จากที่เราเคยทราบมาแล้วว่า แสงทำให้เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ เรามองเห็นโต๊ะ คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ จากการที่แสงจากแหล่งกำเนิดแสง เช่น ดวงอาทิตย์ ตกกระทบกับวัตถุก่อนที่จะสะท้อนเข้าสู่ตาของเราและประมวลผลต่อไป สิ่งนี้ดูเหมือนจะใช้เป็นข้อสรุปว่าแสงเป็นอนุภาค ประกอบกับนักวิทยาศาสตร์อย่างเซอร์ไอแซก นิวตัน ก็มีแนวคิดที่ว่า แสงเป็นอนุภาคเช่นกัน เนื่องจากแสงแสดงคุณสมบัติบางอย่างเหมือนอนุภาค เช่น การหักเห (Refraction) ของแสง แต่หากแสงเป็นอนุภาคจริง เมื่อเราปล่อยลำแสงเข้าหากันโดยมีจุดตัดอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง มันก็น่าจะมีบางอนุภาคที่ชนกันและเกิดการกระเด็นกระดอนออกมา ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่พึงมีของอนุภาคที่สามารถจับต้องได้ แต่แสงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ลำแสงสามารถเดินทางผ่านทะลุกันและกันไปได้โดยไม่เกิดอะไรขึ้น
แนวคิดของนิวตัน ถูกลบล้างโดยนักวิทยาศาสตร์ในยุคต่อมา เนื่องจากพวกเขาพบว่า แสงมีสมบัติของการแทรกสอดและการเลี้ยวเบนด้วย ซึ่งสมบัติดังกล่าวเป็นสมบัติของคลื่น ดังนั้น แสงจึงน่าจะเป็นคลื่นมากกว่าการเป็นอนุภาค และเนื่องจากแสงมีความเร็วเท่ากับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic wave) คือ 3x108 เมตรต่อวินาที แสงจึงถูกจัดเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าแสงสามารถเดินทางผ่านสุญญากาศได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเกี่ยวกับแสงระดับที่ลึกลงไปในยุคต่อมา มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า แนวคิดที่ว่า แสงเป็นคลื่น ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างเกี่ยวกับแสงที่เกิดขึ้นได้เสมอไป จากการทดลองฉายแสงไปยังโลหะ และพบว่ามีการส่งผ่านพลังงานไปยังอะตอมในโลหะ เนื่องจากมีอิเล็กตรอนหลุดออกมาจากผิวโลหะนั้นด้วย อนุภาคของแสงที่ถูกไปยังอะตอมในโลหะเรียกว่า โฟตอน (Photon) และนั่นเป็นที่มาของกลศาสตร์ควอนตัม (Quantum Mechanics) ที่ศึกษาเกี่ยวกับแสง ซึ่งมีสมบัติของทั้งอนุภาคและคลื่นรวมอยู่ด้วยกันนั่นเอง