ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com,http://www.kriengsak.com
ประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นสำคัญทั้งระดับโลกและระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตที่มีแนวโน้มสังคมจะมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าอย่างมาก อันเป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์หรือโลกไร้พรมแดนที่ทั้งโลกมีการเชื่อมโยงถึงกัน ส่งผลทำให้ประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนมีการแผ่ขยายหรือกระจายอย่างกว้างขวางมากยิ่งกว่ายุคใดในอดีตที่ผ่านมา
การศึกษานับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการเตรียมกำลังคนของประเทศให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดให้มีการพัฒนาหลักสูตรสิทธิมนุษยชน ผมคิดว่า การพัฒนาหลักสูตรสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาในระบบหรือการศึกษานอกระบบควรคำนึงถึงประเด็นพื้นฐานสำคัญ 7 ประการ ดังนี้
สหวิทยาการ คือ การเชื่อมโยงวิทยาการหลากหลายศาสตร์ เช่น ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ วารสารศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ จิตวิทยา มานุษยวิทยา เป็นต้น เพื่อนำมาใช้เป็นกรอบในการศึกษา วิเคราะห์ และตอบโจทย์ทางด้านสิทธิมนุษยชน อันจะส่งผลช่วยให้การศึกษาเรียนรู้ทางด้านสิทธิมนุษยชนมีมุมมองที่กว้างไกล ลึกซึ้ง และครอบคลุมรอบด้านมากยิ่งขึ้น โดยการเชื่อมโยงวิทยาการต่าง ๆ ดังกล่าวเหล่านี้ควรให้มีความเป็นพลวัตสอดรับกับบริบทของยุคสมัยและความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการของโลก
การบูรณาการ คือ การเชื่อมโยงผสมผสานองค์ความรู้ตั้งแต่ 2 ศาสตร์ขึ้นไปเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้ศาสตร์ทางด้านสิทธิมนุษยชนมีประสิทธิภาพ ใช้การได้ดีมากยิ่งขึ้น ด้วยว่าองค์ความรู้ทางด้านสิทธิมนุษยชนเพียงอย่างเดียวมีความจำกัด จำเป็นต้องบูรณาการร่วมกับองค์ความรู้ของศาสตร์อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการกับองค์ความรู้ของศาสตร์ใหม่ร่วมสมัย เช่น การบูรณาการองค์ความรู้ของศาสตร์ทางด้านปัญญาประดิษฐ์กับองค์ความรู้ทางด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อตอบโจทย์ประเด็นสิทธิมนุษยชนร่วมสมัย เป็นต้น
ความเป็นรูปธรรม คือ การทำให้มีความเป็นรูปธรรม จับต้องมองเห็นได้ สามารถปรากฎให้เห็นเป็นจริง เริ่มต้นจากนามธรรมเชื่อมโยงสู่รูปธรรม ทำให้ทั้งนามธรรมและรูปธรรมมีความสอดคล้องกันตลอดทาง ตาม “ทฤษฎีหลักหมุด” (Pivot Theory) ของผม ประกอบด้วย หลักปรัชญา หลักคิด หลักวิชา หลักการ และหลักปฏิบัติ ด้วยว่าการมีแต่นามธรรมแต่ปราศจากรูปธรรมรองรับจะทำให้ขาดความสอดรับในการนำไปสู่การปฏิบัติและไม่สามารถนำมาใช้งานได้จริง
การใช้กรณีศึกษา คือ การใช้วิธีการเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษานำสู่สถานการณ์จริง เชื่อมโยงแนวคิด ทฤษฎี สู่การปฏิบัติ ทำให้เกิดความแจ่มกระจ่างชัดเจน เช่น การศึกษาจากกรณีศึกษาหรือแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) ทางด้านสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่หมดทั้งโลก เป็นต้น สร้างสะพานให้เกิดการนำแนวคิด ทฤษฎี มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น
การพิจารณากรณีโต้แย้ง คือ การนำประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปหรือเห็นตรงกันมาเป็นกรณีศึกษาเรียนรู้ ถกเถียง เพื่อทำให้เกิดการตกผลึกลึกซึ้งทางความคิด ช่วยให้มองเห็นข้อสมมติของประเด็นข้อโต้แย้งต่าง ๆ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น กรณีการใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศกระตุ้นให้เกิดการคิดพิจารณาแสวงหาทางออกที่ดีที่สุดของกรณีโต้แย้งที่เกิดขึ้น
การคำนึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม คือ การคำนึงถึงความแตกต่างของภูมิหลังทางวัฒนธรรม ด้วยว่าแต่ละสังคมมีการให้ข้อสมมติทางด้านสิทธิมนุษยชนแตกต่างกันตามบริบทวัฒนธรรมของตนเอง เช่น บางสังคมยอมรับการลงโทษเด็กโดยใช้วิธีการลงโทษตีสอนเด็ก ขณะที่บางสังคมมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ความแตกต่างทางวัฒนธรรมควรเป็นประเด็นสำคัญในการนำมาคิดพิจารณาตัดสิน ให้คุณค่า ความถูกหรือผิดทางด้านสิทธิมนุษยชน
ความครบถ้วนทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติ คือ การลงรายละเอียดครบถ้วนทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ ลดช่องว่างความเข้าใจในการปฏิบัติ ทำให้เกิดการเชื่อมต่อทางด้านองค์ความรู้ เช่น การพัฒนาหลักสูตรสิทธิมนุษยชนระดับนักบริหารและระดับนักปฏิบัติการ โดยให้มีการศึกษาลึกลงถึงรายละเอียดในภาคปฏิบัติของแต่ละระดับ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นต้น
การพัฒนาหลักสูตรสิทธิมนุษยชนให้มีประสิทธิภาพควรสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในโลกจริงอย่างไร้รอยต่อมากที่สุด โดยให้มีทั้งความสอดคล้องกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีความครบถ้วนทางด้านวิทยาการองค์ความรู้ และพาสู่สุดเขตปริมณฑลความรู้ทางด้านสิทธิมนุษยชนมากที่สุดเท่าที่สามารถเป็นไปได้ภายใต้บริบทโลกยุคปัจจุบันและอนาคต