Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปูไม่มีเลือดจริงหรือ

Posted By Ammay | 08 มิ.ย. 61
38,741 Views

  Favorite

จากสำนวนไทยที่ว่า “อย่าขูดเลือดกับปู” ซึ่งหมายถึง การบังคับหรือขู่เข็ญเพื่อเอาผลประโยชน์กับผู้ที่ไม่มีความสามารถที่จะให้สิ่งที่ต้องการได้ เช่น การรีดไถเงินจากคนที่มีความยากจน อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยหลายคนเข้าใจว่า ปูเป็นสัตว์ที่ไม่มีเลือด ซึ่งขัดกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าปูนั้นมีเลือด ดังนั้น วันนี้เราจะมาดูกันนะคะว่า แท้จริงแล้ว ปูนั้นมีเลือดหรือไม่ แล้วถ้ามี ทำไมถึงไม่เป็นสีแดงเหมือนกับมนุษย์หรือสัตว์อื่น ๆ   

 

มารู้จัก “ปู” กันก่อน

ปูเป็นสิ่งมีชีวิตที่จัดอยู่ในกลุ่มอาร์โทรพอด (Arthropod) ไฟลัมอาร์โทรโพดา (Phylum Arthropoda) หรือเรียกว่า สัตว์ขาข้อ ซึ่งหมายถึงมีรยางค์ต่อกันเป็นข้อ ๆ โดยสัตว์กลุ่มนี้มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาไฟลัมต่าง ๆ (ประมาณ 1,200,000 ชนิด หรือกว่า 80% ของอาณาจักรสัตว์) และสาเหตุที่ปูถูกจัดให้อยู่ในไฟลัมอาร์โทรพอดเนื่องจากปูมีรูปร่างแบบสมมาตร (สามารถผ่าซีกออกมาเป็นสองส่วนที่เหมือนกันได้) และมีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น พร้อมกับช่องตัวแบบแท้จริง ส่วนอกและส่วนหัวไม่สามารถแยกออกจากกันได้ มีทางเดินอาหารแบบสมบูรณ์ มีระบบเลือดแบบเปิด กล่าวคือ เลือดอยู่ภายในหัวใจและเส้นเลือดเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ต่างกับระบบไหลเวียนเลือดแบบปิดของมนุษย์ที่เลือดจะอยู่ภายในหัวใจและเส้นเลือดตลอดเวลา ซึ่งเหล่านี้เป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตในไฟลัมอาร์โทรพอด

 

นอกจากนี้ "ปู" ยังมีสารจำพวกไคทิน (Chitin) ซึ่งเป็นส่วนแข็งที่ห่อหุ้มรอบตัว ดังนั้น มันจึงต้องมีการลอกคราบเพื่อการเจริญเติบโต โดยกำจัดเปลือกเก่าออกไป และสร้างเปลือกขึ้นมาห่อหุ้มตัวมันเองใหม่ ซึ่งเปลือกใหม่นี้จะมีขนาดใหญ่กว่าเปลือกเดิม

 

ตกลงแล้วปูมีเลือดหรือไม่?

เนื่องจากปูเป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุุ่มอาร์โทรพอด ซึ่งจะมีลักษณะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของสัตว์ในไฟลัมนี้ คือ สัตว์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีสารที่ชื่อว่า ฮีโมไซยานิน (Hemocyanin) และคอปเปอร์ (ทองแดง) เป็นองค์ประกอบในเลือด ซึ่งจะทำให้เลือดมีสีฟ้าอ่อนหรือจางจนแทบไม่มีสี จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนเข้าใจผิดมาตลอดว่าปูไม่มีเลือด

 

โดยเลือดสีฟ้าที่เกิดจากฮีโมไซยานิน (Hemocyanin) และคอปเปอร์นั้นมีประโยชน์มากมายในทางการแพทย์ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ไวต่อสิ่งเร้าเป็นพิเศษจนสามารถจับเชื้อแบคทีเรียที่มีปริมาณน้อยนิดได้ (ปัจจุบันมีการรีดเลือดจากแมงดาทะเลเพื่อนำมาใช้ทำวัคซีนหรือยาต้านเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูง)

 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้มนุษย์และสัตว์อื่น ๆ มีเลือดสีแดงนั้น ก็เพราะว่า มีสารที่ชื่อว่า ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) และเหล็ก เป็นองค์ประกอบในเลือด  

สรุปง่ายๆก็คือ

  • เลือดสีฟ้าใส เกิดจาก ฮีโมไซยานิน + คอปเปอร์
  • เลือดสีแดง เกิดจาก ฮีโมโกลบิน + เหล็ก

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Ammay
  • 6 Followers
  • Follow