Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การสูบบุหรี่ช่วยคลายเครียดได้จริงหรือ?

Posted By Ammay | 08 พ.ค. 61
20,977 Views

  Favorite

เมื่อพูดถึง “บุหรี่” หลายคนก็คงพอจะรู้ถึงโทษและผลกระทบที่ตามมาจากการสูบบุหรี่แล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่า ยังมีคนไทยอีกไม่น้อยที่ต้องเสียชีวิตและทุกข์ทรมานจากโรคที่มาจากการสูบบุหรี่มาเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่มักจะไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้เด็ดขาด และหลาย ๆ คนก็ยังให้เหตุผลที่น่าสนใจด้วยว่า “การสูบบุหรี่สามารถช่วยทำให้หายเครียดได้” จึงจำเป็นต้องสูบเสมอ ดังนั้น วันนี้เราจะมาดูกันนะคะว่า ในบุหรี่มีสารใดบ้างที่อาจทำประโยคข้างต้นนั้นเป็นจริงและมีสารอะไรบ้างที่สามารถคร่าชีวิตผู้สูบทั่วโลกได้มากขนาดนี้ 

 

สารสำคัญที่อยู่ในบุหรี่

นิโคติน (NICOTINE)

เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์แรงที่สุดในบรรดาสารต่างๆ ที่อยู่ในบุหรี่ (หากรับประทานนิโคตินเข้มข้นเพียง 2-3 หยดเข้าไปก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เลยทีเดียว) มีลักษณะคล้ายน้ำมันที่ไม่มีสี ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทในตอนแรกที่สูบ และจะกดประสาทส่วนกลางของสมองทันทีหลังจากสูบเสร็จ จึงอาจกล่าวได้ว่า การออกฤทธิ์กดประสาทของนิโคติน จะมีผลทำให้ผู้สูบรู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น และกระปรี้กระเปร่าอยู่ชั่วขณะหนึ่งหลังจากสูบเสร็จ เนื่องจากนิโคตินสามารถเดินทางเข้าสู่สมองได้ไว และเมื่อหมดฤทธิ์ ผู้สูบก็จะต้องสูบมวนใหม่เพื่อเพิ่มระดับของนิโคตินในเลือด ดังนั้น นิโคตินจึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนติดบุหรี่ ถ้าไม่ได้สูบก็จะเกิดอาการต่าง ๆ จากการขาดนิโคติน เช่น หงุดหงิด งุ่นง่าน วิตกกังวล ฯลฯ ซึ่งลักษณะเช่นนี้เหมือนกับการติดยาเสพติดชนิดหนึ่งแต่มีความรุนแรงน้อยกว่า

 

นอกจากนี้สารนิโคตินยังไปออกฤทธิ์กระตุ้นให้หัวใจทำงานมากขึ้น เต้นเร็วขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความดันเลือดสูงขึ้นได้ ดังนั้น หากยังสูบบุหรี่ในปริมาณมากต่อไปนาน ๆ ก็อาจก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น

     - โรคหลอดเลือดแดงอุดตัน ซึ่งมีผลทำให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้ช่วงปลายของนิ้ว, แขน, ขา เน่า จนต้องถึงตัดมือหรือขาทิ้งได้

     - โรคหัวใจขาดเลือด เนื่องจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดภาวะตีบตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

 

ดังนั้น สำหรับคำถามที่ว่า “การสูบบุหรี่ช่วยคลายเครียดได้จริงหรือ?” คำตอบก็คือ จริง แต่ก็เป็นวิธีการคลายเครียดที่ใช้ได้เพียงแค่ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อนิโคตินหมดฤทธิ์ ผู้สูบก็จะกลับมาเครียดเหมือนเดิม และอาจจะต้องเครียดเพิ่มขึ้นจากโทษของนิโคตินที่ทิ้งไว้ในร่างกายของผู้สูบเอง

 

ทาร์ (TAR)

เป็นน้ำมันที่เกิดจากการเผาไหม้ในบุหรี่ ซึ่งประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด มีลักษณะเกาะติดกันเป็นสีน้ำตาล ส่วนใหญ่เป็นสารที่มีอันตราย เช่น เบนโซพัยรีน ไฮโดรคาร์บอน หรือน้ำมัน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งทั้งในมนุษย์และสัตว์

 

โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ที่สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง ปอดจะได้รับทาร์ประมาณ 300 มิลลิกรัมต่อวันหรือ 110 กรัมต่อปี ซึ่งน้ำมันทาร์ที่เข้าไป จะสะสมอยู่เต็มทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมและถุงลมในปอด ทำให้เกิดเสมหะ การไอเรื้อรัง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และมะเร็งของริมฝีปาก ลิ้น ช่องปาก กล่องเสียง หลอดลม เป็นต้น

 

คาร์บอนมอนอกไซด์ (CARBON MONOXIDE)

เป็นแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้ของบุหรี่ ซึ่งการหายใจเอาแก๊สนี้เข้าไปในร่างกายในปริมาณมาก จะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง เนื่องจากแก๊สคาร์บอนมอนออกไซด์จะทำลายคุณสมบัติการนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดงไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่หนัก ๆ จะเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย หมดแรงง่าย หายใจได้สั้น หอบ หืด หรือหายใจไม่เต็มอิ่ม

 

ถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า แม้ว่าการสูบบุหรี่จะช่วยให้ผู้สูบรู้สึกผ่อนคลายได้จริง แต่ก็เป็นเพียงแค่ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญสารเคมีต่าง ๆ ที่อยู่ในบุหรี่ ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดโทษกับร่างกายอย่างมหาศาล อีกทั้งยังส่งผลเสียกับผู้คนที่อยู่รอบข้างของผู้สูบด้วย ดังนั้น เมื่อเกิดอาการเครียดจึงควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และหาวิธีอื่นที่สร้างสรรค์และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับตนเองได้เพื่อผ่อนคลายความเครียด

 

สำหรับผู้ที่ติดบุหรี่แล้ว ควรหาวิธีที่เหมาะสมที่จะทำให้เลิกบุหรี่ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อที่ผู้สูบจะได้ฟื้นฟูสุขภาพร่างกายของตนเอง และฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วย เช่น เริ่มหาเป้าหมายในการเลิก และทำมันอย่างจริงจัง ไม่ใจอ่อนหรือว่อกแว่กจนกลับไปสูบอีก หากไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ด้วยตนเอง ก็สามารถปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อร่วมกันหาวิธีการที่เหมาะสมต่อไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Ammay
  • 6 Followers
  • Follow