จากการแนะนำชักชวนของเพื่อนที่เคยเข้าแข่งขันโครงการนี้เมื่อปี่แล้ว ได้เป็นจุดเริ่มต้นให้ ‘พริม’ ตัดสินใจเข้าร่วมแข่งขันในปีนี้ ซึ่งพริมได้เล่าถึงแรงบันดาลใจของชุดข้าวกล่องเบนโตะให้ฟังว่า ตอนนั้นไปกินอาหารญี่ปุ่น แล้วเห็นเซ็ตเบนโตะ เลยเกิดไอเดียขึ้นมา เพราะได้ดูผลงานของปีที่ผ่าน ๆ มา ก็ยังไม่มีดีไซน์เกี่ยวกับอาหารเลย ก็เลยลองนำเซ็ตเบนโตะมาออกแบบ โดยใช้วิธีการผสมผสานวิธีการทอผ้าเพื่อสื่อถึงความหลากหลายของอาหารในเบนโตะ เช่น ข้าวสวย ผักต้ม ปลาย่าง ซูชิ เป็นต้น และใช้วิธีการห่อเบนโตะที่เรียกว่า Furoshiki เป็นวัฒนธรรมการห่อของด้วยผ้าในประเทศญี่ปุ่น มัดให้ผ้าสวยงานขึ้น และได้ออกแบบลายผ้าขึ้นมาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการกินอาหาร 4 ฤดูของชาวญี่ปุ่นด้วย
นอกจากจะเป็นการเข้าร่วมประกวดครั้งแรกในชีวิตของพริมแล้ว ก็ยังเป็นการทำแพทเทิร์นและตัดเย็บชุดครั้งแรกในชีวิตเช่นกัน โดยมีเวลาทำชุดเพียง 1 เดือนเท่านั้น แต่โชคดีที่ได้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยคอยให้คำปรึกษา คำแนะนำตลอด ถึงแม้พริมจะยังไม่ได้เรียนการตัดเย็บและการทอผ้า แต่อาจารย์และรุ่นพี่ในสาขาก็มาช่วยสอนจนเราสามารถทำชุดออกมาได้ตรงตามที่ออกแบบได้ทันเวลาค่ะ ซึ่งวิชาในชั้นเรียนที่พริมนำมาประยุกต์ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ ก็จะมีวิชาดรออิ้งที่นำมาใช้ออกแบบลวดลาย และวิชาที่สอนการใช้คู่สี การหาจุดเด่นของชุด ก็นำมาใช้เยอะเหมือนกันค่ะ
ช่วงที่ประกวดตรงกับช่วงสอบ final พอดี ทำให้ต้องอ่านหนังสือสอบและทำชุดไปพร้อมกัน ยอมรับว่าตอนนั้นเหนื่อยมากค่ะ แต่การประกวดครั้งนี้ก็ทำให้พริมได้ประสบการณ์หลายเรื่อง หนึ่งคือต้องแบ่งเวลาให้ดี ถ้าแบ่งเวลาได้ดี ก็จะสามารถจัดสรรเวลาทำสิ่งต่าง ๆ ได้ลงตัว สองคือต้องไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้ เพราะอย่างพริมยังไม่ได้เรียนตัดเย็บและทอผ้าเลย ถ้าเรายอมแพ้ตั้งแต่แรกก็จะไม่ได้ลองเข้าร่วมประกวด สามคือต้องมีทักษะในการแก้ปัญหา อย่างวันที่พรีเซนต์ชุด พริมต้องพรีเซนต์เป็นภาษาอังกฤษหมดเลย แต่ตื่นเต้นมากทำให้ลืมสคริปท์ที่เตรียมไว้ เลยแก้ปัญหาด้วยการพูดสดตามความเข้าใจ ก็ผ่านมาได้ด้วยดีค่ะ และสุดท้ายอยากฝากถึงทุกคนที่กำลังคิดอยากส่งผลงานเข้าประกวดแต่ยังไม่กล้า พริมขอแนะนำว่าให้ส่งเลย ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เข้ารอบ เพราะถือเป็นประสบการณ์ที่จะนำไปแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น จำไว้ว่า “โอกาสมันไม่ได้มาหาเรา เราต้องเข้าหาโอกาสด้วยตัวเอง”
เรื่อง: นพนก
ภาพ: จุฬาลักษณ์ ไชยการ