แต่สิ่งเหล่านั้น อาจไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับสิ่งที่เรียกว่า ความพร้อมและพัฒนาการของลูกในการเข้าโรงเรียน โดยเฉพาะพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับการจับดินสอขีดเขียน (ที่เราอาจจะเริ่มรับรู้กันแล้วว่า เป็นสิ่งที่เร็วเกินไปสำหรับวัยอนุบาล)
แต่เมื่อเรื่องบางเรื่องเราอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้ครูพิมจึงอยากนำเคล็ดลับดี ๆ มาฝากกันในระหว่างที่เด็ก ๆ ยังมีเวลาได้ทำกิจกรรมร่วมกับคุณพ่อคุณแม่อยู่ที่บ้าน เป็นกิจกรรมง่าย ๆ แต่ช่วยให้เด็ก ๆ ได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างนิ้วมือทั้ง 10 ได้อย่างเต็มที่เลยล่ะค่ะ
ในกิจวัตรประจำวันของแต่ละวัน เราต้องหยิบนั่น หยิบนี่เข้าออจากที่ของมันอยู่แทบจะตลอดเวลาเลยใช่ไหมละค่ะ และนี่เองที่จะเป็นโอกาสอันดีที่จะให้เด็กได้ใช้มือน้อยๆ ของเขาในการหยิบจับและเก็บของเหล่านั้นกลับเข้าที่ ไม่ว่าจะเป็นถ้วยชาม (ที่ไม่แตก) แปรงสีฟันของตัวเอง หรือแม้แต่เสื้อผ้าที่ใส่แล้ว ก็อาจจะให้เด็กๆ ช่วยหยิบไปใส่ในตะกร้าได้ค่ะ ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ใช้กล้ามเนื้อมือเท่านั้น แต่ยังเป็นการฝึกฝนการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นในเบื้องต้นอีกด้วยนะคะ
ในแต่ละมื้ออาหาร หากเราจะแบ่งเวลาสักช่วงหนึ่งให้เด็ก ๆ ได้ฝึกใช้ช้อนส้อมด้วยตนเอง อาจจะหกบ้าง เลอะบ้าง ก็ไม่เป็นไรค่ะ ขอให้พึงระลึกไว้ว่า นี่คือโอกาสในการฝึกฝนกล้ามเนื้อมือของลูก
การเล่นกับวัสดุที่มีความยืดหยุ่นหรือเปลี่ยนรูปร่างได้ เป็นตัวกระตุ้นพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้เป็นอย่างดีเลยล่ะค่ะ ที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมทักษะเกี่ยวกับด้านสมาธิ การจดจ่อ และเสริมสร้างจินตนาการของเด็ก ๆ ได้อีกด้วย
ลูกบอลเป็นของเล่นที่เป็นที่โปรดปรานของเด็ก ๆ อยู่แล้วค่ะ แต่การเลือกขนาดที่หลากหลาย ก็ช่วยเสริมพัฒนาการของเด็ก ๆ ขึ้นมาได้อีกระดับหนึ่ง ครูพิมแนะนำว่า หากอยากจะกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อมือให้เด็ก ๆ เพิ่มอีกสักนิด การเลือกเล่นลูกบอลที่มีขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือของเด็กสักเล็กน้อย ก็จะทำให้เด็ก ๆ ได้ใช้นิ้วเล็ก ๆ ของเขาช่วยพยุงลูกบอลได้มากขึ้น ทำให้ได้ฝึกออกแรงผ่านการเล่นสนุกได้อย่างดีเลยล่ะค่ะ
เมื่อรู้จักเล่น ก็ต้องรู้จักล้าง แต่การล้างในที่นี้ ครูพิมไม่ได้คาดหวังถึงความเอาจริงเอาจังด้านความสะอาดนะคะ แต่อยากให้มองเป็นโอกาสในการใช้มือเล็ก ๆ ของเขาเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง และยังเป็นการฝึกฝนให้เด็ก ๆ รู้จักดูแลรักษาสิ่งของของตนเองอีกด้วยค่ะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก