วิชาชีวิตที่ถูกถ่ายทอดโดยปราชญ์ชาวบ้านหาดสวนกง คือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่รอการถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิชาที่น่าสนใจหลากหลายแขนง ดังนี้
ขุดน้ำจืดที่ชายหาด...ซึ่งไม่ได้มีทุกหาด ถ้าเราคิดว่าทะเลนั้นมันมีแต่น้ำเค็มล่ะก็ผิดถนัด เพราะที่ไหนมีต้นไม้ขึ้นได้ ที่นั่นก็ต้องมีน้ำจืด วันนี้ชาวบ้านพาเด็กๆขุดหาน้ำจืด วิธีการคือเลือกขุดห่างจากจุดที่คลื่นซัดถึงชายฝั่ง ซัก 3-4 เมตร ขุดลึกลงไป 1 เมตรเราจะได้พบกับน้ำจืดที่จืดจริงๆ เพราะลองชิมกันมาแล้ว ^^
ป่าชายหาด (Beach Forest) เป็นลักษณะของป่าประเภทหนึ่ง ขึ้นอยู่ตามบริเวณหาดชายหรือเนินทรายริมทะเล หรือชายฝั่ง
เจ้าของแพใจดี ให้เด็ก ๆ ได้ลองแกะอวน เรียกว่า ปลดซอกแซก ค่ะ เป็นแกะอวนที่มีสัตว์ทะเลตัวเล็กตัวน้อยมาติด
เช้ามืดวันรุ่งขึ้น ครูบังรีมนำอวนไปวางที่ทะเลหน้าหาด 2 ชั่วโมง เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มาปลด ลองมาดูซิ วางไว้แค่ 2 ชั่วโมง ได้อะไรกลับมาบ้าง
พอพูดถึงการฟังเสียงปลา ออกแนวรู้สึกเหมือนว่า เป็นเรื่องของคาถาอาคม แต่จริง ๆ แล้วคือการออกเรือไปฟังเสียงฝูงปลา ใช้ทักษะ และวิชาที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ถ้าให้เปรียบเทียบ ก็คงนึกถึงภาพอินเดียนแดงนอนเอาหูแนบพื้นฟังเสียงฝีเท้าม้าได้ไกลหลายกิโลก่อนภัยจะมาถึงตัว
ดูหลำทำงานกันเป็นทีม โดยออกเรือกันไป 3 ลำ พอถึงจุดที่คิดว่ามีปลา ดูหลำจะลงไปลอยคออยู่ในทะเล หรือว่ายน้ำ ดำน้ำ บางทีต้องว่ายไปไกล 1-2 กิโล เพื่อฟังเสียงปลา ดูหลำไม่ได้ฟังรู้แค่ว่ามีปลามั้ย ฟังรู้ว่ามีปลามากแค่ไหน ในฝูงมีปลาอะไร หลังจากระบุตำแหน่งได้ ก็จะส่งสัญญาณให้กองเรือรู้และมาตั้งทัพล้อฝูงปลาไว้ และทิ้งอวนลงเพื่อล้อมปลา ในกระบวนการนี้ ดูหลำ ก็ยังคงลอยคออยู่ท่ามกลางฝูงปลาและอวน
เรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่ใช้ทั้งความสามารถ และมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย วันนี้ดูหลำของเราคือ “บังนี” ซึ่งนับได้ว่าเป็นดูหลำคนสุดท้าย เพราะในปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยี ที่มาบดบังเอาศักยภาพของมนุษย์ เราละทิ้งภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา โดยเอาเทคโนโลยี และกระบวนการอุตสาหกรรมมาเพื่อเพิ่มผลผลิต เราดีใจกันมากๆ ที่ได้มีโอกาสมาสัมผัสกับอาชีพพิเศษเช่นนี้
วิชา “ดูหลำ” ทำให้เราย้อนกลับมาคิดว่าในขณะที่ชีวิตในเมืองแสนสะดวกสบาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน จนเด็ก ๆ หรือแม้แต่ตัวเราเอง ลืมไปว่ามนุษย์เรานั้นมีศักยภาพที่น่าอัศจรรย์ติดอยู่กับตัว แค่รู้จักใช้ศักยภาพนั้นอย่างพอเพียง เหมือนที่ชาวบ้านหาดบ้านสวนกง ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับท้องทะเล พึ่งพาซึ่งกันและกัน ใช้ทรัพยกรอย่างพอเหมาะ และรู้จักคืนสู่ธรรมชาติ แค่นี้ท้องทะเลแห่งนี้ก็มีให้กินให้ใช้ไม่มีหมด
นี่คือภูมิปัญญารุ่นสู่รุ่น ของบ้านมะห์ และคนทะเล ซึ่งวิธีย่างแบบนี้ ไม่ค่อยมีคนทำแล้ว ที่บ้านสวนกงก็เหลือบ้านม๊ะแค่หลังเดียว
ประเภท : ค่ายศึกษาธรรมชาติ
สถานที่ : หาดบ้านสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
ระยะเวลา : 6 วัน 5 คืน
Note : จริง ๆ ทางชาวบ้านไม่ได้เปิดเป็นกรุ๊ป เป็นค่ายอย่างเป็นทางการค่ะ ทางแม่ปุ้มจัดกรุ๊ปชักชวนกันไปเพราะอยากให้เด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิตลูกทะเล หากใครสนใอยากตามรอย อาจจะต้องจัดกรุ๊ปและติดต่อกับทางครูเกรียงเพื่อประสานอีกครั้งค่ะ
---------------------------------------------
ติดตามที่มาของกิจกรรมการเข้าค่ายครั้งนี้ได้ที่
บันทึกหาดบ้านสวนกง กับชีวิตลูกทะเล (ตอนที่ 1)