Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเกิดฤดูกาล

Posted By Amki Green | 05 ต.ค. 61
87,607 Views

  Favorite

การที่โลกของเรามีฤดูกาลถึง 4 ฤดู ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูร้อน และฤดูหนาวนั้น เกิดจากสาเหตุใด ทำไมโลกของเราจึงมีหลายฤดูกาล วันนี้เรามีคำตอบค่ะ             

      
การเกิดฤดูกาล

เราทราบกันว่า โลกของเรามีการหมุนรอบตัวเอง และการหมุนรอบตัวเอง 1 วัน ทำให้โลกเกิดกลางวันและกลางคืน นอกจากการหมุนรอบตัวเองของโลกแล้ว แต่โลกของเรายังมีการโคจรรอบดวงอาทิตย์ดด้วย โดยการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ใช้เวลา 365 วัน ซึ่งการโคจรรอบด้วยอาทิตย์ด้วยมุมที่โลกเอียง 23.5 องศา ก็ส่งผลให้พื้นที่ส่วนต่าง ๆ บนโลกได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ทำให้แต่ละพื้นที่เกิดฤดูกาลต่างกันนั่นเอง และโดยทั่วไปในเขตอบอุ่นและเขตหนาว มีการแบ่งฤดูกาลออกเป็น 4 ฤดูด้วยกัน ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว

ภาพ : Shutterstock


สำหรับฤดูร้อนของซีกโลกเหนือจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 20 - 21 มิถุนายน เรียกว่า วันครีษมายัน (ครี-สะ- มา-ยัน) (Summer Solstice) ซึ่งเป็นวันที่่กลางวันยาวนานกว่ากลางคืนมากที่สุด ในช่วงเวลาแห่งความร้อนระอุนี้ อาจจะฟังดูน่าแปลกที่ระยะทางของโลกจนถึงดวงอาทิตย์นั้นไกลถึง 152 ล้านกิโลเมตร ซึ่งไกลกว่าระยะทางของโลกจนถึงดวงอาทิตย์ในช่วงเดือนมกราคมที่เป็นฤดูหนาวของซีกโลกเหนือเสียอีก ที่เป็นเช่นนี้เพราะแม้ว่าระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์จะไกลกว่าช่วงฤดูหนาว แต่โลกมีการโคจรโดยเอียงซีกโลกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์มากที่สุดในช่วงนี้ จึงทำให้ซีกโลกเหนือเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ในทางตรงข้ามซีกโลกใต้ก็จะกลายเป็นฤดูหนาว เนื่องจากได้รับแสงอาทิตย์น้อยนั่นเอง

 

ต่อมาอีก 3 เดือน ช่วงวันที่ 22-23 กันยายน เรียกว่า วันศารทวิษุวัท (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) เป็นวันที่ซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ได้รับแสงสว่างเท่ากัน ทำให้กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน ในช่วงนี้ซีกโลกเหนือจะเริ่มเปลี่ยนฤดูกาลเป็นฤดูใบไม้ร่วง เนื่องจากซีกโลกเหนือได้รับแสงสว่างลดลง ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูหนาว พืชพรรณต่าง ๆ มีการผลัดใบเพื่อลดการคายน้ำ ซึ่งเป็นการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพอากาศหนาวที่กำลังจะมาถึง

 

วันที่ 20-21 ธันวาคม เรียกว่า วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) เป็นวันที่ซีกโลกเหนือเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ กลางวันจะสั้นกว่ากลางคืน เนื่องจากช่วงเวลานี้ซีกโลกใต้หันเข้าหาดวงอาทิตย์ ทำให้ได้รับแสงสว่างมากกว่าซีกโลกเหนือ ดังนั้น ซีกโลกเหนือจึงเป็นฤดูหนาวและซีกโลกใต้จะเป็นฤดูร้อน

 

ต่อมาโลกมีการโคจรหันเข้าหาดวงอาทิตย์ วันที่ 20-21 มีนาคม วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ- วัด) (Vernal Equinox) ซีกโลกเหนือได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์เท่ากับซีกโลกใต้ ซีกโลกเหนือจะเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ต้นไม้เริ่มผลิใบเพื่อรอเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่พืชพรรณเจริญเติบโตได้ดีเพราะได้รับแสงจากดวงอาทิตย์เพื่อให้ในการสังเคราะห์ด้วยแสง

 

ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงจะเกิดขึ้นในเขตละติจูดกลางหรือที่เรียกว่าเขตอบอุ่น ประมาณ 40-60 องศาเหนือและองศาใต้เท่านั้น  ได้แก่ ประเทศในซีกโลกเหนือ เช่น ทวีปอเมริกาเหนือ ประเทศแถบทวีปยุโรป ประเทศในเอเชีย เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น เราจึงเห็นเทศกาลฤดูดอกไม้ ดอกซากุระในแถบประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลินั่นเอง

 

แล้วเขตขั้วโลกและเขตละติจูดต่ำมีกี่ฤดู?

 

ในเขตขั้วโลก ได้แก่ ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และเขตละติจูด 60 องศาขึ้นไป จะเป็นเขตที่มี 2 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูร้อนและฤดูหนาว เนื่องจากพื้นที่ซึ่งเป็นขั้วบนสุดและขั้วล่างสุดของโลกมีมุมของการได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์น้อย ทำให้บริเวณขั้วโลกส่วนใหญ่มีอากาศหนาว ถึงแม้จะเป็นฤดูร้อนก็ตาม

 

ส่วนในเขตละติจูดต่ำ คือ เขตละติจูด 0-30 องศาเหนือและใต้ หรือที่เรียกว่า เขตร้อน ส่วนใหญ่อากาศจะร้อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงอาทิตย์ยาวนาน ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลเท่ากับเขตละติจูดสูงเพราะได้รับแสงอาทิตย์ตลอดทั้งปี ต้นไม้จึงไม่มีการผลัดใบ บริเวณนี้ได้แก่ ประเทศที่อยู่แถบเส้นศูนย์สูตร เช่น ประเทศทวีปอเมริกาใต้ อเมริกากลาง ทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชียส่วนใหญ่ รวมถึงประเทศไทยเราด้วย ซึ่งประเทศแถบนี้จะมีฤดูกาลใหญ่ ๆ 3 ฤดูด้วยกัน คือ ฤดูร้อน ฤดูหนาว และฤดูฝน

 

แล้วฤดูฝนเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

 

ประเทศไทยเรามี 3 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว การที่พื้นที่เขตร้อนมีฤดูฝนเนื่องจากเป็นเขตที่มีมรสุมพาดผ่าน ซึ่งบริเวณแถบนี้อยู่ใกล้กับทะเล หรือมหาสมุทร จึงได้รับอิทธิพลของลมมรสุม อย่างประเทศไทยตั้งอยู่เหนือบริเวณเส้นศูนย์สูตร ทำให้ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้เกิดฤดูฝนและฤดูหนาว

 

คงจะหายข้อสงสัยกันแล้วนะคะว่าฤดูกาลเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วเหตุใดฤดูกาลในแต่ละประเทศจึงมีความแตกต่างกัน บทความหน้าจะเป็นอะไร ติดตามค่ะ ไว้พบกันใหม่บทความหน้านะคะ สวัสดีค่ะ ^_^

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow