คนสมัยก่อนมีวิธีการหลากหลายในการบ่มผลไม้ให้สุกหลังจากที่เก็บผลไม้มาจากต้น เช่น ชาวอียิปต์โบราณเฉือนผลมะเดื่อให้เป็นแผล หรือชาวจีนเก็บลูกแพร์ไว้ในห้องพร้อมทั้งจุดธูปเอาไว้ด้วย ซึ่งต่อมาจากงานวิจัยพบว่า การทำให้ผลไม้มีแผลและการเพิ่มอุณหภูมิให้กับผลไม้ เป็นการกระตุ้นให้ผลไม้สร้างสารเคมีที่เรียกว่าเอทิลีน (Ethylene, C2H4) ออกมา
การที่ผลไม้สร้างเอทิลีนก็เพื่อตอบสนองความเครียดที่เกิดจากบาดแผลและความร้อน เพราะเอทิลีนมีสถานะเป็นแก๊สซึ่งจะแพร่กระจายได้ง่ายจากเซลล์สู่เซลล์ มันจึงเป็นเสมือนสัญญาณที่ถูกส่งไปยังเมล็ดเพื่อให้เมล็ดงอกใบและเปลี่ยนสี เพื่อความอยู่รอดของสายพันธุ์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลไม้จะไม่ผ่านการบ่มหรือกระตุ้นโดยมนุษย์ แต่การสุกของผักและผลไม้นอกต้นนั้นถือเป็นกระบวนการทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ เพราะเมื่อเราเด็ดผักผลไม้ออกมาจากต้นแล้ว ผักผลไม้เหล่านั้นก็จะยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง ดังนั้น ภายในผลของพวกมันจึงยังมีกระบวนการหายใจและการคายน้ำตามปกติ ซึ่งกระบวนการหายใจนี้เองที่ทำให้เกิดพลังงานความร้อน และการให้ความร้อนอย่างการจุดธูปในห้องบ่มผลไม้ของชาวจีน ก็เป็นการเร่งให้ผักผลไม้มีการหายใจมากขึ้น เกิดพลังงานความร้อนภายในผักผลไม้มากขึ้น จึงตามมาด้วยการที่ผักผลไม้สร้างเอทิลีนมากขึ้น และทำให้ผักผลไม้สุกเร็วนั่นเอง