สวัสดีค่ะ ท่านที่กำลังอ่าน Blog นี้ทุกท่าน วันนี้ดิฉันนางสาววศินี กุลวัฒน์ ( การ์ตูน ) จะมาแนะนำอาชีพเชฟอาหารไทยในมุมมองที่แตกต่างจากประสบการณ์การที่ได้เข้าไปฝึกงานในร้านอาหารโบ.ลานจริง ๆ โดยประวัติคร่าว ๆ คือ ร้านอาหารโบ.ลานแห่งนี้ เป็นร้านอาหารไทยที่มีความเชื่อและอุดมคติในการทำอาหาร โดยแน่วแน่ที่จะเลือกใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงรสที่อยู่ในอาณาบริเวณของประเทศไทยเท่านั้น รายการอาหารของร้านโบ.ลาน จึงถูกคิด ถูกปรุงและเปลี่ยนแปลงไปแต่ละฤดูตามที่ธรรมชาติมี และนอกจากจะรักธรรมชาติแบบสุด ๆ ก็ยังอร่อยถูกปากผู้คนที่ได้มาลิ้มลอง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ร้านอาหารโบ.ลานเป็น 1 ใน 98 ร้านอาหารไทยที่ผ่านการคัดเลือกโดยผู้ตรวจสอบมิชลิน เป็นร้านอาหารแนะนำใน MICHELIN GUIDE เป็น 1 ใน 17 ร้านที่ได้รับ ดาวมิชลินในคู่มือ MICHELIN GUIDE Bangkok 2018 โดยร้านโบ.ลานได้รับ 1 ดาว เพราะเป็นร้านอาหารไทยจากฝีมือการปรุงของเชฟชาวไทยค่ะ
ในแต่ละวันเหล่าเชฟทั้งหลายจะต้องคิดเมนูอาหารว่าวันนี้ในเมนูจะต้องทำอะไรบ้างหลังจากนั้นก็ตรวจสอบและเตรียมวัตถุดิบต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ในการประกอบอาหาร เมื่อเตรียมเสร็จก็จะประกอบอาหารตามเมนูต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในวันนั้น ๆ ควบคู่ไปกับการควบคุมคุณภาพและตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นเชฟที่มีประสบการณ์ก็จะให้คำแนะนำและสาธิตการประกอบอาหาร กับเชฟท่านอื่นที่ประสบปัญหา
การเข้างานคือ เวลา 14.00 น. เมื่อมาถึงร้านอย่างแรกที่จะต้องทำคือ เปลี่ยนชุดเป็นยูนิฟอร์มเชฟเพื่อความสะดวกในการทำงานหลังจากนั้นจึงจะเดินเข้าครัว และเมื่อเข้าครัวด้วยความที่เป็นคนไทยอย่างแรกต้องกล่าวทักทายสวัสดีเชฟผู้ใหญ่ และพนักงานในร้านทุกท่าน หลังจากนั้นก็เข้าไปหาเชฟเพื่อช่วยเตรียมวัตถุดิบต่าง ๆ เช่น ขูดมะพร้าว เด็ดใบสะระแหน่ เด็ดถั่วงอก ทำน้ำใบเตย เป็นต้น พอถึงเวลา 16.30 – 17.00 น. จะเป็นเวลาพักรับประทานข้าวเย็นและทำธุระส่วนตัว หมดเวลาพักก็จะกลับมาทำงานเตรียมวัตถุดิบต่าง ๆ เมื่อถึงเวลา 17.30 น. เฮดเชฟจะเรียกเชฟทุกคนมาบรีฟงานโดยพูดถึงปัญหาและสิ่งที่จะต้องแก้ไขเมื่อเกิดความผิดพลาด และในทุก ๆ วันก่อนจะจบการบรีฟงานจะต้องมีเชฟ 1 คนที่พูด Quote โดยจะมีเชฟอีก 1 คนที่คอยจดปัญหาและ Quote ของแต่ละวันไว้ในสมุดจดเมื่อไม่มีอะไรแล้วทุกคนจะแยกย้ายไปทำงานต่อจนถึงเวลาประมาณ 18.30 น. โดยประมาณจะมีการเปิดครัวให้ลูกค้าได้เข้ามาดู และเฮดเชฟจะกล่าวทักทายลูกค้าที่เข้ามาในครัวว่า “ กินข้าวรึยัง ” ทุกคนในครัวจะพูดซ้ำอีกหนึ่งรอบว่า “ กินข้าวรึยัง ” หลังจากนั้นเฮดเชฟจะเสิร์ฟและอธิบายเมนูอาหาร 1 เมนู คือ First bite ให้ลูกค้าฟัง ส่วนเชฟท่านอื่น ๆ ก็จะทำงานตามหน้าที่ต่อไป โดยจะรับออเดอร์ลูกค้าจนถึงเวลา 22.30 น. และเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้าตามเมนูต่าง ๆ เมื่อเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้าจนครบแล้วจึงจะเก็บทำความสะอาดอุปกรณ์พอทำเสร็จจึงจะจบการทำงานในวันนั้น ๆ
- มีใจรักในการทำอาหาร ควบคู่ไปกับการรักความสะอาดและถูกต้องตามหลักอนามัย
- ทักษะการสื่อสาร ต้องสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมีความชัดเจนมากที่สุด
- ทักษะทางภาษา นอกจากในครัวจะมีเชฟชาวไทยแล้วก็ยังมีเชฟชาวต่างชาติอีกด้วย ทักษะทางภาษาอังกฤษจึงมีความจำเป็นมาก
- มีหัวศิลปะ หัวศิลปะในทีนี้คือ การจัดตกแต่งจานอาหารให้ดูน่ารับประทาน เพราะหน้าตาของอาหารจะเป็นแรงดึงดูดให้ลูกค้าสนใจในอาหารจานนั้น ๆ
- การจัดสรรเวลาต้องดีเยี่ยม เมื่อลูกค้าสั่งอาหารจะต้องรีบทำและเสิร์ฟตามให้ได้ตามเวลาที่เฮดเชฟกำหนด เพราะจะให้ลูกค้ารอนานไม่ได้
- และข้อที่สำคัญที่สุดและเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีคือ ความอดทน และทำงานภายใต้ความกดดันได้
ข้อดีคือ
- รายได้มั่นคง
- เป็นอาชีพที่มีความต้องการบุคลากรเป็นอย่างมาก
- มีโอกาสที่จะได้รับการเข้าทำงานสูง
ข้อจำกัดคือ
- เวลาเลิกงานไม่แน่นอน
- มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เช่น ปวดขา ปวดแขน เนื่องจากการที่จะต้องยืนทำงานเป็นเวลานาน
- มีความกดดันสูง
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทรูปลูกปัญญาที่มีโครงการดี ๆ อย่างโครงการทำก่อนฝัน และ ขอขอบคุณร้านอาหารโบ.ลาน ที่ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนอย่างดิฉันได้เข้ามามีส่วนร่วมในการหาประสบการณ์การทำงานอาชีพในฝันเพื่อเรียนรู้การทำงานที่แท้จริงของอาชีพเชฟค่ะ
วศินี กุลวัฒน์
6-10-61