ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อาจดูเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากต่อการแก้ไข แต่สำหรับประชาชนคนไทยที่ได้อยู่ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยที่เต็มไปด้วยพระอัจฉริยภาพเฉกเช่นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีพระราชดำริให้ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า "ฝนเทียม" หรือ "ฝนหลวง" เข้ามาแก้ปัญหาความแห้งแล้งนั้น การสั่งฝนสั่งฟ้าจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ดังนั้น วันนี้เราจะมาดูกันนะคะว่า จริงแล้ว ๆ “ฝนเทียม” หรือ "ฝนหลวง" คืออะไรและมีวิธีการทำอย่างไรบ้าง
ฝนเทียมหรือฝนหลวง คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อให้เหมาะสมกับการเกิดฝนมากที่สุด โดยเป็นกรรมวิธีการเลียนแบบธรรมชาติที่ใช้สารเคมีและเครื่องบินเข้ามาช่วย เพื่อกระตุ้นกลไกการรวมตัวของละอองเมฆให้มีขนาดโตขึ้นและเกิดการกลั่นตัวกลายเป็นเม็ดฝน ทั้งนี้จะมีการใช้ข้อมูลจากค่าจากความชื้นของเมฆและสภาพทิศทางของลมประกอบกัน เพื่อให้การทำฝนเทียมเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
กระบวนการทำฝนเทียมนั้นแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ๆ ได้แก่
1) ขั้นก่อกวน (Triggering) เป็นการดัดแปลงสภาพอากาศโดยการก่อกวนสมดุล ผ่านการโปรยสารเคมีประเภทคายความร้อน ได้แก่ แคลเซียมคลอไรด์ (Calcium Chloride, CaCl2) แคลเซียมคาร์ไบด์ (Calcium Carbide, CaC2) และแคลเซียมออกไซด์ (Calcium Oxide, CaO) เพื่อทำให้มวลอากาศในบริเวณที่โปรยสารเคมีนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้น และเกิดการลอยตัวขึ้นมาเป็นเมฆที่มีปริมาณมากกว่าที่เกิดขึ้นตามเองธรรมชาติ หรืออาจใช้สารเคมีประเภทที่ทำหน้าที่ดูดซับความชื้นอย่างโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride, NaCl) เพื่อชักนำให้ไอน้ำในอากาศมาเกาะที่ผลึกเกลือและก่อตัวเป็นเมฆ โดยจะเริ่มก่อกวนในช่วงเวลาเช้าทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย ในระดับ 7,000 ฟุต ซึ่งในอากาศต้องมีความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 60%
2) ขั้นเลี้ยงให้อ้วน (Fatten) เป็นการดัดแปลงสภาพอากาศและก้อนเมฆโดยการกระตุ้นให้ก้อนเมฆที่ก่อตัวแล้วมีขนาดใหญ่และหนาแน่นมากขึ้น ผ่านการโปรยสารเคมีประเภทดูดกลืนความร้อน เช่น ยูเรีย (Urea; Co (NH2)2) แอมโมเนียไนเทรต (Ammonium nitrate; NH4NO3) น้ำแข็งแห้ง (Dry ice; CO2(s)) ซึ่งอาจใช้แคลเซียมคลอไรด์ (Calcium Chloride, CaCl) ร่วมด้วย เพื่อให้ประสิทธิภาพในการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำสูงขึ้น และทำให้การเจริญของเม็ดน้ำในก้อนเมฆมีขนาดใหญ่เร็วขึ้นจนกลายเป็นฝนตกลงมา
3) ขั้นโจมตี (Attack) เป็นการดัดแปลงสภาพอากาศในก้อนเมฆโดยตรง เพื่อชักนำให้เมฆฝนที่ตกอยู่แล้วเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ที่ต้องการ โดยจะใช้เครื่องบินโปรยสารเคมีประเภทดูดความร้อน เช่น ยูเรีย น้ำแข็งแห้ง เข้าไปโดยตรงที่ฐานเมฆ และโปรยสารเคมีประเภทดูดซับความชื้นอย่างโซเดียมคลอไรด์ที่ยอดเมฆ ซึ่งเป็นการโจมตีแบบเมฆอุ่น เพื่อเหนี่ยวนำให้ฝนที่กำลังตกอยู่เคลื่อนเข้าสู่บริเวณที่ต้องการ
นอกจากนี้ยังสามารถโจมตีแบบเมฆเย็นเพื่อเพิ่มปริมาณฝนให้สูงขึ้นได้อีกด้วย โดยการโจมตีเมฆเย็นด้วยซิลเวอร์ไอโอไดด์ (Silver Iodide, Agl) เมื่อเม็ดน้ำเย็นจากเมฆเย็นมาเกาะที่แกนของซิลเวอร์ไอโอไดด์ จะเกิดเป็นผลึกน้ำแข็ง และมาเจอกับเมฆอุ่น ผลึกน้ำแข็งก็จะกลายเป็นเม็ดฝนในที่สุด และหากโจมตีเมฆอุ่นกับเมฆเย็นควบคู่กัน ก็จะทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง
ช่องทางการขอรับบริการฝนหลวง
- Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร