แต่งานวิจัยล่าสุด พบว่า ปัญหาข้างเคียงอีกอย่างหนึ่งของการเสพย์ติดหน้าจอในวัยเด็ก คือผลต่อพัฒนาการด้าน “ร่างกาย” ซึ่งอาจจะฟังดูน่าแปลกใจว่าเพราะเหตุใด การใช้เวลากับหน้าจอ จึงส่งผลต่อพัฒนาการทางร่ายกายและความพร้อมในการเข้าเรียนได้ ครูพิมจะอธิบายเพิ่มเติมให้ฟังค่ะ
นักวิชาการด้านการศึกษาเด็กเล็ก จาก มหาวิทยาลัยลัฟบารา ประเทศอังกฤษ (Loughborough University) ได้รายงายผลการสำรวจเด็กวัยอนุบาลในปัจจุบัน พบว่า มีเด็กจำนวนมากที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการด้านร่างกายและการช่วยเหลือตนเอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความพร้อมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องเรียน และเมื่อศึกษาในบริบททางด้านสังคมหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลดังกล่าว พวกเขาก็พบว่า รูปแบบการใช้ชีวิตของเด็ก ๆ ในยุคปัจจุบันนั้นแตกต่างไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะในแง่ของการใช้ร่างกายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงวัยก่อนเข้าโรงเรียนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และถูกแทนที่ด้วยการใช้เวลาส่วนใหญ่กับการนั่งอยู่หน้าจอ หรืออยู่กับที่พร้อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประจำตัว
จากการทดสอบพัฒนาการด้านร่างกายของเด็ก ๆ ในปีแรกของการเข้าโรงเรียน พบว่า มีนักเรียนกว่า 90% ที่มีความเสี่ยงหรือมีพัฒนาการด้านร่างกายในบางจุดที่ล่าช้าหรือมีปัญหา เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่เหมาะสมของเด็กในวัยนั้น ๆ ปัญหานี้ทำให้เด็ก ๆ ไม่สามารถที่จะอยู่นิ่ง ๆ ภายในห้องเรียนได้ มีปัญหาในการจับดินสอหรือสี ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การใส่รองเท้า การหยิบจับช้อนส้อม และแน่นอนว่า ส่งผลกระทบต่อการอ่านหนังสือของพวกเขาด้วย และเมื่อความพร้อมของเด็กเปลี่ยนไป ก็ส่งผลกระทบไปยังครูผู้สอน ที่ต้องปรับเปลี่ยนแผนการเรียนการสอนเกือบทั้งหมดอีกด้วย
ปัญหาจากการนั่งอยู่นิ่ง ๆ เป็นเวลานาน ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายของเด็ก ๆ เท่านั้น แต่งานวิจัยยังพบว่า การเคลื่อนไหวร่างกายมีความสัมพันธ์กันโดยตรงกับพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของเด็ก รวมไปถึงความสามารถในการเรียนรู้ด้วย
แปลและเรียงเรียงจากบางส่วนของบทความ Today's four-year-olds often 'not physically ready' for school, experts warn โดย Rachael Pells
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก