โดยหมอกนั้นเป็นลักษณะของละอองน้ำเล็ก ๆ หรือผลึกของน้ำแข็งขนาดเล็กที่มาอยู่รวมกันในปริมาณมากที่ระดับเหนือพื้นดิน ซึ่งละอองน้ำเล็ก ๆ หรือผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กเหล่านี้มาจากการที่อุณหภูมิของอากาศลดลงต่ำกว่าจุดน้ำค้าง (Dew Point) ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศเท่ากับ 100% หรืออากาศอิ่มตัวไปด้วยไอน้ำ อากาศจึงเกิดการกลั่นตัวเป็นละอองน้ำเล็ก ๆ ออกมา เกาะกับฝุ่นละอองในอากาศ และรวมตัวกันเป็นหมอก
ส่วนทะเลหมอกเกิดจากการที่พื้นดินเหนือหุบเขาคายความร้อนออกมา ความร้อนเหล่านี้จะลอยขึ้นที่สูง ทำให้บริเวณผิวดินมีอากาศเย็นลง อากาศที่เย็นเหล่านี้จะเคลื่อนตัวลงไปอยู่ในหุบเขา และเมื่อเวลากลางคืนที่อุณหภูมิแวดล้อมลดลง ไอน้ำในอากาศก็จะเริ่มควบแน่นเป็นละอองน้ำจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อเราขึ้นไปอยู่บนยอดเขาเวลารุ่งสาง จึงมองเห็นหมอกตามหุบเขาในระดับต่ำกว่ามีลักษณะคล้ายกับทะเล ซึ่งหมอกจะเกิดขึ้นเพียงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เพราะมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้หมอกสลายหายไป เช่น ลมพัดพาไปหรือความร้อนจากแสงอาทิตย์ทำให้หมอกสลายตัวไปหมด
อย่างไรก็ตาม นอกจากหมอกจะเป็นสิ่งสวยงามที่ทำให้ทุกคนตื่นขึ้นมาในยามเช้าแล้ว ก็เป็นปัญหาเช่นกัน เช่น ในด้านการบินหรือการเดินทางโดยรถยนต์ทำให้ทัศนวิสัยการมองเห็นไม่ชัดเจน ไม่สามารถเดินทางได้ ทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาด้วยหากไม่ระมัดระวัง