การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในวัยรุ่นส่วนใหญ่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป และเสี่ยงต่อการเกิดสิว แต่นอกจากปัจจัยข้อนี้แล้ว ก็ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดสิวได้เช่นกัน นั่นคือ อาหาร เนื่องจากการกินอาหารสามารถเพิ่มน้ำตาลในเลือด เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จะทำให้ร่างกายของเราผลิตสารชนิดหนึ่งออกมา เรียกว่า อินซูลิน การที่มีอินซูลินอยู่ในเลือดมากสามารถส่งผลให้ผิวหนังของเราผลิตน้ำมันออกมาตามรูขุมขนมากขึ้นด้วย
อาหารที่มีผลต่อการหลั่นอินซูลินทำให้อินซูลินในเลือดสูง เช่น พาสต้า ข้าวที่ผ่านการขัดสี น้ำตาล ขนมปังขาว อาหารเหล่านี้ล้วนเป็นอาหารที่มีไกลซีมิก (Glycemic) สูง เป็นอาหารที่มีทั้งน้ำตาลและแป้งสูง นอกจากนั้นอาหารอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม ไขมันอิ่มตัว (Saturated fats) เช่น เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช เนย ไขมันทรานส์ (Trans fats) ซึ่งอยู่ในอาหารทอด เนยเทียม มาการีน เบเกอรี มันฝรั่งทอดกรอบ เค้ก เหล่านี้ล้วนเป็นอาหารที่มีส่วนกระตุ้นฮอร์โมน สามารถเพิ่มการผลิตน้ำมันบนผิวได้
การกินอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสามารถช่วยลดการเกิดสิวได้ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสามารถพบได้ในอาหาร เช่น ขนมปังโฮลวีต ข้าวกล้อง ถั่ว ผักและผลไม้ที่ยังไม่แปรรูป หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของวิตามินเอ วิตามินอี ธาตุสังกะสี (Zinc) ก็สามารถลดการอักเสบของสิวได้
จากการวิจัยต่าง ๆ กล่าวว่า การกินอาหารที่มีไกลซีมิกต่ำ (Low Glycemic) นั่นก็คือการลดการกินแป้งและน้ำตาล จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและมีส่วนป้องกันการเกิดสิวได้ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยว่า การกินอาหารที่มีไกลซีมิกต่ำ และกินอาหารที่มีโปรตีนสูงเป็นเวลา 12 สัปดาห์ติดต่อกัน จะช่วยลดการเกิดสิวและลดน้ำหนักได้ด้วย
ตัวอย่างของอาหารที่สามารถช่วยลดสิวได้ เช่น
ธาตุสังกะสี (Zinc) จากการวิจัยความสัมพันธ์ของระดับธาตุสังกะสีในเลือดและการอัตราเกิดสิว พบว่าธาตุสังกะสีมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญอาหารและระดับของฮอร์โมนในร่างกาย การกินธาตุสังกะสีปริมาณ 40 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดการเกิดสิวได้ อาหารที่มีธาตุสังกะสีสามารถลดการเกิดสิวได้ เช่น เมล็ดฟักทอง เนื้อวัว มะม่วงหิมพานต์ ธัญพืชตระกูลข้าว เช่น คีนัว (Quinoa) ถั่วเลนทิล (Lentils) อาหารทะเล เช่น หอยนางรมและปู เป็นต้น
วิตามิน A และวิตามิน E จากการศึกษาวิจัยพบว่า ระดับของวิตามิน A และ E ที่ต่ำมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดสิวที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การกินอาหารที่มีวิตามิน A และ E จึงอาจช่วยลดการเกิดสิวได้ อย่างไรก็ตาม ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากการกินวิตามิน A มากเกินไปอาจส่งผลต่ออวัยวะสำคัญในร่างกายได้ ทั้งนี้ อาหารที่มีวิตามิน A สูง เช่น แคร์รอต ผักใบเขียว ฟักทอง ตับ ส่วนอาหารที่มีวิตามิน E สูง เช่น เมล็ดทานตะวัน ถั่วแอลมอนด์ มะเขือเทศ
แอนติออกซิแดนท์ (Antioxidants) และโอเมกา 3 (Omega 3) โอเมก้า 3 เป็นไขมันที่พบในโปรตีนจากพืชและสัตว์ เช่น ปลาทะเล ไข่ ส่วนสารแอนติออกซิแดนซ์ (Antioxidant) พบได้ในชาเขียว ซึ่งทั้งแอนติออกซิแดนต์และโอเมกา 3 ช่วยลดการอักเสบของสิวได้ นอกจากนั้นยังช่วยผ่อนคลายความเครียด มีผลต่อด้านจิตใจอีกด้วย