คนที่ทำหน้าที่คิดบทให้เป็นมุมกล้องทั้งหมด ควบคุมทิศทางงานภาพของหนัง ทั้ง Framing, Blocking, การเคลื่อนกล้อง รวมถึงแสงและสีของภาพในหนัง โดยจะทำงานร่วมกับผู้กำกับ ผู้ช่วยกล้อง และนักจัดไฟในกองถ่ายอย่างใกล้ชิด เป็นคนที่คอยตัดสินใจเลือกเลนส์ที่จะใช้ และจำนวนฟิล์มในการถ่ายทำทั้งหมด
หน้าที่ของผู้กำกับภาพ
• คิดบทพูดในเรื่องให้เป็นมุมกล้อง กำหนดการจัดแสง รับผิดชอบทุกอย่างที่เห็นบนจอ
• คิดการเคลื่อนไหวของกล้อง เช่น กล้องจะเคลื่อนไปทางไหนเพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุดและไม่สะดุด เป็นต้น
• กำหนดขนาดภาพ เช่น ฉากไหนต้องถ่าย Medium Shot และฉากไหนต้องการ close up เป็นต้น
• มีความรู้ในศาสตร์ของ Cinematography คือการถ่ายทอดภาพตามคุณลักษณ์ของภาพยนตร์
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ ม.กรุงเทพ
วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล ม.รังสิต
Visual Effects จะรับหน้าที่ต่อจาก Computer-generated imagery (CGI) เป็นคนที่ทำหน้าที่สร้างทุกอย่างที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในภาพยนตร์ให้เกิดขึ้น ด้วยการนำภาพที่ถ่ายในสตูดิโอจริง ๆ (ซึ่งยังไม่สมบูรณ์สร้างเป็นแค่หุ่นที่จำลองขึ้นสูงเท่าของจริง) มาทับซ้อนกับ effect ที่สร้างขึ้นพิเศษด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อให้ผู้ชมเชื่อว่าเหตุการณ์นั้นหรือตัวละครนั้นเกิดขึ้นจริง มีอยู่จริง ช่วยเติมเต็มจินตนาการในการดูหนังมากขึ้น
หน้าที่ของนักออกแบบเทคนิคพิเศษด้านภาพ
• สร้างฉากที่ถ่ายจากของจริงไม่ได้ เช่น ฉากแผ่นดินไหวหรือน้ำท่วมโลก, สร้างเมืองที่พังไปแล้ว 100 ปีให้กลับมาได้, สามารถสร้างเหตุการณ์ที่เป็นไปไม่ได้หรือยากต่อการถ่ายทำให้ออกมาสมจริงได้ เป็นต้น
• เสกของวิเศษต่าง ๆ เช่น ระเบิด ไฟไหม้ ควัน ฝุ่นผง ฝนตก หิมะ สายฟ้า กลุ่มดาว ฯลฯ ด้วยคอมพิวเตอร์ได้อย่างแนบเนียน ไม่มีใครจับได้
• ลบส่วนที่ไม่ต้องการในฉากออก เพื่อความสมบูรณ์ตามเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ เช่น การลบเสาไฟฟ้า เส้นถนน ป้ายโฆษณา ตึกสูงที่ทันสมัยในภาพยนตร์ย้อนยุค เป็นต้น
• ออกแบบตัวละครที่ไม่มีอยู่จริงได้สมจริง ตัวละครโด่งดังที่ถูกสร้างขึ้น เช่น Avatar, Godzilla, มังกรในซีรีส์ดัง Game of Thrones เป็นต้น
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยลัยที่เปิดสอน
คณะดิจิทัลอาร์ต สาขาวิชวลเอฟเฟค ม.รังสิต
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาเทคโนโลนยีสารสนเทศเพื่อการออกแบบ ม.ศิลปากร
คณะดิจิทัลมีเดีย สาขาคอมพิวเตอร์แอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์ ม.ศรีปทุม
นักกำกับแสงหรือแกฟเฟอร์ มีความสำคัญอย่างมากในการถ่ายภาพยนตร์ เพราะบางครั้งต้องถ่ายฉากกลางคืนในเวลากลางวัน นักกำกับแสงจะต้องทำหน้าที่ในการย้อมแสงกลางวันให้เป็นกลางคืนได้ รวมทั้งต้องคำนึงถึงเงาที่จะเกิดขึ้นเมื่อจัดไฟด้วย เพื่อให้ได้ภาพที่มีอารมณ์และมีคุณค่าทางศิลปะตามที่บทต้องการลงบนแผ่นฟิล์ม
หน้าที่ของนักกำกับแสง
• สามารถทำให้แสง 9 โมงเช้าเป็นแสงบ่าย 3 ได้ เพราะบางครั้งไม่สามารถถ่ายตามเวลาจริงได้
• ออกแบบแสงได้สวยงาม รู้ทิศทางของแสงเป็นอย่างดีว่าควรจะใช้แสงจากด้านไหนเพื่อให้ได้แสงที่สมจริงกับเวลาในแต่ละฉาก
• รู้วิธีจัดแสงเพื่อสร้างอารมณ์กับคนดู เช่น แสงจากด้านล่างให้ความรู้สึกน่ากลัว แสงจากด้านบนให้ความรู้สึกดี เป็นต้น
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และดิจิตอล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง
วิทยาลัยการออกแบบ สาขาศิลปะภาพถ่าย ม.รังสิต
คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน สาขาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ทำไมชุดบางชุดที่อยู่ในภาพยนตร์บางเรื่องถึงได้อยู่ในความทรงจำคนดูตลอดกาล การออกแบบคอสตูมไม่ได้ออกแบบเสื้อผ้าให้สวยหรืออลังการที่สุดแต่ต้องออกแบบให้ ’เหมาะสม’ กับคาแรกเตอร์นั้นที่สุด เพราะนักออกแบบเครื่องแต่งกายเชื่อว่า เขาสามารถบอกนิสัยใจคอ สถานะทางสังคมหรือยุคสมัยได้หมดผ่านเสื้อผ้าที่นักแสดงใส่ในแต่ละชุด แถมยังต้องรักษาความสมจริงในแง่ของเวลาด้วย
หน้าที่ของนักออกแบบเครื่องแต่งกาย
• ออกแบบเครื่องแต่งกาย จากการวิเคราะห์ ตีความบทละคร ตัวละคร รวมทั้งยังต้องคำนึงถึงรูปแบบการแสดง และรูปร่างของนักแสดงด้วย
• มีความรู้เรื่องเครื่องแต่งกายในแต่ละยุคสมัย เลือกใช้เครื่องแต่งกายให้เหมาะกับยุคสมัยในภาพยนตร์ และสามารถดัดแปลง มิกซ์แอนด์แมทช์เสื้อผ้าได้แบบขั้นเทพ
• สเก็ตช์รูปได้ วาดเองหรือใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็น และต้องมีความรู้ด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า
• หา reference เครื่องแต่งกายนำเสนอต่อผู้กำกับ ขายงานในส่วนของคอสตูมต่อลูกค้าร่วมกับผู้กำกับได้
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขามัณฑนศิลป์ (แฟชั่นดีไซน์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ ม.ธรรมศาสตร์
คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น ม.กรุงเทพ
นักออกแบบเสียง คือ คนที่ทำหน้าที่อัดเสียงปักมีดเข้าไปในกะหล่ำปลีให้กลายมาเป็นเสียงต่อยกันในภาพยนตร์ เพราะนักออกแบบเสียงเชื่อว่า เสียงเป็นภาษาหนึ่งที่สามารถนำพาไปยังสถานที่หนึ่งได้ สามารถเปลี่ยนอารมณ์ให้เราโกรธหรือดีใจได้ นักออกแบบเสียงจะต้องสามารถสร้างเสียงที่ไม่มีอยู่จริง อย่างเสียงผี เสียงสัตว์ประหลาด และเสียงอื่น ๆ ขึ้นมาจากอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ภาพยนตร์มีมิติและได้อรรถรสมากขึ้น
หน้าที่ของนักออกแบบเสียง
• รู้ให้ลึกซึ้งถึงอุปกรณ์ที่ต้องใช้ โปรแกรมและซอฟท์แวร์ต่าง ๆ ที่จะทำขึ้นมาเป็นเสียงอย่างดี
• ออกแบบเสียงได้ เช่น เสียงทอดเบคอนตามความแรงของไฟที่ต่างกันสามารถใช้เป็นเสียงฝนตกได้ เป็นต้น
• รู้ว่าเสียงแต่ละเสียงมีความหมายซ่อนอยู่ เช่น เสียงแก้วแตกหมายถึงจุดจบของความสัมพันธ์ เป็นต้น
• มีมาตรฐานของตัวเอง เพราะเสียงที่ดีอาจจะไม่ใช่เสียงที่ใช่ในฉากนั้น ๆ
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ สาขาวิชาเทคโนโลยีดนตรี ม.มหิดล
คณะดุริยางคศาสตร์ สาขาวิชาดนตรีเชิงพาณิช ม.ศิลปากร
วิทยาลัยดนตรี สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์และมัลติมีเดีย ม.รังสิต
บางครั้งการถ่ายทำต้องใช้กล้องหลายสิบตัวซึ่งกล้องแต่ละตัวก็จะให้สีที่ไม่เหมือนกันเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นหน้าที่ของคนทำสีภาพจึงเป็นหน้าที่เกือบสุดท้ายของกระบวนการทำหนัง เพราะต้องพิจารณาสีทั้งหมดในแต่ละฉากให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันแล้วจึงปรุงแต่งสีให้มีมิติ ก่อนจะใช้สีเป็นภาษาเพื่อทำให้คนดูเกิดอารมณ์ร่วม เพราะคนทำสีภาพเชื่อว่า ‘สี’ สามารถช่วยให้หนังเล่าเรื่องของมันได้ดีไม่แพ้เทคนิคอื่น ๆ
หน้าที่ของคนทำสีภาพ
• แก้สีฟุตเทจทั้งหมดให้ออกมาเป็นสีเดียวกัน นำภาพที่ถ่ายได้ทั้งหมดมาย้อมสีให้เป็นสีโทนเดียวกันทั้งเรื่อง
• รู้ความหมายของสี ที่สัมพันธ์กับอารมณ์ เช่น สีเหลือง สื่อถึงความวิกลจริต ความเจ็บป่วย เป็นต้น
• เช็คอุณหภูมิสีจากเครื่องวัดได้ เพราะไม่สามารถใช้ตาเปล่าในการปรับได้ และเพื่อไม่ให้สีที่ได้ผิดเพี้ยน
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
คณะดิจิทัลมีเดีย สาขาคอมพิวเตอร์แอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์ ม.ศรีปทุม
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน วิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย ม.ธรรมศาสตร์
คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน สาขาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
แหล่งข้อมูล
- ศิลปะในการจัดแสง (The arts of lighting). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2561 จาก https://oservice.skru.ac.th
- Everything you hear on film is a lie โดย Tasos Frantzolas. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2561 จาก www.ted.com
- What does a gaffer do on a film set?. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2562 จาก https://entertainment.howstuffworks.com
- หน้าที่ความสำคัญของแผนกคัดเลือกนักแสดงและแผนกจัดหาเสื้อผ้าในงานภาพยนตร์โฆษณา. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2561 จาก https://digi.library.tu.ac.th
- How color helps a movie tell its story โดย Kate Torgovnick May. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2561 จาก https://ideas.ted.com
- Visual Effects Q&A with Michael Elson. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2561 จาก www.intofilm.org
เรื่อง : วัลญา นิ่มนวลศรี