กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ ฮ้าไฮ้ ฮ้าไฮ้
พอพูดถึงคำว่ากีฬา เพลงนี้ก็ลอยขึ้นมาในหัวเลยใช่ไหมล่ะคะ ผนวกกับช่วงเวลานี้ที่เพิ่งผ่านพ้นเทศกาลฟุตบอลโลกมาไม่นาน ครูพิมเลยคิดว่า ผู้ปกครองหลาย ๆ ท่าน คงน่าจะยังอินอยู่กับกระแสของฟุตบอลโลกกันอยู่บ้าง เลยเป็นที่มาของบทความในวันนี้ค่ะ
การได้ออกกำลังอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการทางร่างกายให้กับเด็ก ทำให้เด็กๆ ได้ใช้ทักษะของร่างกายที่หลากหลาย เช่น ใช้ขาในการเคลื่อนที่แบบต่างๆ ใช้แขนในการหยิบจับหรือขยับขึ้นลง และใช้ลำตัวในการพยุงและทรงตัว อีกทั้งยังกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ได้ทั้งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยในการเจริญเติบโตตามวัย และยังช่วยเสริมความแข็งแรงของระบบต่างๆ ภายในในร่างกายได้เป็นอย่างดี
เมื่อสุขภาพกายดีแล้ว ร่างกายก็ยังหลั่งสารแห่งความสุขออกมาในระหว่างการออกกำลังกายอีกด้วย ผนวกกับการได้ใช้เวลาที่มีความสุขร่วมกับผู้อื่น เช่น เพื่อน ๆ ในทีม หรือกองเชียร์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็ก ๆ ได้รับโอกาสในการสร้างเสริมความแข็งแรงทางใจได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ สุขภาพร่างกายที่ดี ทำให้เด็ก ๆ มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยน้อยลง ซึ่งเป็นการลดสาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดความเครียดได้อีกทางหนึ่งค่ะ
การเล่นกีฬาเป็นทีม ช่วยสร้างโอกาสให้เด็กเรียนรู้การทำงานร่วมกัน รู้จักการทำหน้าที่ของตนเอง และเข้าใจหน้าที่ของผู้อื่น รู้จักการวางแผน การเชื่อฟังหัวหน้าหรือผู้ที่อาวุโสกว่า อีกทั้งกิจกรรมกีฬา เป็นกิจกรรมที่มีกติกาที่ชัดเจน ทำให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะทางสังคมได้อย่างเป็นธรรมชาติอีกด้วยค่ะ
ในชีวิตปกติของเด็ก ๆ นั้น อาจจะไม่ได้รู้จักคำว่า แพ้ หรือ ชนะ มากนัก เว้นเสียแต่เป็นเด็กนักกิจกรรมที่เข้าร่วมการแข่งขันต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ ดังนั้น การเล่นกีฬาจึงเป็นหนทางหนึ่งที่สามารถใช้สอนเด็ก ๆ ให้เรียนรู้หลักการและความรู้สึกของการแพ้และชนะได้อย่างสมวัย ได้เรียนรู้ถึงการตั้งเป้าหมาย การเพียรพยายาม รวมทั้งเรียนรู้ถึงรสชาติของความผิดหวัง ที่ไม่ใช่เพียงความรู้สึกของตนเองเพียงคนเดียว แต่ยังทำให้เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ทั้งเพื่อนร่วมทีม และคู่แข่งขัน ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าหรือ EF ได้ต่อไปในอนาคตค่ะ
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของการให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเล่นกีฬาเป็นทีม คือ การที่เขาได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งสิ่งที่ตนเองทำได้ดี และสิ่งที่ตนเองอาจจะทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดีนัก เพราะกีฬาแบบทีมนั้น ส่วนใหญ่จะมีการวางตำแหน่งผู้เล่นไปตามความสามารถและความถนัดของแต่ละบุคคล ซึ่งในจุดนี้นี่เอง ที่จะเป็นการสอนเด็กให้ได้เรียนรู้ถึงความหลากหลายของความสามารถ ที่แม้จะเป็นกีฬาชนิดเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเก่งในแบบเดียวกัน และเขายังจะได้เรียนรู้ทั้งจุดเด่นและจุดด้อยที่ตนเองมี เรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยมีกีฬาเป็นสื่อกลางนั่นเองค่ะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก