"ยา" เป็นคำที่ผมได้ยินมาตั้งแต่จำความได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นคำสั้น ๆ ที่มีตัวอักษรและสระเพียงสองตัวกับการอ่านออกเสียงเพียงหนึ่งพยางค์ แต่มันกลับเป็นสิ่งที่ช่วยให้ใครหลาย ๆ คนบนโลกนี้ได้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บหรือแม้แต่.....โลกหลังความตายที่ใคร ๆ ก็ไม่ต้องการจะได้ประสบพบเจอ ทั้ง ๆ ที่ตัวมันมีสรรพคุณมากมายขนาดนี้แต่คนส่วนใหญ่ต่างมองข้ามมัน บางคนเห็นมันเป็นแค่ขนมที่จะ กินเท่าไหร่ ตอนไหน เวลาใดก็ได้ บางคนก็นำมันไปใช้ในทางที่ผิดสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น
ดังนั้นคนเหล่านี้จึงต้องการเจ้าหน้าที่ที่มีประสิทธิภาพในการให้ความรู้เกี่ยวกับพวกเขา ฮั่นแน่....เกริ่นมาขนาดนี้แล้วทุกคนคงรู้แล้วใช่มั้ยว่าผมจะกล่าวถึงอาชีพอะไร ใช่แล้วล่ะครับนั่นก็คืออาชีพ " เภสัชกร " นั่นเอง ป่ะ เราไปดูกันดีกว่าว่าเภสัชกรเขาทำอะไรกันบ้าง
อ่ะ ๆ ก่อนที่เราจะเข้าประเด็นของอาชีพ ผมขอขายของนิดนึง 5555+ โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการของทรูปลูกปัญญาที่เปิดให้เด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายได้มีโอกาสไปลองฝึกงานในอาชีพที่เราสนใจโครงการนี้ได้มีการเปิดรับสมัครเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ซึ่งในรุ่นนี้มีอาชีพให้เลือกถึง 29 อาชีพ อาทิ เภสัชกร แพทย์ พยาบาล ฯลฯ ถ้าหากผู้อ่านสนใจในโครงการนี้ สามารถติดตามการแจ้งเตือนต่าง ๆ ในเพจ"ทำ ก่อน ฝัน" หรือเว็บ " ทรูปลูกปัญญา " ได้เลย อะไรดี...ผมก็ว่าดี ไม่ดีจริงผมไม่เอามาขายหรอก 555+
เภสัชกร คือผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องยามากที่สุด ในบรรดาสายอาชีพทางด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นทั้งยาแผนปัจจุบันหรือแผนโบราณ
จากข้อความข้างบนทุกคนคิดเหมือนกันหรือเปล่า ที่ใครๆเขาก็ชอบพูดกันว่า เภสัชกรวัน ๆ ไม่เห็นทำอะไรนอกจากรับใบสั่งยาจากแพทย์ หยิบยาตามที่แพทย์สั่ง แล้วก็เรียกผู้ป่วยมารับยา พอผู้ป่วยมารับยาก็ถามอะไรนู่นนี่นั่นเยอะแยะไปหมด หลาย ๆ คนอาจจะรำคาญ แต่เดี๋ยวก่อน ๆ หยุดความคิดแบบนั้นไว้ก่อนเพราะไอ้ที่เราได้เห็น ๆ กันอยู่เนี่ยมันเป็นสิ่งที่มีอะไรที่ลึกลับซับซ้อนมากกว่านั้นมาก มาเรามาดูกันดีกว่าว่าเขาทำอะไรกันบ้าง
อ่ะนี่ก็เป็นหน้าที่ที่ทุกคนรู้อยู่แล้วอ่ะเนอะว่าเภสัชกรมันก็ต้องทำหน้าที่จ่ายยาสิ ใช่ครับต้องทำหน้าที่จ่ายยาจริง ๆ นั่นแหละแต่ไอ้การจ่ายยาเนี่ยมันไม่ใช่แค่การดูชื่อยาจากใบสั่งยาที่ได้รับมาจากหมอแล้วไปหยิบยาให้คนไข้ได้เลยนะครับ เพราะพวกเราต้องมีการตรวจเช็คกันหลายรอบมาก กว่ายานั้นจะถึงมือคนไข้ เริ่มจากเราได้รับใบสั่งยาจากหมอมาเราก็ต้องมาดูกันว่ายากับโรคที่คนไข้เป็นนั้นมันตรงกันมั้ย ชื่อคนไข้บนฉลากยากับชื่อคนไข้ที่ขึ้นบนใบประวัติตรงกันมั้ย ในกรณีที่คนไข้มีการใช้ยาหลายตัวแล้วยาตัวที่ใช้ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้เราก็ต้องเป็นคนที่ต้องไปบอกหมอว่ายาตัวนี้ไม่สามารถใช้ร่วมกับตัวนี้ได้นะ ซึ่งงานพวกนี้จะเป็นในส่วนของเภสัชที่อยู่ตามชั้นวางยา พอทุกอย่างถูกจัดสรรเสร็จหมดแล้วก็จะส่งยาไปให้เภสัชที่ประจำอยู่ที่เคาน์เตอร์ เภสัชที่อยู่ที่เคาน์เตอร์ก็จะประกาศเรียกชื่อคนไข้ พอคนไข้มาถึงเราก็จะถามคำต่าง ๆ กับคนไข้ โดยคำถามที่สำคัญที่สุดคือ " คนไข้แพ้ยาอะไรมั้ย " เพราะถ้าเราไม่ถามคำถามนี้แล้วเราเกิดจ่ายยาที่คนไข้แพ้ไปอาจจะทำให้คนไข้เกิดอันตรายได้ หลังจากเราถามหมดแล้วก็จะบอกเวลาทานยา ข้อควรระวังต่าง ๆ ในการใช้ยา เมื่อพูดหมดก็เป็นอันเสร็จสิ้นในการจ่ายยา
ยาบางตัวก็มีวิธีใช้ที่พิเศษมากกว่าแค่การเอายาเข้าปากแล้วดื่มน้ำตาม เช่น ยาแก้หอบหืดที่มีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายมาก ยาอินซูลินที่เป็นยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ต้องให้คนไข้ใช้เข็มฉีดยาด้วยตัวเอง หรือแม้แต่ยาละลายลิ่มเลือดที่เป็นแค่ยาเม็ดที่มีวิธีใช้เหมือนยาทั่ว ๆ ไปแต่ดันมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น การถ่ายเป็นสีดำ อาจมีอาการเลือดออกเยอะเมื่อเป็นแผลถลอกเล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็ต้องมีการมาสอนคนไข้ให้รู้ถึงวิธีใช้และข้อควรระวังใช่ในการใช้ยาพวกนี้
ทุก ๆ คนก็รู้ดีใช่มั้ยครับว่ายาทุกตัวมันไม่ได้มีขายหรือผลิตให้คนไข้ทุกคนใช้ได้ คนบางคนมีความอ่อนไหวต่อการใช้ยาในขนาดที่คนปกติใช้ได้หรือคนบางคนที่เป็นโรคมะเร็งก็ไม่ใช่ว่าจะเอายาอะไรมารักษาพวกเขาได้เลย พวกเราเลยจำเป็นต้องมีการผสมหรือผลิตยาเองเพื่อใช้ในกลุ่มคนไข้เหล่านี้ให้พวกเขาหายจากโรคที่กำลังเป็นอยู่
ภาพด้านบนเป็นตู้ที่ใช้ผสมยาเคมีบำบัดในการการรักษาคนไข้นะครับ
อันนี้เชื่อแน่ ๆ ว่าหลาย ๆ คนคงไม่รู้ว่าเภสัชมีการออกหน้างานไปดูผู้ป่วยด้วยนะเออ... ไม่ใช่คลุกตัวอยู่แต่ในห้องยา อย่างในกรณีของผมได้ไปดูในแผนก ICU ที่คนไข้ส่วนมากจะเป็นโรคหัวใจซึ่งก็จะมีโรคแทรกซ้อนอย่างอื่นร่วมด้วยเช่นกัน เภสัชในส่วนนี้ก็จะดูในเรื่องยาที่ผู้ป่วยใช้เพราะผู้ป่วยใน ICU มีการใช้ยาหลายตัวมากจึงจำเป็นต้องคอยเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคนไข้ที่มีการส่งตัวจากหลาย ๆ โรงพยาบาลมา คนไข้ได้รับการรักษาจากหมอคนล่ะคน มีการให้ยาไม่ซ้ำกันหรืออาจมีการใช้ยาที่ไม่สามารถใช้ยาร่วมกันได้ เราก็ต้องเป็นคนคอยติดตามและจัดเก็บข้อมูลพวกนั้น อีกทั้งยังต้องดูผลแล็ปต่าง ๆ เช่น ค่าเลือด ค่าไต ของคนไข้ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติมั้ยจนกระทั่งคำนวณ คาดคะเนและปรับปริมาณยาของคนไข้ให้เหมาะสม
วันแรกเป็นการ workshop ครับผม เป็นการไปทำความรู้จักกับพี่ ๆ ที่ดูแลและประสานงานให้พวกเราและเพื่อน ๆ ร่วมโครงการครับ เป็นวันที่สนุกมากๆเลยเพราะได้รู้จักเพื่อนใหม่หลายคนมากกกกกก หลังจากแนะนำตัวต่างๆนานากันไปแล้ว พี่ ๆ ก็จะมีการบรีฟพวกเราถึงอนาคตที่กำลังจะมาถึงว่าเรานั้นมีเป้าหมายที่อยากทำหรือเปล่า หรือมีความฝันอะไรที่อยากจะเปลี่ยนมันให้เป็นเป้าหมายในชีวิต เป็นกิจกรรมที่ให้กำลังได้ดีมาก ๆ เลยครับใครที่ยังไม่รู้เป้าหมายหรือความฝันของตัวเองมาลอง workhop ดูแล้วคุณจะรู้ว่าเป้าหมายของคุณคืออะไร
เป็นโปรเจ็กต์ที่ได้รับนะครับ (เครียดเลย 5555+) ว่าด้วยเรื่องความสามารถในการอ่านฉลากยาของคนไข้ว่าคนไข้นั้นสามารถเข้าใจและอ่านฉลากยาที่ได้รับจากเภสัชกรได้โดยเราต้องตามหาคนไข้ที่ให้ความร่วมมือในการร่วมโปรเจ็กต์แล้วสัมภาษณ์พวกเขา เป็นโปรเจ็กต์ที่โหดเอาเรื่องเลยล่ะครับเพราะด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ไม่สะดวกในการทำแบบสอบถาม แต่ถึงกระนั้นก็เป็นประสบการณ์ดี ๆ นะครับทำให้เราได้พบเจอผู้คนมากหน้าหลายตาแล้วทำให้เราทราบด้วยว่าคนไข้ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจความหมายบางส่วนบนฉลากยา ซึ่งผลการสำรวจที่ได้ก็จะนำไปพัฒนาเป็นฉลากยาแบบใหม่ที่มีความละเอียดมากขึ้นทำให้คนไข้เข้าใจเนื้อหาได้ทั้งหมดแน่นอนครับผม ^___^
หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการทำโปรเจ็กต์ไปแล้วในที่สุดก็ได้เข้าห้องยาสักที เย้!!! ในวันนี้พี่ ๆ เภสัชเขาก็ได้พาพวกเราเดินดูตามแผนกต่าง ๆ แล้วครับซึ่งภายในรพ.จะมีการแผนกใหญ่ ๆ ดังนี้ คือ 1. แผนก OPD (Out Patient Department) หรือแผนกผู้ป่วยนอก 2. แผนก IPD (In Patient Department) หรือแผนกผู้ป่วยใน โดยในช่วงเช้าพวกเราได้ไปเยี่ยมชมแผนก OPD ก่อน ซึ่งในแผนกนี้จะเป็นแผนกที่พูดสั้น ๆ ว่างานยุ่งมากกกกกก (ก.ไก่ล้านตัว) พี่ ๆ เภสัชในห้องยานี้วิ่งส่งยากันทั่วห้องเลย ซึ่งแผนกนี้หลัก ๆ ก็จะเป็นการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยนอกและมีการสอนทำคลินิกสำหรับยาบางตัว ช่วงบ่ายได้ขึ้นไปดูแผนก IPD ซึ่งจะเป็นแผนกที่ค่อนข้างสงบสุขกว่าแผนก OPD มาก พี่ ๆ เภสัชในห้องส่วนใหญ่ก็จะเตรียมยาให้ผู้ป่วยในซะเป็นส่วนใหญ่ มีตัวยาแปลก ๆ ที่ใช้รักษาโรคภายในรพ.อยู่มากมายซึ่งเป็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจมาก ๆ ต่อมาเป็นช่วงที่ชอบที่สุดของวันนี้คือได้ไปเยี่ยมชมแผนกที่จัดเตรียมยาเคมีบำบัดสำหรับคนไข้ที่เป็นมะเร็ง ได้เห็นวิธีการผสมยาที่มีความอันตรายทั้งต่อผู้ผสมและผู้ใช้ ในห้องนี้ก็จะมียาที่ไม่พบได้ทั่วไปเช่นกัน
เป็นวันสุดท้ายของการฝึกงานแล้วครับ วันนี้เป็นวันที่ชอบที่สุดเลยเพราะว่าได้มีการได้เขียนประวัติของคนไข้ด้วยตัวเองจริง ๆ โดยจะมีพี่เภสัชคอยดูแลอยู่ข้าง ๆ โดยในวันนี้พี่เขาก็พาพวกเราขึ้นมาแผนก ICU ซึ่งจะเป็นแผนกที่มีแต่เคสที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการทำงานมาก ๆ โดยในวันนี้พี่ ๆ เขาได้สอนให้พวกเราอ่านประวัติและผลแล็บของคนไข้ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์และได้รับความรู้ใหม่ไปเต็ม ๆ เลยครับ ได้รู้อะไรหลาย ๆ อย่างที่เด็กๆอย่างพวกเราไม่มีทางหาอ่านได้จากหนังสือเรียนได้อย่างแน่นอน อีกทั้งพี่ ๆ ยังพาเดินชมแผนกอีกด้วย ซึ่งในรพ.นี้ห้องในแผนกนี้มีความล้ำสมัยมาก ๆ เพราะสามารถปรับความดันภายในห้องได้ด้วย เป็นอะไรที่ประทับใจมาก ๆ เลยครับ
หลัก ๆ เลยก็น่าจะเป็นเรื่องความรู้ทางด้านเคมี (อันนี้สำคัญมาก ๆ เพราะทุกอย่างในอาชีพต้องใช้เคมีทั้งหมดเลย) ทักษะในเรื่องความจำเพราะต้องจำชื่อยาทั้งหมดให้ได้ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องความรอบคอบ ความแม่นยำ ความระมัดระวังในการปฏิบัติงานเพราะยาเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมาก ดั้งนั้นเภสัชกรจึงต้องไม่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการคำนวณยาต่าง ๆ ที่จะใช้กับผู้ป่วย
ก่อนที่จะจากกันผมจะขอขอบคุณโครงการทำ ก่อน ฝัน มาก ๆ เลยนะครับที่ให้โอกาสในการมาหาประสบการณ์แบบนี้ที่คิดว่าในชีวิตนี้น่าจะหาจากที่อื่นไม่ได้อีกแล้ว แล้วก็ฝากถึงคนที่อ่านบทความของผมอยู่นะครับ ใครที่อยากเป็นเภสัชกรก็ขอให้สู้ ๆ ไปด้วยกันนะครับเราจะติดเภสัชไปด้วยกัน ส่วนคนที่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองอยากเป็นอะไร ผมก็ขอให้บทความของผมเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการช่วยตัดสินใจว่าที่จะสอบเข้าคณะนี้ดีมั้ย
สุดท้ายนี้ผมก็ขอขอบคุณผู้อ่านทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความของผมด้วยนะครับ หวังว่าการมารีวิวประสบการณ์ในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกคนนะครับผมม
ผู้เขียน
นาย ธนกฤต เส็งเล็ก (Flashlaser)