Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หมอ!! ชีวิตดี ๆ ( ? ) ที่ลงตัว จากนักผจญฝันตัวเล็ก ๆ ในโครงการ The Dream Explorers:3

Posted By Natnicha | 06 ต.ค. 61
2,841 Views

  Favorite
                                                                                        ถ่ายโดย นางสาวอรไพลิน สนิทยา

หมอแล้วยังไง

หมอ อาชีพยอดฮิตในสายตาหลายๆคนในตอนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็อาจจะมีผู้ใหญ่รอบ ๆ ตัวเราพูดว่า " เป็นหมอสิลูก " " เรียนเก่งอย่างงี้ไปเป็นหมอซิคะ " แต่ถ้าหากเราหันไปถามคนที่เป็นหมอจริง ๆ ทุก ๆ คนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า " อยากเป็นหมอหรอ...คิดดี ๆ ก่อนนะ " " อย่ามาเป็นเลยมันเหนื่อยนะ " พอพวกเราได้ยินก็อาจจะอุทานมาในใจเป็นคำโต ๆ เลยว่า เอ๊ะ!! ทำไมคำพูดมันช่างต่างกันอย่างงี้ล่ะ!!?

ตัวเจ้าของบล็อกเองถึงแม้ว่าอยากจะเป็นหมอหรือจิตแพทย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้วแต่พอได้ยิน 2 ประโยคที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วนี้ก็ได้แต่สงสัยอยู่ในใจทำไมกันนะ ถึงแม้จะหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมากมายเพื่อหาคำตอบแต่ก็ยังไม่ค่อยจะแน่ใจเพราะข้อมูลจากในเน็ตก็ใช่ว่าจะใช้ได้เสมอไป จึงได้ออกเดินทางตามหาคำตอบของปัญหาและหาประสบการณ์ของอาชีพในฝันที่จะต้องกลายเป็นจริงในอนาคตนี้จนได้มาเจอกับโครงการ " ทำ ก่อน ฝัน หรือ The Dream Explorers " ซึ่งเป็นโครงการของทรูปลูกปัญญา ที่ได้เสนอโอกาสให้พวกเราเด็กมัธยมได้มาหา ได้พิสูจน์ ได้มา ทำก่อน เพื่อที่จะได้ทำ ฝัน ให้กลายเป็นจริง หรือได้ให้เรามาเช็คก่อนว่าฝันที่เรากำลังมีนั้นมันใช่จริง ๆ รึเปล่า โดยเจ้าของบล็อกได้เข้ามาทำก่อนฝันในอาชีพ แพทย์ ของหน่วยงาน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พิมพ์มาซะยาวขนาดนี้แล้ว มาเริ่มกันเลยดีว่า

เนื่องจากว่าเป็นโครงการที่ให้เราได้ไปฝึกในโรงพยาบาลจริง ๆ เป็นเวลา 4 วันเต็ม ๆ เราจะมารีวิวสั้น ๆ เกี่ยวกับกิจกรรมที่เราได้ทำในวันนั้น ๆ ก่อน

Day 1

                                                                              ถ่ายโดย นางสาวอรไพลิน สนิทยา

วันแรกตอนเช้าเริ่มจากการที่เราได้มีพี่พยาบาลพาเราไปดูทั่ว ๆ โรงพยาบาลที่ตึกศูนย์การแพทย์มะเร็งทุกแผนกทุกซอกทุกมุม!! (ไม่ขนาดนั้นหรอก) ก็คือพี่เขาได้พาเราเดินดูในโรงพยาบาลในทุก ๆ ชั้นว่ามีอะไรบ้าง ชั้นนี้ทำอะไรบ้าง โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์นั้นตัวตึกศูนย์มะเร็งประกอบด้วยชั้นทั้งหมด 14 ชั้น โดยที่แต่ละชั้นก็จะมีการดูแลที่ไม่เหมือนกันเช่น ชั้นใต้ดินจะมีการใช้รังสีบำบัด เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ชั้นที่ 1 จะมีแผนกฉุกเฉินและการคัดกรองผู้ป่วย  ชั้นที่ 4 จะเป็นการใช้รังสีการแพทย์ มีการใช้รังสีตรวจสอบมะเร็งเต้านม มีการใช้ CT scan ร่วมถึงการใช้เครื่อง MRI และ Ultrasound ตอนบ่ายพี่เขาก็พาเราไปดูอีกศูนย์ย่อยของทางโรงพยาบาลที่ชื่อว่า ศูนย์การแพทย์จุฬาเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งจะมุ่งเน้นไปในด้านการรักษาเกี่ยวกับโรคหัวใจ ร่วมถึงที่นี้มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาก ๆ ถือว่าเป็นการได้ดูงานของโรงพยาบาลที่ตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง

Day 2

                                                                            ถ่ายโดย นายคุณาธิป เมืองแก้ว

เป็นการเริ่มฝึกงานหรือดูงานในโรงพยาบาลจุฬาาภรณ์อย่างจริงจังโดยในตอนเช้าเริ่มจากการที่เราได้เขาร่วมการพูดคุยของพี่ ๆ หมอและคนไข้เป็นเคส ๆ ไปโดยแผนกที่เราได้ไปคือแผนกสูตินารี เราจะได้นั่งฟังพี่เค้าพูดกับคนไข้ว่าคนไข้คนนี้เป็นโรคอะไรมาบ้าง ผ่านการรักษาอะไรมาแล้วบ้าง วันนี้มาตรวจหรือมาฟังผลของการเช็คครั้งก่อนเป็นยังไงมีอะไรต้องเป็นห่วงไหม โดยระหว่างเปลี่ยนคนไข้เราก็ได้มีโอกาสถามเรื่องอาชีพหมอและการเรียนหมอกับพี่ ๆ หมออีกด้วย (ทั้งนี้การเข้าร่วมนั่งฟังได้มีการขออนุญาตและการสมัครใจกับคนไข้แล้ว) ในตอนบ่ายเราได้เข้าร่วมดูการผ่าตัดมดลูกของคนไข้รายหนึ่งโดยใช้วิธีการผ่าโดยการการส่องกล้องของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผ่านจอถึงในห้องผ่าตัดอีกด้วย ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่ประทับใจมากกกกก ไม่คิดว่าเราจะได้มีโอกาสเข้าชมอะไรแบบนี้ในอายุเท่านี้ 

Day 3

ห้องสมุดของโรงพยาบาล

ถ่ายรูปโดย นางสาวธมลวรรณ บุญมาวงค์

วันที่ 3 ถือเป็นวันสบาย ๆ เริ่มจากเช้าเราได้เข้าบรรยากาศในห้องผู้ป่วย ICU ตลอดเช้า และได้พูดคุยซักถามกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มาเป็นที่ปรึกษาของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ แล้วตอนบ่ายก็ได้ไปดูการตรวจและแจ้งผลการตรวจกับพี่ ๆ แพทย์ใช้ทุนในชั้น 2

Day 4

วันที่ 4 หรือวันสุดท้ายเริ่มด้วยการดูคนไข้ที่มาพักหลังจากการผ่าตัดโดยพี่หมอได้ทั้ง พาเราไปดูการล้างแผลของคนไข้แผลผ่าตัด การตามถามไถ่และติดตามอาการคนไข้หลังจากการผ่าตัดมาว่าจะต้องมีการดำเนินการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ข้อปฎิบัติหรือควรระวังหลังกลับไปบ้าน รวมถึงการพิจารณาให้คนไข้กลับบ้านได้หรือไม่ ส่วนตอนบ่ายก็ได้ไปดูคนไข้ที่แผนกฉุกเฉินและได้พูดคุยกับพี่ ๆ แพทย์ใช้ทุนเกี่ยวกับอุปสรรคและข้อสงสัยในการเรียนแพทย์กับพี่ ๆ

 

จริง ๆ แล้วหมอทำอะไรกันแน่

อาชีพหมอก็เหมือนที่ทุก ๆ คนรู้ ๆ กัันอยู่ว่า หมอก็ต้องรักษาคนไข้คนป่วยที่ไม่สบายไง ง่าย ๆ แค่เนี้ย พูด ๆ ไปฟังเหมือนไม่มีอะไรยากแต่จริง ๆ แล้วมันไม่ได้มีแค่นั้นหรือง่าย ๆ อย่างงั้นหรอกนะ จากที่เจ้าของบล็อกได้ไปประสบพบเจอมา หมอคือคนที่จะเป็นคนประเมินเราตั้งแต่เราเดินเข้าไปหาเข้าไปแล้วบอกว่าเราเป็นอะไร ป่วยอะไรมา มีอาการยังไงเขาก็เริ่มจากการนำข้อมูลต่าง ๆ ของเราไปประมวลผลเทียบกับโรคอีกร้อยแปดพันเก้าที่เราสามารถเป็นได้เขาก็จะค่อย ๆ ถามเก็บข้อมูลกับเราไปจนสุดท้ายก็อาจจะรู้หรือยังไม่รู้อีกนั่นแหละว่าเราเป็นอะไร อาจจะต้องมีการทดสอบผลอะไรเพิ่มเติมถึงจะสามารถสรุปได้ว่าอ่ะ ตกลงแล้วเราเป็นโรคนี้นะ พอรู้ว่าเป็นโรคอะไรแล้วก็จะไปต่อที่การวางแผนการรักษาเพราะไม่ใช่ว่าคนไข้ทุกคนจะใช้แผนการรักษาแบบเดียวกันได้ พอเลือกแผนได้แล้วก็ลงมือรักษา แล้วก็ติดตามดูอาการหลังการรักษา ถ้าหายก็จบกันไปในครั้งนั้น แค่ถ้าไม่ก็ต้องกลับมาดูกันอีกว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหน ต้องแก้ยังไง ต้องเพิ่มต้องลดอะไรอีก แค่คิดก็เริ่มเหนื่อยแล้วใช่ป่ะ?

โรงพยาบาลมันช่างกว้างใหญ่ แล้วหมอล่ะจะได้เจอกับใครบ้าง

หมอเป็นอาชีพที่ชีวิตส่วนใหญ่ต้องอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งพี่ ๆ เขาก็จะได้ทำงานร่วมกับ คุณพี่พยาบาล นักบำบัด เภสัชกร  นักเทคนิคการแพทย์ หรือบางโอกาสก็อาจได้ทำงานร่วมกับทนาย (พอหมอเจอฟ้องร้องก็คงได้ทำงานร่วมกับเขา//มีพี่หมอกระซิบมา) และที่สำคัญที่สุดเลยก็คือ คนไข้ เพราะเป็นคนที่พี่เขาต้องทำงานด้วยตั้งแต่เริ่มจวบจนปิดเคส เนื่องจากอาชีพแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ในการจะทำให้เคส เคสหนึ่งจบนั้นต้องได้รับการช่วยเหลือจากอีกหลาย ๆ อาชีพร่วมด้วยช่วยกัน ปริมาณคนก็ขึ้นอยู่กับเคส ๆ ไป แต่หลักก็คือ มีหน้าที่ในการ ประเมิน ดูแล รักษาคนไข้ โดยมี พยาบาลค่อยช่วยดูแลคนไข้อีกแรง มีเภสัชกรช่วยดูเรื่องยา จ่ายยา มีนักเทคนิคการแพทย์ค่อยช่วยเช็คผลจากตัวอย่างต่าง ๆ ที่เราส่งตรวจให้ และอีกมากมายเหลือเกินที่จนตอนนี้ เจ้าของบล็อกเองก็ยังไม่สามารถรู้ทุกอย่างได้ สงสัยต้องไปเป็นจริง ๆ ก่อนถึงจะสามารถมาบอกให้ครบได้????

เป็นหมอต้องมีทักษะอะไรกันบ้างนะ

แน่นอนว่าอย่างแรกที่ต้องมีนั้นก็คือ 1. ทักษะในการวิเคราะห์และวินิจฉัยว่าคนไข้นั้นเป็นโรคอะไร 2. ต้องมีความรู้ที่จะนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย 3. ทักษะในการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม และ สุดท้ายเนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องทำงานร่วมกับอีกหลาย ๆ อาชีพเพื่อให้งานเสร็จลุล่วงไปได้ดังนั้น 4. ทักษะในด้านการสื่อสารและการสร้างสัมพันธภาพ

ข้อดีและข้อจำกัดของหมอ ๆ

แน่นอนว่าข้อดูของอาชีพหมอที่ทุก ๆ คนก็น่าจะรู้ก็คือ เราได้มีโอกาสได้ช่วยคนมากมายที่เขามีอาการเจ็บป่วยให้หายจากอาการเหล่านั้นหรืออย่างน้อยก็ต้องดีขึ้นในช่วงเวลา ๆ หนึ่ง ได้เป็นผู้ให้อย่างไม่สิ้นสุดจนกว่าจะหมดอายุงานร่วมกับอาชีพอื่น ๆ ที่ทำงานเคียงข้าง ส่วนข้อกำจัดก็มีเยอะบ้าง เช่น อาจจะมีเวลาส่วนตัวน้อย นอนน้อย อาจไม่ได้หยุดวันเสาร์อาทิตย์ วัดหยุดยาวก็อาจไม่ได้ไปเที่ยวกับครอบครัว ต้องเจอกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอยู่ในทุก ๆ วันที่ทำงาน อาจโดนฟ้องร้องจากคนไข้หรือญาติคนไข้ที่อาจจะไม่พอใจในการรักษา ฟังดูแล้วจะเหนื่อยแต่แลกกับการได้ทำงานที่เราชอบได้เห็นรอยยิ้มของคนไข้ที่หายดี ก็น่าจะคุ้มอยู่นะสำหรับพี่หมอหลาย ๆ คนที่เราได้เจอ

วลีเด็ดจากพี่ ๆ

" การที่คนไข้ถามเรามาก จุกจิก ไม่ใช่ความผิดของเขา ให้เราลองย้อนมองตัวเราเองว่าได้ให้ข้อมูลที่เพียงพอกับเขาแล้วรึยัง อย่ารำคาญเพราะมันเป็นหน้าที่ของวิชาชีพของเรา " โดย คุณนุ่น หัวหน้าประสานงานศูนย์หัวใจและหลอดเลือด 

ท้ายนี้ก็ขอขอบคุณทางทรูที่ได้จัดให้มีโครงการนี้ขึ้นมา ขอขอบคุณพี่ ๆ ทุกคนที่งานทำให้เกิดโครงการนี้ ขอขอบคุณพี่ ๆ คุณหมอพยาบาลทุกคนที่ดูและตลอดโครงการนะคะขอบคุณค่ะ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Natnicha
  • 0 Followers
  • Follow