โดยส่วนใหญ่ข้อต่อในร่างกายจะประกอบไปด้วยกระดูกสองชิ้น ส่วนปลายกระดูกมีกระดูกอ่อนปกคลุมอยู่ เชื่อมต่อกันด้วยเอ็นซึ่งอยู่รอบ ๆ ข้อ บริเวณที่เป็นพื้นที่ว่างระหว่างกระดูกสองชิ้นที่มาต่อกันจะมีน้ำแทรกอยู่ เรียกว่า น้ำไขข้อ (Synovial Fluid) ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำเหนียว ๆ มีก๊าซละลายอยู่ เช่น ออกซิเจน ไนโตรเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำไขข้อนี้จะทำหน้าที่หล่อลื่น ช่วยให้ข้อต่อสามารถงอ เหยียด หรือเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด
สำหรับนิ้วมือของเราก็เช่นกัน เมื่อเราหักข้อนิ้วมือด้วยแรงกดและความเร็วที่มากกว่าปกติที่เรางอนิ้วมือธรรมดา จะทำให้ความดันภายในน้ำไขข้อลดต่ำลงมากกว่าปกติ ก๊าซที่อยู่ในน้ำไขข้อจะเกิดการรวมตัวกันกลายเป็นฟองก๊าซ ซึ่งเสียง "ก๊อก" ที่เราได้ยินก็คือ ระเบิดของฟองอากาศในน้ำไขข้อนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เราก็ยังไม่อาจบอกได้ว่า เสียงระเบิดของฟองอากาศในน้ำไขข้อเป็นที่มาของเสียงหักข้อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีนักวิจัยที่ใช้กล้องขนาดเล็กสังเกตการระเบิดของฟองอากาศ และพวกเขาพบว่า แม้ว่าเสียงหักข้อจะเกิดขึ้นไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีฟองอากาศอยู่ในข้อต่ออยู่ดี มันจึงยังเป็นสิ่งที่บรรดานักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ยังต้องหาข้อมูลและสาเหตุของเสียง "ก๊อก" ที่แท้จริงต่อไป
ภาวะข้อเสื่อมเป็นภาวะที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างแน่นอน เพราะมันทำให้เราเคลื่อนไหวได้ลำบาก ข้อสงสัยหนึ่งก็คือการหักข้อต่อจนเกิดเสียงบ่อยครั้ง จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ข้อเสื่อมหรือไม่ ซึ่งจากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่มีข้อนิ้วเสื่อมโดยมีพฤติกรรมหักข้อนิ้วและไม่หักข้อนิ้ว พบว่า พฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้มีความสัมพันธ์กับโรคข้อเสื่อมแต่อย่างใด การที่ข้อเสื่อมนั้นมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุที่มากขึ้น กิจกรรมที่ทำซึ่งอาจส่งผลต่อข้อต่อ และพันธุกรรม