มารี กูรี อาจเป็นชื่อที่หลายคนคุ้นหูกัน เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์หญิงท่านนี้มีชื่อเสียงทางด้านเคมีอย่างยิ่ง เพราะว่าเธอนั้นได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 สาขาคนเดียวในโลก โดยครั้งแรกเธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ จากผลงานการวิจัยร่วมกันกับปิแอร์ กูรี สามีของเธอ และเฮนรี เบคเคอเรล เรื่อง ปรากฏการณ์การแผ่รังสี และครั้งที่สองในสาขาเคมี จากผลงานการค้นพบธาตุเรเดียมและธาตุโพโลเนียม ซึ่งสิ่งที่เธอค้นพบนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ในการรักษามะเร็งอีกด้วย นอกจากนี้เธอยังทำคุณประโยชน์อีกมากมายให้แก่โลกของเรา โดยการนำความรู้ของเธอช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงแม้มารี กูรี จะสร้างประโยชน์ให้แก่โลกมากมาย แต่เธอต้องเสียชีวิตลงในวัย 66 ปี ด้วยโรคไขกระดูกฝ่อ ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของเธอที่ได้รับกัมมันตภาพรังสีมาตลอด
นักเคมีหญิงอีกหนึ่งท่านที่ควรรู้จัก นั่นก็คือ โรซาลินด์ แฟรงคลิน นักเคมีและผลึกวิทยาชาวอังกฤษ เมื่อพูดถึงเธอคนนี้จะต้องนึกถึง โฟโต้ 51 เป็นผลงานที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักจนถึงทุกวันนี้ โฟโต้ 51 คือ ภาพถ่ายจากการเลี้ยวเบนรังสีเอ็กซ์ของดีเอ็นเอ ทำให้ค้นพบโครงสร้างเกลียวคู่ของดีเอ็นเอ แม้ในตอนแรกเธอจะไม่ได้รับการสนใจและจารึกชื่อไว้ว่าเป็นผู้ค้นพบ แต่หลังจากเธอเสียชีวิตลง ก็มีผู้สนใจและทำให้เธอมีชื่อเสียงจากการค้นพบครั้งนี้
เธอผู้นี้เป็นผู้หญิงอีกหนึ่งคนที่ได้รับรางวัลโนเบลจากการศึกษาโครงสร้างผลึกด้วยรังสีเอกซ์ (X-ray crystallography) และทำให้ค้นพบโครงสร้างของวิตามินบี 12 ซึ่งเป็นวิตามินที่มีความสำคัญมากต่อการทำงานของเซลล์ รวมถึงการค้นพบโครงสร้างของยาเพนิซิลลินซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก โดยการค้นพบนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถนำไปสังเคราะห์ยาปฏิชีวนะตัวอื่นและทำให้เรามียาใช้รักษาโรคต่าง ๆ จนถึงทุกวันนี้ การค้นพบของโดโรธี ฮอดจ์กินนี้ นอกจากจะเป็นผลงานทางด้านเคมีแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในสาขาวิชาการแพทย์ได้อีกด้วย
หลายคนอาจจะคุ้นหูนามสกุลกูรีของเธอคนนี้ ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะเธอไม่ใช่คนอื่นคนไกลของนักเคมีที่เราคุ้นหูกันดี นั่นคือมารี กูรี ผู้หญิงคนนี้ อีแรน ฌอลีโย กูรี เธอเป็นลูกสาวของมารี กูรี และ ปิแอร์ กูรี นักเคมีที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และเธอคนนี้ก็เป็นลูกไม้ที่หล่นใต้ต้นที่มีผลงานความสามารถไม่ต่างจากพ่อและแม่ของเธอ อีแรน ฌอลีโย กูรี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีร่วมกับสามีของเธอเฟรเดริก ฌอลีโย กูรี จากการค้นพบกัมมันตรังสีเหนี่ยวนำ ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงและมีประโยชน์ต่อโลกเราอย่างมาก