Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

HDL vs. LDL ต่างกันอย่างไร

Posted By sanomaru | 24 ก.ค. 61
17,077 Views

  Favorite

คอเลสเตอรอลเป็นไขมัน (Lipid) ชนิดหนึ่งที่อยู่ในเลือดของเรา โดยเป็นขี้ผึ้งที่มีลักษณะคล้ายไขมัน (Fat) คอเลสเตอรอลในร่างกายของเราประมาณ 75% ผลิตขึ้นจากตับ ส่วนที่เหลืออีก 25% จึงมาจากอาหารบางชนิดที่เรารับประทานเข้าไป การที่ร่างกายของเราผลิตคอเลสเตรอลขึ้นมา นั่นหมายความว่า มันต้องมีบทบาทหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งต่อการทำงานของร่างกายอย่างแน่นอน

 

 

ความสำคัญของคอเลสเตอรอล

คอเลสเตอรอลอาจจะฟังดูเหมือนภัยเงียบหรือเป็นไขมันที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเรา แต่แท้จริงแล้ว พวกมันมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย โดยมีหน้าที่ดังนี้

1. เป็นองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ โดยบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์นั้นเราสามารถพบฟอสโฟลิพิด (Phosholipid) ไกลโคลิพิด (Glycolipid) และคอเลสเตอรอล เป็นต้น
2. มีความสำคัญต่อการสร้างและดูดซึมวิตามินดี เนื่องจากเมื่อรังสียูวีจากดวงอาทิตย์สัมผัสกับผิวของเรา จะเกิดปฏิกิริยาและเปลี่ยนคอเลสเตอรอลที่ผิวหนังให้กลายเป็นวิตามินดี นอกจากนี้วิตามินดียังเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ดังนั้น การที่ร่างกายจะดูดซึมนำไปใช้ประโยชน์ได้จึงต้องมีไขมันเป็นตัวช่วย
3. ใช้ในการสร้างน้ำดี ซึ่งมีส่วนช่วยในการทำให้ไขมันแตกตัวเป็นหยดไขมันเล็ก ๆ ก่อนที่เอนไซม์จะสามารถทำหน้าที่ย่อยพวกมันต่อไปได้
4. ใช้ในการสร้างฮอร์โมนเพศ ได้แก่ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในผู้ชายและเอสโตรเจนในผู้หญิง

ภาพ : Shutterstock

 

ประเภทของคอเลสเตอรอล

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คอเลสเตอรอลจะดีต่อร่างกายเสียทั้งหมด เพราะคอเลสเตอรอลที่อยู่ในเลือดและจับกับโปรตีน ที่เราเรียกว่า "ไลโพโปรตีน (Lipoprotein)" นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท

 

1. HDL (High Density Lipoprotein) หรือไขมันดี คอเลสเตอรอลตัวนี้จะช่วยลำเลียงคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์จากหลอดเลือดแดงและเนื้อเยื่อไปยังตับ เพื่อขับออกจากร่างกายหรือนำไปใช้ใหม่ และไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น รังไข่ อัณฑะ ต่อมหมวกไต (Adrenal Gland) ดังนั้น จึงเป็นไขมันดีที่ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแดงอุดตันได้ นอกจากนี้ HDL ยังมีบทบาทในการยับยั้งการเกิดออกซิเดชัน การอักเสบ และการแข็งตัวของเลือดอีกด้วย

 

2. LDL (Low Density Lipoprotein) หรือไขมันเลว คอเลสเตอรอลตัวนี้ไม่ดีต่อสุขภาพของเราอย่างมาก แม้ว่าหน้าที่หลักของมันจะเป็นการลำเลียงคอเลสเตอรอลไปยังเนื้อเยื่อและหลอดเลืออดแดง แต่ถ้ามีอยู่มากเกินไป ก็มีแนวโน้มจะสะสมในหลอดเลือดแดง และทำให้เกิดการอุดตันได้  ทั้งนี้ LDL ยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ Small Dense LDL และ Large Buoyant LDL โดย Small Dense LDL จะเป็นตัวที่มีไขมันมากกว่า เมื่อมันไปเกาะผนังหลอดเลือดและเกิดการออกซิไดซ์ ก็จะสร้างคราบสะสมขึ้นมาบนผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ขวางกั้นการไหลเวียนของเลือด ซึ่งหากเกิดขึ้นที่เส้นเลือดในสมองก็อาจเป็นสาเหตุของหลอดเลือดในสมองตีบ หรือหากเกิดขึ้นที่หลอดเลือดแดงโคโรนารี ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ก็อาจทำให้หัวใจวายเฉียบพลันจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานได้

ภาพ : Shutterstock

 

หากระดับของ LDL ในเลือดสูง ก็มีโอกาสที่จะทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดตีบตันได้มาก แต่หากมีระดับของ HDL ในเลือดสูงกว่า ก็จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดตีบตันต่ำกว่า

 

อาหารที่ประกอบไปด้วย HDL และ LDL

อาหารซึ่งเป็นแหล่งของ HDL หรือไขมันดี ได้แก่ หัวหอม น้ำมันโอเมกา 3 ปลา อาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหาร เช่น ข้าวโอ๊ต ธัญพืช
อาหารที่เป็นแหล่งของ LDL หรือไขมันเลว ได้แก่  อาหารที่อุดมไปด้วยไขมันทรานส์ น้ำตาลทรายขัดขาว แป้งสีขาว

นอกจากการเลือกรับประทานอาหารที่มี HDL มาก มี LDL น้อย แล้ว การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ น้ำหนักตัวลดลง ก็ยังช่วยเพิ่ม HDL และลดคอเลสเตอรอลรวมได้อีกด้วย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow