เมื่อพูดถึงแอลกอฮอล์ ภาพแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงก็คงจะเป็นพวกเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มมึนเมาประเภทต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แอลกอฮอล์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ เอทิลแอลกอฮอล์และเมทิลแอลกอฮอล์
- เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) หรือที่เรียกกันว่า เอทานอล เป็นของเหลวใสไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีความไวต่อไฟสูงมาก สามารถระเหยและละลายน้ำได้ โดยเกิดจากการหมักยีสต์กับพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด องุ่น ฯลฯ ดังนั้น เอทิลแอลกอฮอล์จึงเป็นแอลกฮอล์ที่สามารถกินได้
- เมทิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol) หรือเมทานอล มีคุณสมบัติคล้ายกับเอทิลแอลกอฮอล์ แต่ต่างตรงที่เมทิลแอลกอฮอล์เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นทางปิโตรเคมี ซึ่งเกิดจากสารประกอบประเภทถ่านหิน มักนิยมนำมาใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรม และเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เราจึงไม่สามารถรับประทานเมทิลแอลกอฮล์ได้
ดังนั้น เอทิลแอลกอฮอล์จึงเป็นแอลกอฮอล์ประเภทเดียวที่สามารถพบได้ในเครื่องดื่มมึนเมาประเภทต่าง ๆ โดยเครื่องดื่มพวกนี้จะมีปริมาณของเอทานอลที่แตกต่างกัน เช่น เบียร์จะมีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยคือ 4-6% ในขณะที่เหล้ามีปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึง 40-50%
เนื่องจากเอทิลแอลกอฮอล์ถือเป็นสารกดประสาทชนิดหนึ่ง การได้ที่ร่างกายได้รับแอลกอฮอล์เข้าไปจึงส่งผลต่อระบบประสาทโดยตรง โดยในช่วงแรกของการดื่มแอลกอฮอล์นั้น ร่างกายจะมีการเพิ่มขึ้นของสารสื่อประสาทที่ออกฤทธิ์ในการกระตุ้นสมอง นั่นคือ โอปิออยด์ (Opioids) ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นมาและสามารถไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารอื่น ๆ ตามมาด้วย เช่น เอนดอร์ฟิน (Endorphin) โดยเอนดอร์ฟินจะออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายสดชื่น อารมณ์ดีและตื่นตัวมากขึ้นกว่าปกติ เราจึงพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในระยะแรกในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไปนั้นจะทำให้เราอารมณ์ดี ไม่เครียด ผ่อนคลาย (เพราะร่างกายมีสารโอปิออยด์เพิ่มขึ้น)
อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างกายได้รับแอลกอฮอล์ต่อเนื่องในปริมาณที่มากขึ้น พิษของแอลกอฮอล์จะไปกดการทำงานของสมองในส่วนต่าง ๆ ดังนี้
- สมองกลีบหน้า (Frontal lobe) เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมความคิด ความจำ สติปัญญา บุคลิก ความรู้สึก ดังนั้น เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่สมองส่วนนี้ จะทำให้เราควบคุมคิด ความจำ และบุคลิก ไม่ค่อยได้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนมีบุคลิกและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อดื่มแอลกอฮอล์
- สมองกลีบข้าง (Parietal lobe) เป็นส่วนที่ทำหน้าที่สำคัญในการรวบรวมและประมวลข้อมูลความรู้สึกทั้งหลาย ดังนั้น เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่สมองส่วนนี้ จะทำให้ความแม่นยำในการประมวลข้อมูลต่าง ๆ ลดน้อยลง และเริ่มพูดจาไม่รู้เรื่อง
- สมองกลีบขมับ (Temporal lobe) เป็นส่วนที่ทำหน้ารับความรู้สึกเกี่ยวกับกลิ่นและเสียง เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่สมองส่วนนี้จะส่งผลให้ร่างกายมีความสามารถในการได้ยินและได้กลิ่นที่ด้อยประสิทธิภาพลง
- ซีรีเบลลัม (Cerebellum) เป็นส่วนที่ควบคุมการทรงตัวของร่างกาย เมื่อร่างกายดื่มเข้าไปมาก ๆ และแอลกอฮอล์เข้าสู่สมองส่วนนี้ จะทำให้เราเสียการทรงตัว เดินเซ เดินไม่ตรงทาง ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ร่างกายจะเริ่มชัทดาวน์ตัวเองและมีอาการง่วงนอนตามมา
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เอทานอล (ethanol) แอลกอฮอล์กินได้
- ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแอลกอฮอล์
- สุรามีผลต่อระบบประสาทอย่างไร