Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การจำแนกสารโดยใช้เนื้อสารเป็นเกณฑ์

Posted By sanomaru | 28 พ.ค. 61
110,996 Views

  Favorite

ในทางวิทยาศาสตร์ เรามักได้ยินคำว่า "สสาร" และคำว่า "สาร"  อยู่เสมอ ทั้งสองคำนี้มีความหมายแตกต่างกัน โดย "สสาร (Matter)" เป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งมีขนาด มีมวล มีปริมาตรต้องการที่อยู่ และสัมผัสได้ ส่วน "สาร (Substance)" ก็คือ เนื้อของสสารซึ่งทราบองค์ประกอบ โดยมีสมบัติเฉพาะตัว ซึ่งสมบัตินี้เองทำให้สารแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน

 

สำหรับสารในโลกนี้สามารถจำแนกตามเกณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่น ใช้สถานะของสารเป็นเกณฑ์ ใช้การนำไฟฟ้าเป็นเกณฑ์ ใช้การละลายน้ำเป็นเกณฑ์ และใช้เนื้อสารเป็นเกณฑ์ โดยการใช้เนื้อสารเป็นเกณฑ์สามารถแบ่งได้ตามแผนผัง ดังนี้

ภาพ : ทรูปลูกปัญญา

 

1. สารเนื้อเดียว

เมื่อสังเกตด้วยตาเปล่า เราจะมองเห็นสารเนื้อเดียวมีลักษณะของเนื้อสารกลมกลืนกันไปเป็นเนื้อเดียว แบ่งออกได้เป็น สารบริสุทธิ์และสารละลาย

 

1.1 สารบริสุทธิ์
เป็นสารที่ไม่สามารถแยกอออกจากกันได้ด้วยวิธีทางกายภาพ เช่น การกรอง นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบทางเคมีตายตัวและมีสมบัติชัดเจน แบ่งออกได้เป็น ธาตุและสารประกอบ

     1) ธาตุ เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสสารทั้งหลาย โดยเป็นสารบริสุทธิ์ที่ประกอบด้วยอนุภาคของอะตอมเพียงชนิดเดียวเท่านั้น มีจุดเดือดจุดหลอมเหลวคงที่ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ค้นพบธาตุแล้วทั้งสิ้น 118 ชนิด ธาตุสามารถแบ่งออกได้เป็น
     - โลหะ มีสมบัตินำไฟฟ้าและความร้อนได้ดี ผิวเป็นมันวาว มีความเหนียว และสามารถตีเป็นแผ่นบางได้ ส่วนใหญ่อยู่ในสถานะของแข็ง เช่น ทองคำ (Au) เงิน (Ag) เหล็ก (Fe) สังกะสี (Zn)
     - อโลหะ มีสมบัตินำไฟฟ้าและความร้อนได้ไม่ดีนัก มีความเปราะบางและแตกหักได้ง่าย เช่น ก๊าซออกซิเจน (O2) ก๊าซไนโตรเจน (N2) คาร์บอน (C)
     - กึ่งโลหะ มีสมบัติระหว่างธาตุโลหะและอโลหะ นำไฟฟ้าได้ไม่ดี ณ อุณหภูมิห้อง แต่การนำไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น มีความแข็งแรงแต่ก็มีความเปราะบางสูง เช่น ซิลิกอน (Si) เจอร์เมเนียม (Ge)

 

ซิลิกอน (Si)

ภาพ : Shutterstock

 

     2) สารประกอบ เป็นสารบริสุทธิ์ที่ประกอบไปด้วยอะตอมของธาตุตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปมารวมกัน ไม่สามารถแยกได้ด้วยวิธีทางกายภาพ ตัวอย่างของสารประกอบ ได้แก่
     - เกลือแกง (NaCl) ซึ่งประกอบด้วยธาตุโซเดียมกับคลอไรด์
     - น้ำ (H2O) ประกอบด้วยไฮโดรเจนกับออกซิเจน
     - น้ำตาลทราย (C12H22O11) ประกอบด้วยคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน

 

1.2 สารละลาย
สารละลายเป็นสารที่สามารถแยกองค์ประกอบออกจากกันได้มากกว่าสองชนิดขึ้นไปโดยกระบวนการทางกายภาพ เช่น การกลั่น การกรอง การต้ม ประกอบไปด้วยตัวทำละลายและตัวละลาย ซึ่งไม่ทำปฏิกิริยาทางเคมีต่อกัน มีจุดเดือดและจุดหลอมเหลวไม่คงที่ มีอนุภาคขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 10-7 เซนติเมตร ตัวอย่างของสารละลาย เช่น
      - อากาศ โดยมีไนโตรเจนซึ่งมีปริมาณมากที่สุดเป็นตัวทำละลาย และมีองค์ประกอบอื่น ๆ ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าเป็นตัวละลาย
      - น้ำเกลือ โดยมีน้ำเป็นตัวทำละลาย และมีเกลือเป็นตัวละลาย
      - น้ำเชื่อม โดยมีน้ำเป็นตัวทำละลาย และมีน้ำตาลเป็นตัวละลาย

 

2. สารเนื้อผสม

สารเนื้อผสมประกอบด้วยอะตอมหรือโมเลกุลมากกว่า 2 ชนิดขึ้นไปรวมกันอยู่ และสามารถแยกออกจากกันได้ด้วยวิธีทางกายภาพ เมื่อสังเกตด้วยตาเปล่าจะเห็นว่าเนื้อสารไม่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน เช่น คอนกรีต ดิน น้ำโคลน ฝุ่นละอองในอากาศ

 

2.1 สารแขวนลอย
เป็นสารเนื้อผสมที่มีอนุภาคของแข็งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 10-4 เซนติเมตร และสามารถตกตะกอนได้เมื่อตั้งทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่ง ไม่สามารถผ่านได้ทั้งกระดาษกรองและกระดาษเซลโลเฟน ตัวอย่างของสารแขวนลอย ได้แก่ น้ำโคลน น้ำอบไทย น้ำคลอง

 

2.2 คอลลอยด์
ในความเป็นจริงคอลลอยด์ไม่สามารถจัดอยู่ในสารเนื้อเดียวหรือสารเนื้อผสมได้อย่างแน่ชัด แต่เป็นสารผสมที่ประกอบด้วยอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 10-7 -  10-4 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่อยู่ระหว่างสารละลายที่เป็นสารเนื้อเดียว และสารแขวนลอยที่เป็นสารเนื้อผสม คอลลอยด์ไม่ตกตะกอน และสามารถทำให้เกิดปรากฏการณ์ทินดอลล์หรือการกระเจิงของแสงได้ เราสามารถแยกอนุภาคในคอลลอยด์ได้โดยใช้กระดาษเซลโลโฟน แต่ไม่สามารถแยกอนุภาคได้ด้วยกระดาษกรอง ตัวอย่างของคอลลอยด์ เช่น นมสด ควัน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow