ครีมกันแดด นอกจากจะช่วยป้องกันการทำลายเซลล์ผิวหนังจากรังสีอัลตร้าไวโอเลต (UV) แล้ว ยังทำให้ผิวหนังไม่ต้องสร้างเม็ดสีขึ้นมารับมือกับรังสี UV และนั่นทำให้ผิวขาวขึ้น เนียนสวยตามสมัยนิยม เราแบ่งผลิตภัณฑ์กันแดดตามวิธีการทำงานได้เป็นสองชนิด
1. Chemical Sunscreen หรือการทำงานของครีมกันแดดที่ใช้สารเคมีดูดซับรังสีเพื่อป้องกันไม่ให้รังสีกระทบกับเซลล์ผิว
2. Physical Sunscreen แม้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเคมีเช่นกัน แต่เป็นสารเคมีชนิดที่สะท้อนแสงและรังสีออกไปแทนที่จะดูดซับ
ผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจจะสามารถทำงานได้ทั้งสองแบบ เนื่องจากมีสัดส่วนของสารกันแดดที่ทำงานแบบเคมีและฟิสิกส์ร่วมกัน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดมากมายที่ผลิตออกมาโดยมีคุณสมบัติหลากหลายและเป็นมากกว่าแค่สารป้องกันแสงแดด มีสี ติดทนทาน เพิ่มความชุ่มชื้น ปรับสีผิวขาว ทนเหงื่อทนน้ำ แบบน้ำ แบบครีม แบบสเปรย์ และอีกต่าง ๆ นานา แต่สังเกตไหมว่าทำไมสัตว์อื่น ๆ ไม่เห็นจำเป็นต้องทาครีมกันแดดกันบ้างเลย
อาจจะเป็นเพราะว่าพวกมันไม่ได้ออกไปซื้อครีมกันแดดเหมือนกับเรา แต่มันก็ใช้ครีมกันแดดที่มีในธรรมชาติอยู่บ้าง แต่จุดประสงค์ไม่ได้เหมือนกับคนเราที่ทากันแดดเพื่อให้มีผิวสวย ป้องกันมะเร็ง เพราะว่ามันเองก็คงไม่ได้รู้จักกับมะเร็งผิวหนังเหมือนที่เราเป็นกัน มันไม่ได้สนใจกับกระบนผิวหรือสีผิวที่แตกต่างกัน แต่มันใช้ตัวช่วยที่มีอยู่ในธรรมชาติเพื่อป้องกันความร้อนและรังสีที่แผดเผามัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สัตว์ซึ่งอาศัยตามทุ่งหญ้าซาฟารีต่าง ๆ ที่เลือกจะอยู่ใต้ร่มเงาไม้เพื่อหลบหนีจากแสงแดด แต่สำหรับสัตว์ที่ตัวใหญ่กว่านั้น การหลบแดดใต้ต้นไม้ดูจะเป็นเรื่องยาก จะไปหาต้นไม้ใหญ่ขนาดไหนให้ช้างทั้งฝูง หรือแรดขนาดหนึ่งตันหลบ มันจึงต้องอาศัยการสาดน้ำหรือชุบตัวด้วยโคลน ซึ่งโคลนนี้จะช่วยป้องกันแสงจากดวงอาทิตย์และยังช่วยคงความชุ่มชื้นของผิวหนังมันอีกด้วย จะเรียกว่าโคลนเป็น Physical Sunscreen ตามธรรมชาติก็เห็นจะไม่ผิดนัก
ใช่ว่าสัตว์ในธรรมชาติจะใช้โคลนเพื่อช่วยกันแดดเท่านั้น สัตว์บางชนิดก็ใช้ Chemical Sunscreen ด้วย โดยเป็นการทำงานของกรดสองชนิดคือ Hipposudoric acid และ Norhipposudoric acid หากอ่านชื่อกรดสองชนิดนี้แล้วก็น่าจะเดาออกว่ามันคือ ฮิปโปโปเตมัส (Hippopotamus) ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ มีผิวหนา ตัวสีชมพูอมแดง บ้างก็สีเข้มจนเกือบเป็นสีน้ำตาล สีที่เราสังเกตเห็นเกิดจาก Blood Sweat หรือเหงื่อเลือด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่ได้ศึกษาเรื่องราวของมันในตอนแรกเป็นผู้ตั้งชื่อให้ เนื่องจากมันไหลซึมออกมาจากผิวหนังเหมือนเหงื่อแต่ว่ามีสีแดง โดยกรดทั้งสองชนิดนี้ถูกขับออกมาจากผิวหนังและไม่ได้เป็นทั้งเลือดหรือเหงื่อของฮิปโป แต่มันเป็นสารต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียซึ่งอาจจะเกาะอยู่ตามผิวหนัง เป็นสารฆ่าเชื้อตามธรรมชาติ อีกสรรพคุณของมันคือช่วยปกป้องผิวหนังของมันจากรังสี UV โดยการดูดซับเอารังสีไว้ ทำหน้าที่เหมือนกับครีมกันแดดแบบเคมีที่เราผลิตออกมาใช้กันนั่นเอง
สัตว์หลายชนิดมีการปรับตัวให้สามารถทนกับแสงแดด ความร้อนแรงที่แผดเผาแตกต่างกันออกไป บางชนิดสามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ดี โดยการมีโครงสร้างเพรียวลม มีขนที่ช่วยสะท้อนแสง มีหูกางใหญ่ช่วยกระพือระบายความร้อน เป็นต้น สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามทะเลทรายหรือทุ่งหญ้าซึ่งมีการสะท้อนของแสงแดดเข้าตาในปริมาณมาก หรือพวกที่อยู่บนเทือกเขาสูงและมีหิมะปกคลุม รังสี UV สามารถสะท้อนหิมะเหล่านั้นเข้าสู่ดวงตาได้ ก็มีการปรับตัวให้มีขนรอบเบ้าตาหรือช่วงใต้ตามีสีเข้มหรือสีดำ อย่างตัวยัค (Yak) เสือชีต้า ละมั่ง และแอนติโลป เพื่อดูดซับรังสี ทำให้มันสามารถใช้สายตาได้ตามปกติ ไม่เหมือนกับคนเราที่ต้องใส่แว่นกันแดด เป็นอีกครั้งที่การปรับตัวและวิวัฒนาการของสัตว์ที่เรามักจะไม่สังเกตเห็น เป็นมากกว่าความสวยงาม ธรรมชาติได้สรรค์สร้างทุกอย่างขึ้นมาด้วยความจงใจและตั้งใจ
บทความที่เกี่ยวข้อง