โซเดียม (Sodium)
ไต (Kidney) เป็นอวัยวะที่อยู่ส่วนล่างของช่องท้อง จะมีด้วยกัน 2 ข้าง คือด้านซ้ายและขวา มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วแดง มีต่อมหมวกไต (Adrenal gland) อยู่ด้านบนของไตทั้งสองข้างและมีชั้นไขมันสองชั้นห่อหุ้มอยู่ ภายในไตนั้นจะมี 2 ชั้น คือ ชั้นนอก เรียกว่า คอร์เทกซ์ (Cortex) ส่วนนี้จะมีสีแดงเพราะมีโกลเมอรูลัส (Glomerulus) หรือกระจุกหลอดเลือดฝอยอยู่ ขณะที่ชั้นใน เรียกว่า เมดัลลา (Medulla) ส่วนนี้จะมีสีขาว ส่วนใหญ่ประกอบด้วยท่อหน่วยไต ส่วนของเมดัลลาที่ยื่นเข้าไปจรดกับโพรงที่ติดกับหลอดไตเรียกว่า พาพิลลา (Papilla) และเรียกโพรงนี้ว่า กรวยไต (Renal Pelvis)
ไตเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่กรองของเสีย น้ำ และเกลือแร่ส่วนเกินจากเลือด และจะขับออกมาในรูปของปัสสาวะ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการช่วยรักษาระดับน้ำและเกลือแร่ของร่างกายให้เป็นปกติ อีกทั้งยังสร้างสารที่ควบคุมความดันโลหิตและสารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงด้วย ดังนั้น หากร่างกายรับประทานอาหารที่มีโซเดียม (เกลือแร่) สูง จะทำให้ไตไม่สามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินในร่างกายได้ทัน เกิดภาวะคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา หัวใจ และปอด ผลที่ตามมาก็คือ แขนขาจะบวม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการที่มีการคั่งของน้ำและความดันโลหิตที่สูงขึ้นจะทำให้ไตทำงานหนัก เพราะต้องเพิ่มอัตราการกรองโซเดียมและน้ำส่วนเกินของร่างกาย ผลที่ตามมาคือ ความดันในหน่วยไตจะเพิ่มสูงขึ้น และเกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะมากกว่าปกติ ส่งผลทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น
เพื่อป้องกันมิให้ไตทำงานหนักจนเกินไป เราจึงควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงซึ่งส่วนใหญ่มักมีรสชาติเค็ม นอกจากนี้ยังมีอาหารที่มีโซเดียมสูงแต่มีรสชาติที่ไม่เค็มด้วย เรียกว่า อาหารที่มีโซเดียมแฝง ซึ่งจะทำให้เราได้รับโซเดียมโดยไม่รู้ตัว เช่น อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว น้ำบูดู กะปิ ปลาร้า ปลาเจ่า เต้าหู้ยี้ ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ผงชูรส น้ำจิ้มต่าง ๆ ทั้งนี้ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในการบริโภคต่อวันไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัม หรือเท่ากับน้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะครึ่ง