโลหิต" และเราสามารถวัดได้ด้วยเครื่องมือแพทย์