Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Stop Cyberbullying, Start Empathizing หยุดแกล้งรังแกกันบนโลกออนไลน์

Posted By Plook Magazine | 01 ส.ค. 61
13,266 Views

  Favorite

การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ในปัจจุบันร้ายแรงไม่แพ้การแกล้งกันด้วยการใช้กำลัง เพราะอินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนสนามของการกลั่นแกล้งให้ร้ายกาจมากขึ้น หลายคนอาจต้องอึ้งเมื่อรู้ว่า เด็กไทย 39% มองเรื่อง Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องสนุก และอีก 28% มองว่าการกลั่นแกล้งกันแบบนี้เป็นเรื่องปกติ Plook ฉบับนี้อยากให้ทุกคนร่วมกันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ไปด้วยกัน และร่วมกันสร้างสังคมออนไลน์ให้ปลอดภัย สามารถรับมือกับการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออน์ไลน์ได้อย่างมีสติ

 

แกล้งกันบนโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องสนุก

 

แกล้งกันบนโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องสนุก

เรากำลังอยู่ในวัฒนธรรมที่เห็นการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์เป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง โดยไม่ได้สนใจว่าใครจะเจ็บปวดหรือมีผลร้ายแรงอะไรตามมาบ้าง เราสนุกไปกับข่าวซุปซิปกอสซิป รายการเรียลลิตี้โชว์ที่ใช้การกลั่นแกล้งหรือล้อเลียนเรียกผู้ชมและยอดคลิก แต่รู้ไหมว่า การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ นำไปสู่การคิดฆ่าตัวตายมากกว่าการกลั่นแกล้งแบบอื่น โดยเฉพาะการกลั่นแกล้งที่มีต้นเหตุเป็นรูปโป๊หรือคลิปเปลือยประกอบ

 

Cyberbullying

 

เคยทำแบบนี้กับใครบนโลกออนไลน์หรือเปล่า

การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์มีหลายรูปแบบ ที่ทำกันจนเป็นเรื่องปกติคือ การแสดงความคิดเห็นที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง (Hate Speech) กับคนที่เราไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวได้อย่างร้ายกาจ หรือในสังคมทวิตเตอร์ ที่มักจะมีการติดแฮชแท็กต่อว่าคนที่ไม่รู้จักได้เหมือนเป็นเรื่องปกติ

 

Cyberbullying


•  แสดงความคิดเห็นเกลียดชัง (Hate Speech)
การแสดงความคิดเห็นที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ดูถูก เหยียดหยามผู้อื่น ล้อเลียนปมด้อย พูดจาเสียดสี ไปจนถึงการทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นตัวตลกในโลกออนไลน์โดยไม่สนใจว่าเขาจะรู้สึกเสียใจแค่ไหน
 

• การตีตราคนอื่น (Public Humiliation)
พูดเรื่องอดีตที่น่าอาย ขุดเรื่องราวอื้อฉาวที่ส่อไปในทางเพศ หรือทำให้คนอื่น ๆ จดจำเขาในทางที่ไม่ดี ทั้งที่เรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้นและจบไปแล้ว การกลั่นแกล้งลักษณะนี้มักเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว เช่น การแคปข้อความที่คุยกันมาเผยแพร่สร้างความเสียหาย, โพสต์ภาพหลุดเพื่อนเพื่อให้คนมาคอมเมนต์ล้อ เป็นต้น
 

 แชร์ต่อ (Sharing)
แม้เราจะรู้ทั้งรู้ว่านั่นเป็นการกลั่นแกล้ง แต่ก็ยังส่งต่อข้อมูลนั้นไปสู่คนอื่น รวมถึงการแชร์เพราะเห็นใจคนในคลิปก็ถือเป็นการรังแกทางอ้อม เพราะหมายความว่าเรากำลังสนับสนุนให้การกลั่นแกล้งนั้นรุนแรงขึ้น กระจายออกไปมากขึ้น ทุกการแชร์ทำให้คนโดนแกล้งรู้สึกแย่มากขึ้น เพราะการแชร์สามารถปลุกระดมให้เกิดความรุนแรงและความเกลียดชังตามมาได้ ทางที่ดีควรให้มันจบที่เราก็พอ ไม่ต้องแชร์ต่อ
 

• การติดแฮชแท็ก (Hashtag)
แฮชแท็กเป็นช่องทางอันดับต้น ๆ ที่คนในโซเชียลใช้เพื่อรังแกคนอื่น การติดแฮชแท็กครั้งหนึ่งก็เหมือนการเข้าไปร่วมวงทำร้ายคนคนหนึ่งด้วย หรือแม้กระทั่งการรีโพสต์แฮชแท็กนั้นต่อก็ถือเป็นการสนับสนุน ยิ่งนำข้อมูลส่วนตัว รูปภาพ คลิปของผู้อื่นมาติดแฮชแท็กโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อชี้นำความรุนแรงถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย
 

• การปล่อยข่าวลือ (Rumor)
หรือการปล่อยข่าวปลอมเกี่ยวกับคนอื่น แต่งเรื่องราวขึ้นตามความเข้าใจของตัวเอง ใช้ความรู้สึกเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ ส่วนมากมักจะอ้างว่าตัวเองเป็นคนใกล้ชิด เป็นเพื่อน เป็นคนรู้จัก ทั้งที่ไม่ได้รู้เรื่องราวที่แท้จริงเลย แต่กลับสร้างความเสียหายให้คนอื่นอย่างมหาศาล

 

      คุณเป็นคนชอบแกล้งคนอื่นบนโลกออนไลน์หรือเปล่า

    เคยทำ 4-5 ข้อ = คุณเป็นคนที่ชอบแกล้งคนอื่นมาก ทำจนเคยชิน คิดว่าการแกล้งแบบนี้เป็นเรื่องปกติ    

   เคยทำ 2-3 ข้อ = คุณเป็นคนที่ชอบแกล้งคนอื่นเหมือนกัน บางเรื่องคุณก็มองว่าไม่น่ารัก
แต่บางเรื่องก็ร่วมวงแกล้งคนอื่น โดยที่รู้สึกว่าสนุกจังเลย    

เคยทำ 0-1 ข้อ = คุณเป็นคนเฉย ๆ จนถึงไม่ชอบแกล้งคนอื่น เพราะคุณอาจเคยโดนแกล้ง
หรือมีทักษะที่ดีในการใช้โซเชียล

  

 

คิดให้ดีก่อนแกล้งใครบนโลกออนไลน์

การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ในแต่ละครั้ง จะประกอบด้วยบุคคล 3 บุคคล ได้แก่ คนโดนแกล้ง คนแกล้ง และคนที่เห็นคนโดนแกล้ง ทำให้เกิดการหมุนเวียนเป็นวงจรของการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ผลกระทบที่ตามมาอาจจะไม่ใช่แค่ทำร้ายจิตใจ แต่ยังต้องโทษทางกฎหมายด้วย

 

คิดให้ดีก่อนแกล้งใครบนโลกออนไลน์

 

ชอบแกล้งคนอื่น

หากคิดจะแกล้งคนอื่นบนโลกออนไลน์นอกจากจะทำให้เขาเจ็บปวดทางใจแล้ว คุณจะต้องโทษตั้งแต่ถูกปรับไม่เกิน 200,000 บาท จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับในกรณีเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นนำภาพของผู้อื่นไปตัดต่อ ดัดแปลง โดยอาจทำให้ผู้นั้นเสียหาย เสียชื่อเสียง หรือได้รับความอับอาย

คิดให้ดีก่อนแกล้งคนอื่น
• คุณกำลังทำร้ายจิตใจคนคนหนึ่งอยู่
• ยังรู้จักเขาไม่ดีพอ อย่าด่วนตัดสินทุกอย่างไปเอง
• ก่อนโพสต์ คอมเมนต์ หรือแชร์อะไรให้คิดถี่ถ้วนเสมอ
• เคารพซึ่งกันและกัน ยอมรับความแตกต่างและเท่าเทียมของสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ฐานะทางเศรษฐกิจ และระดับความสามารถ


 

คิดให้ดีก่อนแกล้งใครบนโลกออนไลน์


เป็นคนโดนแกล้ง

แนะนำว่าอย่าเพิ่งโต้ตอบทันที เพราะจะเปลี่ยนสถานะจากเหยื่อกลายเป็นคู่ต่อสู้ ซึ่งอาจทำให้ถูกตัดสินว่ามีความผิดทั้งคู่ได้ เริ่มแรกอยากให้บอกเพื่อนที่ไว้ใจ เล่าให้ครูหรือผู้ใหญ่ฟังเพื่อช่วยหยุดเรื่องที่ไม่ดีนี้ไปด้วยกัน อย่าเก็บไว้คนเดียว และอย่าแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

อย่าสู้คนเดียว
• คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดเรา
• บอกคนแกล้งให้หยุด ณ ตอนนั้น
• อย่าตอบโต้ แก้แค้น หรือเอาคืน
• แคปหน้าจอไว้เป็นหลักฐานและแจ้งผู้ใหญ่เพื่อขอความช่วยเหลือ
• Block/Unfriend ผู้กลั่นแกล้ง

 

 

คิดให้ดีก่อนแกล้งใครบนโลกออนไลน์


เห็นคนโดนแกล้ง

คุณมีบทบาทสำคัญมากที่จะหยุดการกลั่นแกล้ง ยิ่งคนโดนแกล้งอายุไล่เลี่ยกับคุณ เขาจะยิ่งไว้ใจให้คุณช่วยเหลือ เพราะบางครั้งคนที่โดนแกล้งอาจไม่มีความเข้มแข็งมากพอที่จะช่วยตัวเอง แต่ถ้าในกรณีที่คุณเห็นเพื่อนหรือคนใกล้ตัวกำลังแกล้งคนอื่นอยู่ก็ต้องเตือนเขาทันที

 

อย่าด่วนเชื่อ รีบแชร์ 
• อย่าด่วนตำหนิหรือสมน้ำหน้าบุคคลในข้อความ/รูปภาพ/คลิปนั้น
• อย่ากดแชร์หรือไลก์ข้อความ/รูปภาพ/คลิปนั้น
• หากผู้ถูกกลั่นแกล้งมาปรึกษา ให้รับฟังอย่างตั้งใจ
• หาแง่มุมของตัวเองที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นมาแนะนำ
• สอบถามความจริงจากผู้ถูกกลั่นแกล้ง

 

 

สร้างโลกออนไลน์ให้ปลอดภัยจากการกลั่นแกล้ง

 

สร้างโลกออนไลน์ให้ปลอดภัยจากการกลั่นแกล้ง

• ไม่สร้างความรุนแรง ไม่เข้าไปยุ่งหรือมีส่วนร่วมในการตอกย้ำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น

• ตั้งความเป็นส่วนตัวในโซเชียล เพื่อเวลาที่ใครจะแท็กอะไร เราจะได้รู้และกดอนุญาตก่อน

• บางเรื่องควรปล่อยผ่านไป หากเจอคลิปหรือโพสต์ที่เป็นการกลั่นแกล้งกัน ก็ไม่ควรแชร์หรือคอมเมนต์ต่อ

• ยับยั้งชั่งใจตัวเอง บางครั้งเราอาจมีอารมณ์หรือโมโหกับสิ่งที่เกิดขึ้น ให้ตั้งสติและโพสต์ด้วยเจตนาที่ดีเท่านั้น

• ช่วยกันสอดส่องไม่ให้ใครถูกรังแกเพิ่ม หากเห็นเพื่อนโพสต์หรือคอมเมนต์แชร์การกลั่นแกล้ง ควรเตือนเพื่อน
อย่างสุภาพ

 

 

แหล่งข้อมูล

การรังแกกันบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 จาก http://cclickthailand.com

Ted Talks: The Price Of Shame by Monica Lewinsky. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 จาก   https://www.ted.com

SPEAK OUT, STAND TALL, STOP BULLYING สร้างความเข้าใจ เรียนรู้และช่วยกันป้องกันคนที่เรารักจากการโดนกลั่นแกล้ง. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 จาก https://www.ted.com

Cyberbullying: Aggressive Misbehavior and Innovation for Solution: การรังแกผ่านโลกไซเบอร์ ความรุนแรงที่ต้องแก้ไขและนวัตกรรมการจัดการปัญหา โดยนภาวรรณ อาชาเพ็ชร. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 จาก http://ejournals.swu.ac.th

Youth Perceptions on Cyberbullying:  การรับรู้ของเยาวชนต่อการรังแกในพื้นที่ไซเบอร์ โดยณัฐรัชต์ สาเมาะและคณะ. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 จาก https://tci-thaijo.org

Ted Talks: How Fake News Does Real Harm by Stephanie Busari. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 จาก https://www.ted.com

 

 

เรืื่อง : วัลญา นิ่มนวลศรี

ภาพประกอบ : พลอยขวัญ สุทธารมณ์

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow