Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมเป็นเกาต์ถึงกินไก่ไม่ได้

Posted By Ammay | 07 ก.ย. 61
10,357 Views

  Favorite

“เป็นเกาต์ห้ามกินไก่” หรือ “กินไก่มาก ๆ ระวังเป็นเกาต์” ถือเป็นวลีที่คนไทยมักจะได้ยินกันเป็นประจำในมื้ออาหารที่มีไก่เป็นวัตถุดิบหลัก โดยความเชื่อนี้ได้ถูกปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลานาน ทำให้บางคนเกิดความเข้าใจผิดและเลิกรับประทานไก่ไปเลยก็มี ดังนั้น ในวันนี้เราจะมาพิสูจน์กันนะคะว่า วลีเหล่านั้นเป็นจริงหรือไม่ และมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง

 

มารู้จักโรคเกาต์กันก่อน

โรคเกาต์ (Gout) เป็นการอักเสบของข้อต่อชนิดหนึ่ง ทำให้รู้สึกปวดเรื้อรังตามข้อ รวมถึงมีอาการบวมแดงเกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะข้อเล็ก ๆ อย่างนิ้วหัวแม่เท้าซึ่งพบได้บ่อยที่สุด ส่วนตามข้ออื่น ๆ ก็พบได้เช่นกัน เช่น ข้อเท้า เข่า ข้อมือ ข้อนิ้วมือ และข้อศอก และอาจจะปวดอยู่หลายชั่วโมงไปจนถึงหลายวันเลยก็ได้ โดยเฉพาะในเวลากลางคืนอาจมีอาการปวดบ่อยกว่าช่วงเวลาอื่น พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยในผู้หญิงมักเกิดขึ้นในวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง

 

สาเหตุของโรคเกาต์มาจากการที่ร่างกายมีระดับของกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) เป็นเวลานาน ซึ่งมาจากการที่ร่างกายสร้างกรดยูริกออกมาหรือรับสารพิวรีนซึ่งจะทำให้เกิดกรดยูริกในเลือดเข้ามามากกว่าปริมาณที่ขับออกไป ทำให้มีการจับตัวเป็นผลึกของกรดยูริกสะสมอยู่ตามข้อต่อต่าง ๆ  ซึ่งก่อให้เกิดอาการข้ออักเสบตามมา

ภาพ : Shutterstock

 

ร่างกายสร้างกรดยูริกได้อย่างไร?

โดยทั่วไปแล้วเมื่อเซลล์ในร่างกายของเราซึ่งประกอบไปด้วย DNA สลายตัวหรือตายลง อาจจะมาจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ได้สารที่เรียกว่าพิวรีน (Purine) ออกมา ซึ่งสารตัวนี้เองจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นกรดยูริกในที่สุด กรดยูริกจึงเป็นสิ่งที่พบได้เป็นปกติในเลือดของคนเรา สำหรับกรดยูริกที่สร้างขึ้นมานั้นจะมีการขับออกจากร่างกายได้ 2 ทาง คือ ทางระบบทางเดินอาหารและทางไตในรูปของปัสสาวะ

 

ถ้าร่างกายของเรามีการตายลงของเซลล์สูง เช่น การเป็นมะเร็งบางประเภทหรือเป็นผู้ที่ได้รับเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็ง DNA จำนวนมากจะสลายได้พิวรีนและกลายเป็นกรดยูริกในที่สุด หากพวกมันไม่สามารถถูกขับออกโดยไตได้หมด ก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคเกาต์ได้

 

นอกจากนี้ กรดยูริกยังมาจากการได้รับสารพิวรีนจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปด้วย โดยอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ปลาซาดีน ถั่ว เห็ด เนื้อแดง และผักยอดอ่อน ดังนั้น หากเรารับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูงอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ร่างกายมีกรดยูริกในเลือดสูงอันเนื่องจากการเปลี่ยนสารพิวรีนให้กลายเป็นกรดยูริกของร่างกาย

 

ดังนั้น วลีที่ว่า “เป็นเกาต์ห้ามกินไก่” หรือ “กินไก่มาก ๆ ระวังเป็นเกาต์” จึงถือเป็นวลีที่เป็นความจริง เพราะการรับประทานอาหารประเภทสัตว์ปีกมากเกินไป จะทำให้ร่างกายเกิดกรดยูริกที่ได้จากการสลายสารพิวรีนที่อยู่ในสัตว์ปีก ส่งผลให้ผู้ที่เป็นโรคเกาต์อยู่แล้วมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น หรือผู้ที่ยังไม่เป็นก็จะมีอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคเกาต์มากขึ้นเช่นกัน

 

นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ ก็ส่งผลให้ร่างกายมีการขับกรดยูริกออกไปได้น้อยลง (เนื่องจากแอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ในการลดการขับกรดยูริกออกทางไตหรือทางปัสสาวะ) กรดยูริกจึงสะสมอยู่ในเลือดสูงกว่าปกติ ฉะนั้นผู้ที่เป็นโรคเกาต์จึงควรงดอาหารที่มีสารพิวรีนสูงและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้โรคเกาต์ที่เป็นอยู่กำเริบได้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Ammay
  • 6 Followers
  • Follow