Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อันตรายจากภาวะเลือดข้นหรือเลือดหนืด

Posted By sanomaru | 24 ก.ย. 61
45,953 Views

  Favorite

หากเป็นความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับเลือด ภาวะที่เรามักได้ยินกันบ่อยที่สุดภาวะหนึ่งก็คือ ภาวะโลหิตจางหรือภาวะซีด (anemia) ซึ่งเป็นภาวะที่มีปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดลดลง แต่ภาวะที่ตรงข้ามกัน และเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของคนเราไม่แพ้กับภาวะโลหิตจางก็คือ ภาวะเลือดข้นหรือเลือดหนืด (Polycythemia) เนื่องจากภาวะเลือดข้นหรือเลือดหนืดนี้อาจนำไปสู่ภาวะเส้นเลือดอุดตันหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว

 

ภาวะเลือดข้นหรือเลือดหนืดคืออะไร

ภาวะเลือดข้นหรือเลือดหนืดเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยส่วนใหญ่พบในช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ 1. ปริมาตรของพลาสมา (น้ำเลือด) ลดลง และ 2. ปริมาตรของเม็ดเลือดแดงสูงขึ้น แต่โดยทั่วไป หากพูดถึงภาวะเลือดข้นหรือเลือดหนืด ส่วนใหญ่จะหมายถึง ภาวะเลือดข้นที่เกิดจากปริมาตรเม็ดเลือดแดงสูงขึ้น หรือที่เรียกว่าโรคเลือดข้นปฐมภูมิ (Polycythemia vera, PV) จากการที่ไขกระดูกของเราสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น และอาจรวมไปถึงการสร้างเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดที่เพิ่มขึ้นจนผิดปกติด้วย

 

ส่วนโรคเลือดข้นทุติยภูมิ เกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อปัจจัยบางอย่างที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น เช่น มีภาวะขาดออกซิเจนเนื่องจากเป็นโรคปอดเรื้อรังและมีการสูบบุหรี่เป็นประจำ หรือมีการสูดดมคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นประจำ เช่น ผู้ที่ทำงานในบริเวณลานจอดรถ พนักงานขับรถ ทำให้ฮีโมโกลบินในเลือดจับกับคาร์บอนมอนอกไซด์แทนที่จะจับกับออกซิเจน ออกซิเจนในร่างกายต่ำ จึงเกิดภาวะเลือดข้นขึ้นได้

 

ผู้ที่มีภาวะเลือดข้นจะมีค่าฮีมาโทคริต (Hematocrit) หรืออัตราส่วนของปริมาตรเม็ดเลือดแดงต่อปริมาตรของเลือดทั้งหมดที่สูงขึ้น โดยในเพศหญิงจะมีค่าฮีมาโทคริตมากกว่า 48% ส่วนในเพศชายจะมีค่าฮีมาโทคริตมากกว่า 52% หรือมีค่าฮีโมโกลบิน (Haemoglobin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนในเลือดสูงขึ้นในระดับที่มากกว่า 16.5 g/dL ในเพศหญิง หรือมากกว่า 18.5 g/dL ในเพศชาย

 

อาการของผู้ที่มีภาวะเลือดข้นหรือเลือดหนืด

เราสามารถตรวจสอบตนเองได้ในเบื้องต้นว่ามีภาวะเลือดข้นหรือไม่ โดยการสังเกตอาการเหล่านี้ เช่น
- คันตามผิวหนังทั่วไป โดยเฉพาะหลังจากอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน
- มีเหงื่อออกมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- มีอาการปวดหรือวิงเวียนศีรษะ
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด
- หายใจสั้น
- ผิวหน้าแดงคล้ายกับถูกแดดเผา
- มือเท้ามีสีแดงคล้ำ
- เจ็บปวดหรือบวมตามข้อ

 

อันตรายและภาวะแทรกซ้อนจากภาวะเลือดข้นหรือเลือดหนืด

ภาวะเลือดข้นหรือเลือดหนืดสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากหากเลือดของเราข้นหนืด ไหลเวียนได้ช้าลง จะเพิ่มโอกาสการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดสูงขึ้น และอาจเกิดการอุดตันในหลอดเลือดต่าง  ๆ หากเกิดขึ้นที่หลอดเลือดสมอง ก็นำไปสู่โรคหลอดเลือด (Stroke) และอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ในที่สุด แต่หากเกิดขึ้นที่หลอดเลือดหัวใจ ก็นำไปสู่โรคหัวใจวายเฉียบพลัน และท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้อีกด้วย

 

การลดปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเลือดข้นหรือเลือดหนืด

- ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น
- ออกกำลังกายขาและข้อเท้าเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดที่หลอดเลือดดำบริเวณขา
- งดสูบบุหรี่  เพราะบุหรี่ทำให้เส้นเลือดตีบได้  เนื่องจากมีสารที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดลิ่มเลือด
- หลีกเลี่ยงการสูดดมแก๊สคาร์บอมอนอกไซด์เข้าสู่ร่างกาย

 

เนื่องจากเลือดเป็นของเหลวที่พาทั้งออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ให้เซลล์สามารถสร้างพลังงานเพื่อให้ร่างกายของเราทำงานได้ ดังนั้น จึงควรดูแลให้เลือดของเราให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติที่สุด และควรหมั่นตรวจสุขภาพและค่าต่าง ๆ ของเลือดเพื่อสังเกตความผิดปกติหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเลือดของเราอย่างสม่ำเสมอทุกปี

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- ส่วนประกอบของเลือด
- การสูบบุหรี่ช่วยคลายเครียดได้จริงหรือ?
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow