Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

บันทึกหาดบ้านสวนกง กับชีวิตลูกทะเล (ตอนที่ 2)

Posted By พาลูกเที่ยวดะ | 19 มิ.ย. 61
6,527 Views

  Favorite

บันทึกภาคต่อจาก "บันทึกหาดบ้านสวนกง กับชีวิตลูกทะเล" เราจะพาไปดูกิจกรรมทั้งหมดของค่ายนี้ พร้อมภาพบรรยากาศดี ๆ ของเด็ก ๆ กันค่ะ

 

วิชาชีวิตที่ถูกถ่ายทอดโดยปราชญ์ชาวบ้านหาดสวนกง คือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่รอการถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิชาที่น่าสนใจหลากหลายแขนง ดังนี้

 

การขุดหาน้ำจืดริมทะเล 

ขุดน้ำจืดที่ชายหาด...ซึ่งไม่ได้มีทุกหาด ถ้าเราคิดว่าทะเลนั้นมันมีแต่น้ำเค็มล่ะก็ผิดถนัด เพราะที่ไหนมีต้นไม้ขึ้นได้ ที่นั่นก็ต้องมีน้ำจืด วันนี้ชาวบ้านพาเด็กๆขุดหาน้ำจืด วิธีการคือเลือกขุดห่างจากจุดที่คลื่นซัดถึงชายฝั่ง ซัก 3-4 เมตร ขุดลึกลงไป 1 เมตรเราจะได้พบกับน้ำจืดที่จืดจริงๆ เพราะลองชิมกันมาแล้ว ^^

ขุดน้ำจืดที่ชายหาด
ต้องขุดลงไปลึกประมาณ1เมตรขึ้นไป
เจอแล้วน้ำจืด เด็ก ๆ ได้ชิมยืนยันจืดจริงค่ะ
น้ำบาดาล แหล่งน้ำกินน้ำใช้

 

วางอวนทับตลิ่ง

เริ่มปฏิบัติการอวนทับตลิ่ง
เด็ก ๆ ช่วยกันดึงอวน
เมนูเช้านั้น คือปลาทอดที่ได้จากการทำอวนทับตลิ่ง

 

รู้จักลม 8 ทิศ

แม่ ๆ สนใจเรื่องลมกันมาก จึงขอครูบังนี ช่วยเล่าเรื่องคลื่นลมให้ฟัง สนุกและได้ความรู้มากมาย

 

ขุดหามันนกที่ป่าชายหาด

ป่าชายหาด (Beach Forest) เป็นลักษณะของป่าประเภทหนึ่ง ขึ้นอยู่ตามบริเวณหาดชายหรือเนินทรายริมทะเล หรือชายฝั่ง

ช่วงบ่ายเราไปขุดหามันนกที่ป่าชายหาดกันค่ะ
ครูบังรีมอธิบายลักษณะลำต้นของมันนก ซึ่งเป็นไม้เลื้อยให้เด็ก ๆ ลองสังเกตและขุดหา
มันนกเอาไปต้ม จิ้มกินกับน้ำตาล อร่อยนักแล

 

สำรวจตลาดสด

สำรวจตลาดสด พบปะพูดคุยกับแม่ค้า

 

เรียนรู้การทำปลาเค็มฝังทราย

เรียนรู้การทำปลาเค็มฝังทราย โดยครูบังเหด พ่อแม่เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับลูก
เด็ก ๆ ได้รู้วิธีควักไส้ปลา
ปลาเค็มฝังทรายใช้เวลา 15 วัน แต่พวกเราอยู่ไม่ถึง 15 วัน ครูบังเหดเลยฝังไว้ให้ก่อนแล้ว 1 ตัว เด็ก ๆ ช่วยกันขุดขึ้นมา

 

นั่งเรือ ออกทะเลกู้อวน

ครูบังนีสอนเด็ก ๆ กู้อวน
ขณะที่รอเด็ก ๆ กู้อวน บรรดาแม่ ๆ ได้ปลาลิ้นหมามาสด ๆ จากทะเลแห่งนี้

 

ปลด “ซอกแซก”

เจ้าของแพใจดี ให้เด็ก ๆ ได้ลองแกะอวน เรียกว่า ปลดซอกแซก ค่ะ เป็นแกะอวนที่มีสัตว์ทะเลตัวเล็กตัวน้อยมาติด

เด็ก ๆ ช่วยกันปลดซอกแซก

 

ช่วยกันแกะอวน

เช้ามืดวันรุ่งขึ้น ครูบังรีมนำอวนไปวางที่ทะเลหน้าหาด 2 ชั่วโมง เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มาปลด ลองมาดูซิ วางไว้แค่ 2 ชั่วโมง ได้อะไรกลับมาบ้าง

เด็ก ๆ ช่วยกันแกะอวน
วางอวนแค่ 2 ชั่วโมงได้ปลามาเยอะมาก

 

รู้จักเครื่องมือหาปลา

เด็ก ๆ เรียนรู้เครื่องมือหาปลาแบบต่าง ๆ
มารู้จักกับเบ็ดราว
ไซดักปลา...ขุนพลบอกว่า มันคือค่ายกลดักปลา

 

หาหอยเสียบด้วยส้นเท้า

เรียนรู้วิธีหาหอยเสียบด้วยส้นเท้า

 

สร้าง “อูหยำ” บ้านปลา

มารู้จักกับ อูหยำ บ้านปลา แหล่งพักพิงลูกปลา

 

ดูหลำ ภูมิปัญญาการฟังเสียงปลาที่กำลังจะหายไป

พอพูดถึงการฟังเสียงปลา ออกแนวรู้สึกเหมือนว่า เป็นเรื่องของคาถาอาคม แต่จริง ๆ แล้วคือการออกเรือไปฟังเสียงฝูงปลา ใช้ทักษะ และวิชาที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ถ้าให้เปรียบเทียบ ก็คงนึกถึงภาพอินเดียนแดงนอนเอาหูแนบพื้นฟังเสียงฝีเท้าม้าได้ไกลหลายกิโลก่อนภัยจะมาถึงตัว

ดูหลำทำงานกันเป็นทีม โดยออกเรือกันไป 3 ลำ พอถึงจุดที่คิดว่ามีปลา ดูหลำจะลงไปลอยคออยู่ในทะเล หรือว่ายน้ำ ดำน้ำ บางทีต้องว่ายไปไกล 1-2 กิโล เพื่อฟังเสียงปลา ดูหลำไม่ได้ฟังรู้แค่ว่ามีปลามั้ย ฟังรู้ว่ามีปลามากแค่ไหน ในฝูงมีปลาอะไร หลังจากระบุตำแหน่งได้ ก็จะส่งสัญญาณให้กองเรือรู้และมาตั้งทัพล้อฝูงปลาไว้ และทิ้งอวนลงเพื่อล้อมปลา ในกระบวนการนี้ ดูหลำ ก็ยังคงลอยคออยู่ท่ามกลางฝูงปลาและอวน

 

"ดูหลำ" คนฟังเสียงปลา
ครูบังนี สรุปเนื้อหาวิธีการทำดูหลำ

 

เรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่ใช้ทั้งความสามารถ และมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย วันนี้ดูหลำของเราคือ “บังนี” ซึ่งนับได้ว่าเป็นดูหลำคนสุดท้าย เพราะในปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยี ที่มาบดบังเอาศักยภาพของมนุษย์ เราละทิ้งภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา โดยเอาเทคโนโลยี และกระบวนการอุตสาหกรรมมาเพื่อเพิ่มผลผลิต เราดีใจกันมากๆ ที่ได้มีโอกาสมาสัมผัสกับอาชีพพิเศษเช่นนี้

 

วิชา “ดูหลำ” ทำให้เราย้อนกลับมาคิดว่าในขณะที่ชีวิตในเมืองแสนสะดวกสบาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน จนเด็ก ๆ หรือแม้แต่ตัวเราเอง ลืมไปว่ามนุษย์เรานั้นมีศักยภาพที่น่าอัศจรรย์ติดอยู่กับตัว แค่รู้จักใช้ศักยภาพนั้นอย่างพอเพียง เหมือนที่ชาวบ้านหาดบ้านสวนกง ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับท้องทะเล พึ่งพาซึ่งกันและกัน ใช้ทรัพยกรอย่างพอเหมาะ และรู้จักคืนสู่ธรรมชาติ แค่นี้ท้องทะเลแห่งนี้ก็มีให้กินให้ใช้ไม่มีหมด

 

เรียนรู้วีถีชุมชน 

นี่คือภูมิปัญญารุ่นสู่รุ่น ของบ้านมะห์ และคนทะเล ซึ่งวิธีย่างแบบนี้ ไม่ค่อยมีคนทำแล้ว ที่บ้านสวนกงก็เหลือบ้านม๊ะแค่หลังเดียว

ม๊ะสอนวิธีทำปลาย่างไฟ
วิธีการย่างแบบโบราณ มะห์ว่า..ย่างแบบนี้เนื้อปลาจะอร่อย แห้งกำลังดี เก็บได้นาน
แวะปั๊มน้ำมัน
ชาวบ้านที่นี่ไม่ใช่แค่ใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างเดียว ยังรวมตัวกันทำประโยชน์คืนสู่ทะเลอีกด้วย

 

รายละเอียดกิจกรรม

ประเภท : ค่ายศึกษาธรรมชาติ

สถานที่ : หาดบ้านสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

ระยะเวลา : 6 วัน 5 คืน

Note : จริง ๆ ทางชาวบ้านไม่ได้เปิดเป็นกรุ๊ป เป็นค่ายอย่างเป็นทางการค่ะ ทางแม่ปุ้มจัดกรุ๊ปชักชวนกันไปเพราะอยากให้เด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิตลูกทะเล หากใครสนใอยากตามรอย อาจจะต้องจัดกรุ๊ปและติดต่อกับทางครูเกรียงเพื่อประสานอีกครั้งค่ะ

 

การมาหาดบ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา ครั้งนี้ นอกจากเด็กๆและผู้ใหญ่จะได้ความรู้ชีวิตลูกทะเลแล้ว เราทุกคนต่างรับรู้ได้ถึงความรัก ผูกพัน และความหวงแหนของชาวบ้าน ที่มีต่อท้องทะเลที่แสนจะอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ เด็กๆได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ที่เราควรหวงแหนและปกป้อง ... แล้วพบกันใหม่ หาดบ้านสวนกง

ว่าแล้วก็อยากไปเยือนหาดบ้านสวนกงอีกจัง :)

 

---------------------------------------------

ติดตามที่มาของกิจกรรมการเข้าค่ายครั้งนี้ได้ที่

บันทึกหาดบ้านสวนกง กับชีวิตลูกทะเล (ตอนที่ 1)

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • พาลูกเที่ยวดะ
  • 0 Followers
  • Follow