วันนี้แม่แหม่มจะมาพูดถึงการเล่นต่อบล็อค การเล่นง่าย ๆ ที่ใช้อุปกรณ์ไม่มาก และราคาไม่แพง แต่สามารถช่วยพัฒนาทักษะที่สำคัญในหลายด้านให้กับลูก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนและการใช้ชีวิตมาฝากกันค่ะ
ในวัยเด็กเป็นเรื่องธรรมดาที่ลูกจะมีความจดจ่อในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลาที่จำกัด ดังนั้นพ่อแม่ต้องพยายามทำกิจกรรมหรือเล่นกับลูก ชักชวนให้ลูกเกิดความสนใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ เช่น “ลูกจะต่อเป็นรูปอะไรดีจ๊ะ” หรือ “เรามาแข่งกันต่อบล็อคให้สูง ๆ ดีไหม” สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกเกิดแรงบันดาลใจ และมีความพยายามในการทำกิจกรรมที่มีอยู่มากขึ้น ในช่วงแรกอาจเล่นได้แค่ 5 นาที แต่ความพยายามนี้จะค่อย ๆ ยืดระยะเวลานานขึ้น จนในบางครั้งพ่อแม่อาจค้นพบว่า ลูกสามารถเล่นต่อบล็อคได้นานเป็นชั่วโมง ๆ ทีเดียว
การรเล่นต่อบล็อคสามารถเริ่มเล่นได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป โดยในช่วงแรกพ่อแม่อาจเลือกบล็อคที่มีขนาดใหญ่ เพื่อให้ลูกสามารถหยิบจับได้ง่าย เพราะในช่วงวัยนี้ลูกจะใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดีขึ้น พวกเขาจะเริ่มอยากหยิบจับและทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตัวเอง อยากขีดเขียน อยากจับช้อนกินข้าวเอง ซึ่งการเล่นต่อบล็อคนั้นจะช่วยฝึกให้ลูกได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น การใช้มือกดหรือต่อบล็อคในแต่ละชิ้นจะช่วยพัฒนาให้กล้ามเนื้อนิ้ว มือ ข้อมือ แข็งแรงขึ้น ส่งผลให้ลูกสามารถใช้มือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือ หยิบสิ่งของ หรือกินข้าว
การเล่นต่อบล็อคนั้น เปรียบเสมือนการฝึกให้ลูกได้ทำงานหนึ่งชิ้น เพราะในการต่อแต่ละครั้ง ขั้นแรกลูกต้องมีการวางแผนว่าอยากจะต่อเป็นรูปอะไร จากนั้นลูกก็จะต้องมีการสังเกตและแยกแยะชิ้นส่วนแต่ละส่วนว่าจะสามารถนำมาต่อตามแบบที่ตัวเองได้วางแผนไว้หรือไม่ และเมื่อต่อไปสักพัก ลูกอาจเกิดปัญหา บล็อคอาจถล่มหรือไม่ได้สมดุล ลูกก็ต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา ลองผิดลองถูก จนกว่าจะต่อบล็อคได้สำเร็จ การต่อบล็อกจัดเป็นของเล่นปลายเปิดที่ช่วยฝึกการแก้ปัญหาและพัฒนาการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
ทุกครั้งที่ลูกเล่นต่อบล็อค ลูก ๆ จะเรียนรู้กระบวนการหาวิธีใหม่ ๆ ในการต่อ สร้าง หรือประกอบสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ลูกจะเรียนรู้ทักษะทางวิทยาศาสตร์ขั้นต้น ด้วยการสังเกตโครงสร้าง และรับรู้เรื่องแรงโน้มถ่วง เวลาที่ต่อแล้วบล็อคหล่นลงมาลูกจะได้ฝึกการใช้ทักษะคณิตศาสตร์ในการนับและคำนวณ ว่าจะใช้บล็อคกี่ชิ้นในการสร้างผลงาน หรือลูกจะได้ฝึกสังเกตเปรียบเทียบความยาว ความกว้างของรูปทรงบล็อคในแต่ละชิ้น และที่สำคัญในการเล่นถ้าพ่อแม่ให้ความสนใจในการทำกิจกรรมร่วมกับลูก ชักชวนให้ลูกพูดคุยและเล่าถึงกิจกรรมนั้น ๆ ก็จะช่วยส่งเสริมให้ลูกเกิดทักษะในการใช้ภาษาที่ดีขึ้นด้วย
สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.