สวัสดีค่ะ ชื่อพลอยนะคะ ในบล็อกนี้พลอยอยากจะพาทุกคนไปรู้จักกับโครงการนึงที่มองปัญหาการ ' ได้แค่ฝัน ' ของพวกเราชาวม.ปลาย โครงการนี้ชื่อว่า The Dream Explorers ของ ทรูปลูกปัญญา นั่นเองค่ะ โครงการนี้ให้โอกาสเด็กม.ปลายได้มีโอกาสมาฝึกงานในอาชีพที่แต่ละคนสนใจกับองค์กรแนวหน้าของสายอาชีพนั้น ๆ โดยปัจจุบันมีถึง 29 สาขาอาชีพ และอาชีพที่พลอยได้มีโอกาสไปฝึกงานคือ นักวิทยาศาสตร์การอาหารที่บริษัทซีพีแรม วันนี้พลอยจะมาเล่าถึงประสบการณ์ให้ทุกคนที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มาแต่สนใจในอาชีพนี้ได้ความรู้ไปพร้อม ๆ กันเลย
นักวิทยาศาสตร์การอาหารถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารเลยทีเดียวโดยมีหน้าที่สำคัญหลัก ๆ คือใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ (Research and Development) ออกแบบกระบวนการผลิต (Production) และประเมินคุณภาพของอาหารเพื่อรักษามาตรฐานที่กำหนดไว้ (Quality Assurance) โดยส่วนใหญ่จะมีสถานที่ทำงานคือในห้อง lab นั่นเอง แต่ถึงอย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์การอาหารก็สามารถเป็น Sale ได้เช่นกัน เรียกได้ว่าสายงานนี้มีตลาดแรงงานที่กว้างมากและเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ
พลอยและเพื่อน ๆ ได้มีโอกาสในการดูงานและฝึกงานอยู่ประมาณสองวันเต็ม ๆ โดยจะแบ่งออกเป็นสามอย่างหลัก ๆ คือ ฟังบรรยาย เดินดูงาน และลองทำงาน ค่ะ
วันแรกจะมีพี่กร ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาบรรยายเกี่ยวกับการเป็นนักวิทยาศาสตร์การอาหารในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พี่กรเล่าให้ฟังถึงความซับซ้อนกว่าจะออกมาเป็นสินค้า ๆ หนึ่ง ต้องใช้เวลา 4-5 เดือนเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น ข้าวปั้นญี่ปุ่นที่ทุกคนอาจจะเคยเห็นผ่านตาบ้างใน 7-11 กว่าจะออกมาเป็นสิ่งที่เราเห็นนั้นพี่ ๆ นักวิทยาศาสตร์อาหารต้องคิดตั้งแต่ขบวนการแรกคือการหาวัตถุดิบที่เหมาะสม ข้าวแบบไหนถึงจะดี ปลาต้องซื้อจากที่ไหน ทำยังไงให้รสชาติออกมาอร่อยไม่แพ้เจ้าดัง ๆ หลังจากที่ได้สูตรมาแล้ว ก็ได้เวลานำเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่งไม่ใช่ว่าได้สูตรกับข้าวปั้นหนึ่งชิ้นแล้ว จะสามารถใช้ได้เลย เพราะในความเป็นจริงนั้นพี่ ๆ ต้องนำสูตรนั้นมาปรับอีกเพื่อให้เหมาะกับการผลิตสินค้าจำนวนมาก ๆ
หลังจากที่เราได้รู้ถึงขั้นตอนในการปฏิบัติงานของนักวิทยาศาสตร์การอาหารใน lab R&D แล้วเนี่ย ก็มาถึงขั้นตอนในการลงมือทำบ้าง โดยพี่กรและพี่เลี้ยงให้เราได้ลองทำข้าวปั้นตั้งแต่การจัดใส่ ขึ้นรูป และห่อใส่บรรจุภัณฑ์ เป็นช่วงที่สนุกมาก ๆ เลยค่ะ เคยสงสัยมานานว่าเค้าห่อกันอย่างไรวันนี้ก็ได้มาเห็นแล้ว
ในช่วงบ่าย พี่เปิ้ล ผู้จัดการฝ่ายการประกันคุณภาพ ได้มาให้ความรู้เราเกี่ยวกับการคงมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารตั้งแต่การตรวจคัดกรองวัตถุดิบ ความสะอาดในการผลิต จนไปถึงการรับข้อร้องเรียนของผู้บริโภคมาปรับปรุงสินค้า โดยสายงานนี้นอกจากจะต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แล้ว ด้านกฎหมายและความสามารถในการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาต้องดีเยี่ยมด้วย
อย่างที่ทุกคนในตอนนี้อาจจะทราบแล้วว่า QA ต้องดูแลในหลายส่วนเลยตั้งแต่คัดเลือกวัตุดิบถึงสุ่มตรวจ วันนี้พวกเราได้มีโอกาสไปลองฝึกงานใน lab Sensory ของ QA ถือเป็นส่วนที่เราตื่นเต้นกันมากที่สุดเพราะนอกจากจะได้ชิมเปรียบเทียบอาหารเหมือนกับเชฟแล้ว ยังได้ประเมินคุณภาพอาหารผ่านการสังเกตสีของหมู ผัก ชั่งน้ำหนัก จนไปถึงการนั่งนับเม็ดข้าวเพื่อหาส่วนที่แตกหักเลยทีเดียว
เนื่องจากพลอยเห็นว่าอาชีพนี้มีหลายตำแหน่งที่สามารถทำได้ พลอยเลยแบ่งเป็นสิ่งที่คิดว่าสำคัญที่สุดในแต่ละสายงาน
1. นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ R&D: ความคิดสร้างสรรค์ ความรับผิดชอบ
2. นักประกันคุณภาพ QA: ความรอบคอบ มองปัญหาอย่างเป็นระบบ
แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับทุกอาชีพคือ ใจที่รัก เพราะความรักจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราภาคภูมิใจในวันที่เราทำสำเร็จ และเป็นกำลังใจให้กับเราในวันที่ท้อถอย
ในทุกอาชีพย่อมมีข้อดีข้อเสียของมัน โดยแต่ละคนก็มองสิ่งเหล่านั้นคนละมุมด้วยเช่นกัน สำหรับพลอยแล้วข้อเสียของอาชีพนี้คือการที่เราต้องผลิตสินค้าให้ตรงตามสเปคซึ่งบางครั้งเราก็รู้ว่าอาจจะไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพมากนักเพื่อทดแทนกับความอร่อยของตัวอาหารนั้น น้ำตาล โซเดียม ไขมันอาจจะสูง พลอยรู้สึกไม่ดีที่ตัวเองเป็นตัวการสำคัญที่สนับสนุนการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เราเป็นคนคิดค้นไมใช่เจ้าของบริษัทอาจจะไ่ม่มีสิทธิตัดสินใจตรงนี้ได้
สุดท้ายนี้พลอยอยากจะฝากข้อคิดดี ๆ ข้อนึงในกับนักเรียนทุกคน ที่ตอนนี้กำลังเรียนอยู่
พลอยขอขอบคุณทรูปลูกปัญญาที่ให้โอกาสพวกเราได้ ' ลองทำ ' ก่อนที่จะฝัน และขอขอบคุณซีพีแรมที่มาให้ความรู้พวกเราตลอดระยะเวลาสองสามวันนี้ พลอยรู้สึกโชคดีมาก ๆ ที่ได้มีโอกาสได้ไปสัมผัสการทำงานของจริงและได้มีโอกาสมาเขียนบล็อกให้ทุกคนที่อาจจะมีความฝันคล้ายกันได้ติดตาม ขอขอบคุณจากใจค่ะ และหวังว่าจะมีโครงการนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ให้เป็นเหมือนกับแสงเทียนที่ส่องสว่างนำทางพวกเราเยาวชนไทยให้เดินตามความฝันต่อไปค่ะ