รอยฟกช้ำเป็นร่องรอยที่เกิดจากการกระแทกหรือการบาดเจ็บบริเวณใต้ชั้นผิวหนังที่มีเนื้อเยื่อต่าง ๆ อยู่ จนไปทำลายหลอดเลือดฝอย (Capillary) ที่อยู่ใต้ชั้นผิวหนัง เมื่อหลอดเลือดฝอยบางส่วนแตกออก เลือดซึ่งมีสีแดงสดก็จะไหลไปคั่งรวมกันอยู่ในบริเวณที่บาดเจ็บ และไม่มีทางระบายออกไปที่ไหนได้ หากไม่มีการเจาะเอาเลือดบริเวณนั้นออกไป
แพทย์รวมถึงนักนิติวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์สีของรอยฟกช้ำเพื่อประเมินระยะเวลาในการเกิดการบาดเจ็บได้ เนื่องจากทันทีที่เกิดการบาดเจ็บ เลือดสีแดงสดที่เต็มไปด้วยออกซิเจนจะไหลออกมา ขณะนั้นบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บอาจเกิดเป็นรอยช้ำสีแดงหรือสีชมพูที่ชั้นใต้ผิวหนังลึกลงไป ซึ่งเราอาจมองเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก แต่มันจะทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดจากการบวมหรือเลือดที่คั่งได้
เมื่อเลือดที่คั่งอยู่ใต้ชั้นผิวหนังไม่มีทางระบายออก รวมถึงไม่มีการไหลเวียน เลือดก็จะเริ่มขาดออกซิเจน และค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีที่คล้ำขึ้น ซึ่งนั่นทำให้เรามองเห็นผิวหนังบริเวณที่เลือดคั่งอยู่เป็นสีฟ้าหรือสีน้ำเงินเนื่องจากมองผ่านผิวหนังและเนื้อเยื่ออื่น ๆ แม้ว่าจริง ๆ แล้วเลือดจะไม่ได้มีสีน้ำเงินก็ตาม สีที่เปลี่ยนไปนี้แสดงถึงการที่ร่างกายมีกระบวนการเมทาบอลิซึมหรือทำลายเซลล์เม็ดเลือดใต้ผิวหนัง ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ร่างกายจะซ่อมแซมและรักษาตัวเอง
ในครั้งแรกที่เกิดการบาดเจ็บ เลือดที่ยังมีออกซิเจนอยู่จะมีสีแดงหรือชมพู ต่อเมื่อเวลาผ่านไป ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) จากเซลล์เม็ดเลือดแดงหลั่งธาตุเหล็กออกมา ร่องรอยของการบาดเจ็บที่เราเรียกว่า รอยฟกช้ำ ก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน ม่วง หรือดำ ซึ่งหมายความว่าเลือดในขณะนั้นไม่มีออกซิเจนอยู่แล้ว และต่อเมื่อฮีโมโกลบินถูกทำให้กลายเป็นบิลิเวอร์ดิน (Biliverdin) เราก็จะมองเห็นผิวหนังบริเวณที่บาดเจ็บเริ่มมีสีเขียว กระทั่งท้ายที่สุดที่บิลิเวอร์ดินถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสารที่ชื่อว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งเป็นเม็ดสีสีเหลือง ถึงตอนนี้เราก็จะมองเห็นรอยฟกช้ำเป็นสีเหลืองที่ดูเหมือนว่าจะเริ่มใกล้จางหายเต็มที และร่างกายก็จะดูดซึมบิลิรูบินนี้กลับเข้าสู่กระแสเลือดและไปกรองโดยตับและไตต่อไป
ระยะเวลาบาดเจ็บ | สีของรอยฟกช้ำ | ที่มาของสี |
หลังเกิดการบาดเจ็บทันที | สีแดงหรือสีชมพู | ฮีโมโกลบินซึ่งยังคงมีออกซิเจนอยู่ |
2-3 ชั่วโมงแรกหลังการบาดเจ็บ | สีน้ำเงินหรือสีม่วง | ฮีโมโกลบินซึ่งขาดออกซิเจน |
1-5 วัน | สีม่วงหรือสีดำ | ฮีโมโกลบินและธาตุเหล็ก |
5-10 วัน | สีเขียว | บิลิเวอร์ดิน (Biliverdin) |
10-14 วัน | สีเหลืองหรือสีน้ำตาลจาง | บิลิรูบิน (Bilirubin) |
สำหรับความเข้มและสีของรอยฟกช้ำขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความรุนแรงของการบาดเจ็บ ตำแหน่งหรือบริเวณที่เกิด (รอยฟกช้ำที่เกิดบริเวณใบหน้าและแขนจะหายได้เร็วกว่าบริเวณขา) หรือสีของผิวหนัง
ทันทีหลังจากได้รับบาดเจ็บจากการกระแทก เราอาจจะมองไม่เห็นรอยฟกช้ำได้อย่างชัดเจนนัก แต่หากสามารถบรรเทาการบาดเเจ็บได้ทันที ก็จะส่งผลให้การรักษาหรือการซ่อมแซมตัวเองของร่างกายทำได้ง่ายขึ้นและใช้เวลาที่น้อยลง
การรักษารอยฟกช้ำในครั้งแรกที่เกิดการบาดเจ็บ เราสามารถใช้หลักของ R.I.C.E ได้ นั่นคือ
R-Rest การพักหรือหลีกเลี่ยงการทำงานในส่วนที่เกิดการบาดเจ็บ รวมถึงหลีกเลี่ยงการประคบหรือให้ความร้อน ใน 48 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บ เนื่องจากการอาจไปเพิ่มการบวมในบริเวณที่บาดเจ็บได้ นอกจากนี้การดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ก็อาจจะเพิ่มอาการบวมได้ด้วยเช่นกัน
I-Ice การกระคบด้วยความเย็นหรือน้ำแข็ง โดยให้เวลาในการประคบประมาณ 15-20 นาทีในการประคบแต่ละครั้ง ความเย็นจะช่วยทำให้หลอดเลือดหดตัว ดังนั้น ปริมาณเลือดที่ไหลออกมาจากเส้นเลือดฝอยจึงมีน้อยลง นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดอาการอักเสบด้วย
C-Compression การกดในบริเวณที่เกิดการบาดเจ็บ โดยการพันด้วยผ้ายืดหรือผ้าพันแผล (Bandage) จะช่วยลดการไหลเวียนเลือดในบริเวณที่บาดเจ็บและลดการอักเสบที่มีส่วนทำให้เกิดช้ำ แต่ไม่ควรรัดแน่นจนเกินไป
E-Elevation การยกบริเวณที่บาดเจ็บให้อยู่เหนือระดับของหัวใจ จะช่วยจำกัดการไหลของเลือดจากเส้นเลือดฝอยและการบวมได้
ขณะที่ความเย็นช่วยจำกัดการเกิดการฟกช้ำภายใน 48 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บ แต่การใช้ความร้อนหลังจากนั้นจะช่วยเร่งการรักษาให้เร็วขึ้นได้ โดยการใช้ความร้อนบริเวณที่ฟกช้ำ 10-20 นาทีจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดในพื้นที่ดังกล่าว และเพิ่มอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมีและช่วยเจือจางเม็ดสีบริเวณนั้น รวมถึงการนวดบริเวณนั้นเบา ๆ ก็จะสามารถช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดและเร่งให้เกิดการซ่อมแซมตัวเองเร็วขึ้นได้
นอกจากวิธีการลดรอยฟกช้ำเบื้องต้นที่ได้กล่าวมาในตอนต้นแล้ว การเลือกรับประทานอาหารบางอย่างก็ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้การซ่อมแซมและรักษารอยฟกช้ำของร่างกายเป็นไปได้เร็วขึ้น เช่น
- อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเค (Vitamin K) ร่างกายของเราจำเป็นต้องใช้วิตามินเคเพื่อช่วยในการแข็งตัวของเลือด (เมื่อเกิดการบาดเจ็บ จะช่วยให้เลือดหยุดไหลได้เร็ว) และอาหารที่ประกอบไปด้วยวิตามินเคยังจะช่วยให้อาการฟกช้ำน้อยลงได้ เช่น ผักคะน้า บล็อกโคลี ผักกาดหอม ถั่วเหลือง สตรอเบอร์รี บลูเบอรี
- สับปะรด เป็นผลไม้ที่ประกอบไปด้วยโบรมีเลน (Bromelain) ซึ่งมีสมบัติต้านการอักเสบ และช่วยกระตุ้นให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองจากการฟกช้ำได้เร็วขึ้น
- โปรตีนลีน (Lean Protein) เป็นโปรตีนที่ได้จากเนื้อปลา เนื้อไก่ เต้าหู้ หรือเนื้อไร้ไขมัน ซึ่งจะช่วยให้หลอดเลือดฝอยแข็งแรง อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงแหล่งโปรตีนที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูงด้วย
- สังกะสี (Zinc) อาหารที่มีธาตุสังกะสีมาก จะช่วยรักษาแผลเป็นและเนื้อเยื่อให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติได้เร็วขึ้น โดยแหล่งอาหารที่มีสังกะสีมากได้แก่ ปู ผักโขม เมล็ดฟักทอง พืชตระกูลถั่ว
นอกจากการกระแทก การปะทะ หรืออุบัติเหตุแล้ว รอยฟกช้ำยังอาจมาจากสาเหตุอื่น ๆ ด้วย เช่น
- การใช้ยา ยาจำพวกแอสไพริน ซึ่งลดการเกิดลิ่มเลือด หรือยาปฏิชีวะบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการละลายลิ่มเลือด อาจส่งผลข้างเคียงทำให้ใช้เวลายาวนานขึ้นกว่าที่เลือดจะหยุดไหลในกรณีที่หลอดเลือดฝอยเกิดการบาดเจ็บแลละมีเลือดออก ซึ่งสาเหตุนี้ทำให้รอยฟกช้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติได้
- การขาดวิตามินหรือสารอาหารบางชนิด เช่น
- การขาดวิตามินซี (กรดแอสคอบิก) ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างคอลลาเจน เพื่อการซ่อมแซมเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) ที่ผนังหลอดเลือด นอกจากนี้วิตามินซียังช่วยเพิ่มแอนติออกซิแดนต์ ที่ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระที่มีผลต่อการเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อ รวมถึงเส้นเลือดด้วย โดยในแต่ละวันผู้ใหญ่ควรได้รับวิตามินซี ประมาณ 75-125 มิลลิกรัม ทั้งนี้ขึ้นกับเพศ ภาวะตั้งครรภ์และให้นมบุตร ตลอดจนพฤติกรรมการสูบบุหรี่
- การขาดวิตามินเค อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า วิตามินเคนั้นมีส่วนช่วยในการแข็งตัวของเลือด การขาดวิตามินเคจึงนำไปสู่อาการเลือดไหลไม่หยุดและการฟกช้ำที่มีขนาดใหญ่ โดยทั่วไปคนเราควรได้รับวิตามินเค 90-120 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้ขึ้นกับเพศและวัย
- การขาดวิตามินบี 9 (กรดโฟลิก) และบี 12 การขาดวิตามินประเภทนี้จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) ในเลือด ซึ่งโฮโมซิสเทอีนนี้เองเป็นสารที่ทำลายผนังหลอดเลือดและขัดขวางการซ่อมแซมดีเอ็นเอ โดยทั่วไปเด็กทารกควรได้รับวิตามินบี 9 ประมาณ 150 ไมโครกรัมต่อวัน และในหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ 600 ไมโครกรัมต่อวัน ขณะที่วิตามินบี 12 เด็กทารกควรได้รับ 0.4 ไมโครกรัมและหญิงให้นมบุตรควรได้รับ 2.8 ไมโครกรัมต่อวัน
การฟกช้ำจากการบาดเจ็บเล็กน้อยจะหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากเป็นรอยฟกช้ำใหญ่ ๆ หรืออยู่ในชั้นลึกลงไปก็อาจใช้เวลาเป็นเดือน อย่างไรก็ตามรอยฟกช้ำบางอย่างหรืออบางอาการก็ควรได้รับการดูแลจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
- เมื่อรอยฟกช้ำที่เกิดขึ้นมีอาการแย่ลง เช่น บวม หรือเจ็บปวดมากขึ้น อาจบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อหรือยังคงมีเลือดออกในชั้นใต้ผิวหนังอยู่
- มีรอยฟกช้ำบริเวณรอบดวงตา เป็นข้อบ่งชี้ที่ควรไปพบแพทย์ เนื่องจากดวงตามีความบอบบาง ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นต่อดวงตาและมีผลต่อการมองเห็นของเรา ก็ควรได้รับการดูแลจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญต่อไป
- ไม่สามารถใช้งานบริเวณที่เกิดรอยฟกช้ำได้อย่างเต็มที่ เช่น มีอาการฟกช้ำที่ข้อเท้าซึ่งทำให้ไม่สามารถเดินได้เลย ควรรีบพบแพทย์ เพราะนั่นอาจบ่งบอกว่ามีการแตกหักของกระดูกบางส่วนหรือมีความบาดเจ็บรุนแรงได้
- เมื่อมีไข้ มีเส้นสีแดงปรากฏรอบ ๆ รอยช้ำ เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ส่วนประกอบของเลือด
- เราสามารถปฐมพยาบาลแผลฟกช้ำได้อย่างไร