แต่ปัจจัยในการประสบความสำเร็จของคนแต่ละคนนั้น ไม่ได้มาจากความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลาย ๆ ด้านเท่านั้น แต่ยังมีทักษะในการบริหารจัดการ ทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น และทักษะชีวิตหรือที่กำลังฮิตติดปากกันว่า Life Skills ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่น้อยไปกว่าทักษะในรั้วโรงเรียนหรือรั้วมหาวิทยาลัยเลยหละค่ะ
หลาย ๆ ครั้งที่เรามุ่งเป้าไปที่การเลี้ยงดูปูเสื่อ เพื่อให้ลูกตั้งใจมุ่งมั่น ขยันในการเรียนเท่านั้น ลูก ๆ จึงอาจขาดโอกาสในการลงมือทำ หลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่าง ที่เขาควรจะได้โอกาสในการทำมันด้วยตัวเอง เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการรู้จักดูแลตนเอง รวมไปถึงการดูแลสังคมในอนาคต และหลาย ๆ ครั้ง เรามองเห็นว่า ลูกยังเป็นเด็ก จึงไม่จำเป็นต้องมีภาระหน้าที่อะไรรับผิดชอบ เพราะลำพังแค่เรียนก็คงเหนื่อยพอแล้ว
ความคิดเหล่านี้แม้จะมาจากเจตนาที่ดี แต่ผลลัพธ์นั้นไม่ได้ทำให้ลูกมีโอกาสประสบความสำเร็จในอนาคตเพิ่มขึ้นอย่างที่เราคิด มิหนำซ้ำ ยังอาจเป็นการปิดกั้นหนทางในการพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จของลูกอีกด้วย
• การจัดการชีวิตลูกในทุก ๆ เรื่อง เพราะมองว่าลูกยังเป็นเด็ก ไม่ใช่การช่วยเหลือ แต่เป็นการทำให้ลูกไม่เรียนรู้ที่จะวางแผนและจัดการชีวิตตนเอง
• การทำความสะอาดห้องหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ แทนลูก เพราะมองว่าลูกยังเป็นเด็ก ไม่ใช่การทำให้ชีวิตของลูกง่ายขึ้น แต่เป็นการทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
• การอนุโลมให้ลูกเสียมารยาทหรือทำพฤติกรรมละเมิดสิทธิของผู้อื่น แล้วเราเอาแต่ขอโทษแทน เพราะมองว่าลูกยังเป็นเด็ก ไม่ใช่การทำให้ลูกซึมซับและเรียนรู้พฤติกรรมที่ดีจากเรา แต่เป็นการทำให้ลูกไม่รู้จักควบคุมตนเองและเรียนรู้ทักษะทางสังคม
• เมื่อเราปล่อยให้ลูกทำอะไรแค่พอผ่าน ๆ ทั้ง ๆ ที่ลูกมีความสามารถในการทำสิ่งนั้นให้ดีกว่าเดิมได้ เพราะมองว่าลูกยังเป็นเด็ก ไม่ใช่การทำให้ลูกภาคภูมิในใจตนเอง แต่เป็นการทำให้ลูกไม่รู้จักคำว่าพยายาม
คือคนที่จะเติบโตไปเป็น “เพื่อนร่วมห้อง” ของเด็กอีกหลาย ๆ คน
คือคนที่จะเติบโตไปเป็น “ภรรยาหรือสามี” ของใครบางคน
คือคนที่จะเติบโตไปเป็น “พนักงานหรือหัวหน้า” ของใครหลาย ๆ คน
และคือคนที่จะเติบโตไปเป็น “ส่วนหนึ่งของสังคม”
แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเรายังคงมองว่า ลูกของเรา เป็นแค่ ลูกของเรา แม้ว่าลูกของเราจะยังเป็นเด็ก แต่การสร้างพื้นฐานที่ดีในวัยเด็กนี่หละค่ะคือตัวกำหนดอนาคตให้กับลูก และเป็นตัวกำหนดอนาคตให้กับ สังคมในวันข้างหน้าอีกด้วย
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก