Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การผลิตอาหารอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

Posted By thaiscience | 24 มิ.ย. 61
4,535 Views

  Favorite

โครงการ RESFOOD ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปได้พัฒนาคิดค้นเทคโนโลยีและกลวิธีใหม่สำหรับการนำน้ำ สารอาหาร และผลผลิตพลอยได้ (by-products) ในห่วงโซ่อุปทานซึ่งเริ่มตั้งแต่ฟาร์มจนไปถึงโรงงานผลิตและร้านค้ากลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะเป็นการช่วยผู้ผลิตอาหารลดค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

โดยปกติผู้ผลิตจะมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิด เช่น น้ำ แร่ธาตุ ดิน และพลังงาน เป็นต้น ในการเพาะปลูกและการแปรรูปอาหารเพื่อผลิตผักและผลไม้ให้แก่ผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ตามการจัดการ ห่วงโซ่อุปทานยังไม่มีประสิทธิภาพ 

 

นาย Willy Van Tongeren นักวิจัยขององค์กรวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ (The Netherlands-based organisation for applied scientific research; TNO) และยังเป็นผู้ประสานงานของโครงการ RESFOOD ได้กล่าวไวว่ากว่าร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 50 ของสารอาหารและร้อยละ 30 ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นทั้งหมดในยุโรปนั้นสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ในห่วงโซ่อุปทาน

 

ดังนั้น โครงการ RESFOOD จึงได้นำนักวิจัยและภาคอุตสาหกรรมมาหารือกันเพื่อพัฒนาและทดสอบกลวิธีที่จะสามารถช่วยอุตสาหกรรมผักผลไม้ ในการนำสารอาหารที่มีคุณค่ามาใช้ซ้ำ ลดการใช้น้ำ ได้ร้อยละ 30 ถึง ร้อยละ 70 ลดการใช้พลังงานได้ร้อยละ 20 ถึง ร้อยละ 80 และลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้ง แต่ต้องยังสามารถรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารไว้ได้ดีอย่างเดิม โดยตัวโครงการได้พัฒนาเทคนิคในการเพาะปลูกพืชผักผลไม้ โดยการนำน้ำ และสารอาหารกลับมาใช้ใหม่และใช้เครื่องล้างผักผลไม้แบบประหยัดน้ำสูงในการทำความสะอาดผักและผลไม้สดตัดแต่งพร้อมบริโภค (freshcut fruits and vegetables) นอกจากนี้ยังมีการทดสอบการใช้สารฆ่าเชื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมการสกัดสารอาหารจากอาหารที่ถูกทิ้งแล้วและการใช้อุปกรณ์ต้นแบบในการตรวจหาเชื้อโรคในอาหารโดยใช้ระยะเวลาสั้นกว่า 2 ชั่วโมง

ภาพ : Shutterstock

 

จากห้องปฏิบัติการสู่การใช้จริงในพื้นที่

โครงการ RESFOOD ได้นาเทคโนโลยีและเทคนิคที่พัฒนาขึ้นมาไปใช้จริงในสวนผักผลไม้โดยพัฒนาระบบการปลูกพืชไร้ดินในรางที่บรรจุด้วยน้ำและสารอาหาร  โดยในระบบนี้มีการใช้เทคนิคการกรองที่ทันสมัยเพื่อกำจัดเกลือที่สะสมและสารปนเปื้อนในน้ำและนำน้ำที่กรองแล้วกลับมาใช้ใหม่ สารอาหารพืช อย่างเช่น โพแทสเซียมและไนเตรทก็ถูกนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณการใช้ปุ๋ย ในขณะนี้ทางโครงการได้ทดสอบระบบการปลูกพืชไร้ดินในรางน้ำสำหรับการปลูกมะเขือเทศที่ประเทศเนเธอร์แลนด์และผลแบล็คเบอร์รีที่ประเทศสเปน ผลเบื้องต้นชี้ว่าระบบนี้ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ โดยเฉลี่ยได้ถึงร้อยละ35 ในขณะที่ปริมาณผลผลิตและคุณภาพของผลไมยั้งดีเหมือนเดิม

 

การทำความสะอาดผักผลไม้สดตัดแต่งพร้อมบริโภค

ทางโครงการ RESFOOD ได้พัฒนาเครื่องล้างผักผลไม้แบบใหม่ให้กับผู้ผลิตผักผลไม้สดตัดแต่งพร้อมบริโภค โดยตัวเครื่องจะอาศัยการกรองด้วยเยื่อ (membrane filtration) ในการทำความสะอาดน้ำทำให้สามารถประหยัดการใช้น้ำและพลังงานได้ร้อยละ 25 ถึง ร้อยละ 50 โดยปกติจะมีการลดอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ล้างผักผลไม้ให้อยู่ที่ 2 ถึง 4 องศาเซลเซียส เพื่อที่จะรักษาความสดของผลิตผลและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียซึ่งกระบวนการนี้ใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การนำน้ำเย็นมาใช้ซ้ำหลังจากกรองแล้วจะช่วยประหยัดพลังงานได้อย่างมาก 

 

ปัจจุบันบริษัทผลิตผักผลไม้ในประเทศต่าง ๆ ได้เริ่มมีการทดลองใช้เครื่องล้างผักผลไม้แบบใหม่นี้แล้ว อาทิเช่น บริษัท Vega Mayor ในประเทศสเปน บริษัท Kronen ในประเทศเยอรมนีและบริษัท Vezet ในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยถ้าผลการทดสอบประสบความสำเร็จเครื่องล้างผักผลไม้แบบใหม่นี้ก็จะถูกนำออกสู่ท้องตลาดต่อไป

 

สารตัวใหม่สำหรับการฆ่าเชื้อในผักและผลไม้

ในขณะเดียวกันโครงการ RESFOOD ได้ทดสอบการใช้กรดเพอร์ออกซีแอซีติก (peroxyacetic acid) และสารคลอรีนไดออกไซด์ (chlorine dioxide) เพื่อเป็นสารฆ่าเชื้อในผักผลไม้แทนสารละลายคลอรีนที่ได้ถูกห้ามใช้  สำหรับการล้างผักผลไม้ในบางประเทศในทวีปยุโรป เช่นประเทศเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และเบลเยียม นอกจากนี้ผู้ผลิตผักผลไม้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาจากโครงการ RESFOOD ในการสกัดแคโรทีนอยด์ (carotenoids) แอลคาลอยด์ (alkaloids) เพกติน (pectin) และโพลีฟีนอล (polyphenols) จากผลผลิตพลอยได้ที่เหลือจากการแปรรูปผักผลไม้ เช่น ผักสลัดเอ็นไดว์ แครอท และกากแอปเปิ้ล โดยผลทดสอบที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจและผลผลิตพลอยได้ชนิดอื่นๆ ก็สามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ หรือใช้ผลิตพลังงานชีวภาพได้

 

เครื่องตรวจจับเชื้อโรคในอาหาร

โครงการ RESFOOD ได้พัฒนาเครื่องมือต้นแบบในการตรวจจับหาเชื้อโรคในอาหารเพื่อที่จะช่วยผู้ประกอบการผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัย โดยปกติถ้าใช้วิธีดั้งเดิมในการทดสอบหาเชื้อโรค อาจจะใช้เวลาถึง 1 วันกว่าจะได้ผลและอาจจะต้องส่งตัวอย่างอาหารออกไปทดสอบในห้องปฏิบัติการนอกตัวโรงงานแต่เครื่องมือของโครงการ RESFOOD สามารถนำไปใช้ตรวจจับหาเชื้อโรคในสายการผลิตได้เลยและช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้แก่เกษตรกรและผู้ผลิตได้อย่างมาก แต่เครื่องมือนี้ยังต้องถูกพัฒนาต่อไปก่อนที่จะใช้ได้จริงในท้องตลาด เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยเปิดโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กโดยผ่านการสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อความปลอดภัยของอาหารและการผลิตอาหารแบบยั่งยืน

 

ที่มา: https://ec.europa.eu/programmes/horizon2020/en/news/boost-efficient-safe-food-production

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • thaiscience
  • 2 Followers
  • Follow