Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Tips: หลักการเขียน Essay ในภาษาอังกฤษ

Posted By Plook Creator | 20 ก.ค. 61
173,345 Views

  Favorite

การเขียน Essay (เอสเส) หรือ การเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องพบในการสอบวัดทักษะภาษาอังกฤษ เช่น IELTS, TOEFL ซึ่งเป็นการวัดศักยภาพการเขียน แต่นับว่าเป็นส่วนที่สร้างความลำบากใจอย่างมากทีเดียว ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจในโครงสร้าง และหลักการเขียน Essay ในภาษาอังกฤษ


Essay คืออะไร?

Essay คือ เรียงความหรือบทความที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ มักใช้วัดทักษะการเขียนภาษาอังกฤษทั้งหมดในการสอบวัดทักษะภาษาอังกฤษ เช่น IELTS, TOEFL เป็นต้น


ประเภทของ Essay

Essay มีหลากหลายชนิด เช่น
1. Process Essay : เป็นเรียงความที่เขียนอธิบายตามลำดับ เช่น ตามลำดับเวลา, ตามลำดับขั้นตอน
2. Argument Essay : เรียงความโต้เถียง เป็นการเขียนแสดงเหตุผลสองด้านคือ ด้านสนับสนุนและด้านโต้แย้ง
3. Description Essay : เป็นเรียงความที่พรรณาเรื่องราวข้อเท็จจริง เช่น เรื่องราวบันทึกทางประวัติศาสตร์
4. Definition Essay : เป็นเรียงความแบบคำจำกัดความ โดยระบุหัวข้อในประเด็นต่าง ๆของผู้เขียนซึ่งมีทั้งแบบรูปธรรมและนามธรรม
5. Classification Essay : เป็นการเขียนเรียงความแบบแยกประเภท โดยแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ และมีแหล่งข้อมูลแบบเดียวกัน
6.Cause and Effect Essay : เป็นเรียงความที่แสดงเหตุและผล มีโครงสร้างเนื้อหา เหตุการณ์ → สาเหตุ → ผลลัพธ์ → เหตุการณ์
7.Comparison and Contrast Essay : เป็นเรียงความที่แสดงการเปรียบเทียบและข้อแตกต่าง


โครงสร้างของ Essay

Essay โดยทั่วไปประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ
1. Introduction คือ บทนำ เป็นส่วนแรกของบทความ ที่จะบอกว่าบทความนี้นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องอะไร โดยยังไม่ใส่รายละเอียดมากนัก Introduction ต้องดึงดูดใจผู้อ่าน นำเข้าสู่หัวข้อเรื่อง และนำเสนอใจความหลัก องค์ประกอบหลัก ๆ ที่ Introduction ต้องมีคือ การบรรยายทั่วไปหรือทิศทางเข้าสู่หัวข้อเรื่อง, Thesis statement หรือ การพูดถึงใจความหลักของ Essay และมีการสรุปย่อหัวข้อหลัก ข้อคิดเห็น และประเด็นที่เขียนใน Essay ด้วย

2. Body คือ เนื้อความ เป็นส่วนรวมเนื้อหา ใจความสำคัญของเรียงความ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ยาวที่สุด มีได้หลายย่อหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะมี 3-5 ย่อหน้า Body มีหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้อ่าน ลักษณะเด่น ๆ ของ Body คือ

     - Body จะมี 2 ส่วน คือ Topic Sentence อยู่ส่วนแรกของแต่ละ Body เป็นตัวบอกให้ผู้อ่านรู้ว่าเนื้อความย่อหน้านี้พูดถึงเรื่องอะไร และ Supporting details ทำหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือขยายความจาก Topic Sentence รวมถึงยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น
     - ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยการ ยกตัวอย่าง, เปรียบเทียบ, ให้คำนิยาม อธิบายความหมาย และมีการจำแนกประเภท
     - เนื้อหาต้องเกี่ยวข้องกับใจความหลัก
     - ต้องนำเสนอความเป็นจริงและรายละเอียดที่ทำให้ใจความหลักมีความสมเหตุสมผล
     - ต้องนำเสนอรายละเอียดที่สนับสนุนหรืออธิบายความคิดในใจความหลักของเรา
     - นำเสนอเนื้อหาที่โน้มน้าวใจผู้อ่านจากข้อเท็จจริงที่สมเหตุสมผล

3. Conclusion คือ ย่อหน้าสุดท้ายของ Essay เป็นส่วนที่สรุปย้ำใจความสำคัญเนื้อหาอีกครั้ง มักมี 1 ย่อหน้า


หลักการเขียน Essay

1. เลือกหัวข้อ

    เราอาจได้เขียนตามหัวข้อที่กำหนด หรือได้เลือกเขียนหัวข้อตามอิสระก็ได้ ถ้าได้เขียนตามหัวข้อที่กำหนด ควรมองภาพรวมของเนื้อหาหรือการวิเคราะห์แบบเฉพาะเจาะจง จำกัดโฟกัสของเราให้แคบลง แต่ถ้าได้เลือกเขียนหัวข้อตามอิสระ อันดับแรกกำหนดวัตถุประสงค์ของ Essay ว่าจะเป็นแนะนำหรือโน้มน้าวใจ เมื่อกำหนดวัตถุประสงค์แล้วหาหัวข้อที่เราสนใจและเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา สุดท้ายประเมินตัวเลือกของเรา ถ้าเป้าหมายคือการศึกษา ก็เลือกเนื้อหาที่เราได้เรียนไปแล้ว หรือถ้าเป้าหมายคือการโน้มน้าวใจ ก็เลือกเนื้อหาที่เราหลงใหล อย่างไรก็ตามการเขียน Essay นั้นต้องมั่นใจนะว่าเราสนใจในหัวข้อของเราจริง ๆ


2. วางแผน

    แม้จะเป็นการเขียนในระหว่างการสอบ ยอมเสียเวลาสักนิดเพื่อวางแผนระดมความคิดก่อนเริ่มต้นเขียน Essay เพราะการวางแผนรวบรวมความคิดจะช่วยให้เราหา Supporting idea หรือเหตุผลที่ดีที่สุดเพื่อสนับสนุน Topic sentence ได้มากกว่าความคิดแรก และวางตำแหน่งใน Essay ได้ตามลำดับ Supporting idea ที่ดีที่สุด คือ ความคิดที่ชัดเจนที่สุดประกอบกับความรู้ที่เรามี


3. ใช้คำ วลีและประโยคอย่างหลากหลาย

    ความหลากหลายของประโยคและคำศัพท์เป็นหนึ่งในจุดเด่นของการเขียนที่มีประสิทธิภาพ พยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำและวลีซ้ำ ๆ ในขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงการเริ่มต้นประโยคน่าเบื่อ ๆ ในรูปแบบ subject + verb + direct object (ประธาน +กริยา + กรรมตรง)


4. ตรวจเช็กความเรียบร้อย

    หลังจากเขียนเสร็จเรียบร้อย อ่านทบทวนตรวจสอบคำถูกผิด ไวยากรณ์ ลำดับของย่อหน้า ถ้าเป็นเรียงความอธิบายขั้นตอนการทำบางสิ่งบางอย่าง ต้องตรวจสอบให้ดีว่าเขียนตามลำดับขั้นตอนที่ถูกต้องหรือไม่


5. ฝึกเขียนบ่อย ๆ

    การเขียนที่ดีไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นต้องฝึกเขียนบ่อย ๆ แม้ว่างานเขียนชิ้นแรกจะไม่ได้ออกมาระดับ masterpiecesก็ตาม แต่การฝึกเขียนบ่อย ๆ จะทำให้งานเขียนเราดีขึ้นเรื่อย ๆ และพร้อมสำหรับการสอบในสนามจริง



 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 44 Followers
  • Follow